นักท่องเที่ยวต้องสวมรองเท้าบูท จับกลุ่มเดินเท้าตามเส้นทางที่กำหนด ไม่มีการแสดงช้าง ไม่บังคับช้างอาบน้ำ ไม่ขี่ช้าง ไม่ให้อาหาร อยู่ห่างในระยะ 15-20 เมตร เชื่อฟังผู้ดูแล เป็นกติการ่วมกัน
ก่อนออกเดินทางทุกคนทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ เรียนรู้พฤติกรรมช้าง ให้โอกาสพวกมันได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติมากที่สุด ระหว่างทางจะพบช้างที่บอกไม่ได้ว่า พวกมันจะทำอะไร ไปที่ไหน
ช้างทั้ง 6 เชือก ที่อยู่ในปางแห่งนี้ผ่านประสบการณ์มาอย่างหลากหลาย
“ชบาแก้ว” อายุ 41 ปี มาจาก จ.สุรินทร์ เคยทำงานลากไม้มาก่อน สภาพร่างกายเริ่มทรุดโทรม มันอาจจะตายก่อนวัยอันควร หากยังทำงานลากไม้ต่อไป เจ้าของปางช้างที่นี่จึงตัดสินใจซื้อไว้
“ถ้าลากไม้ต่อ เขาต้องตายแน่ ประกอบกับเจ้าของเดิม อายุมากแล้ว จึงตัดสินใจขาย และก่อนหน้านี้ชบาแก้วเคยเดินเร่ขายกล้วยแถวสุรินทร์ ไปแห่ตามงานวัด พอเพื่อนแนะนำมาผมจึงตัดสินใจซื้อ มาช่วงแรกนิสัยค่อนข้างดุ ชอบรังแกตัวอื่น แต่เดี๋ยวนี้กินอย่างเดียว เพราะเขารู้ว่าพวกเรามาทำอะไร และไม่เป็นอันตรายกับมัน” นายชเร สังข์ขาว เจ้าของปางช้าง ฟอลโลวอิ้ง ไจแอนท์ จ.กระบี่ กล่าว
นายชเรเล่าต่อว่า ส่วนใหญ่ช้างลากไม้ จะบาดเจ็บที่ไหล่ สะโพกและขา เพราะใช้แรงดึง ลากจูง ต้องใช้บ่าหน้าทั้ง 2 ข้าง ส่วนใหญ่เนื้อบริเวณนั้นจะด้าน นอกจากนี้ยังมีเล็บที่เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ช้างเดินลำบาก เพราะต้องรับน้ำหนักที่เล็บ ขณะเดินหากบาดเจ็บต้องเขย่งเดิน ถ้าทิ้งน้ำหนักไม่สมดุล กล้ามเนื้อบริเวณนั้นก็จะไม่ได้ใช้งานและอ่อนแรงในที่สุด
ไม่ต่างจาก “ทองเอก” อายุ 46 ปี แรงงานช้างในอุตสาหกรรมป่าไม้ ตอนนี้กำลังตกงาน เพื่อรอฤดูกาลใหม่ มันลากไม้จนมีปัญหาตุ่มหนองอักเสบเรื้อรัง จากการเสียดสี อยู่ระหว่างการรักษาตัว
เดิมที “ทองเอก” มาจากสุโขทัย เมื่อก่อนทำงานลากไม้บนดอย เป็นช้างดุ มาอยู่นี่เปลี่ยนเป็นคนละคน เมื่อก่อนต้องเว้นระยะ 40-50 เมตร เขามีฝ่าเท้าบางมาก ใช้ขาดันตัวเองขึ้นเขา ทำให้อันตรายต่อช้าง
เป้าหมายแรกช้างลากไม้ แต่ละปีช้างตาย 4-5 ตัว เพราะทำงานหนัก ขาดน้ำ อาหารโดยเฉพาะเดือนมีนายน-เมษายน ส่วนมากจะช็อค อีกกลุ่มคือ ช้างขี่ ส่วนมากสังเกตที่หลังช้าง เพราะถูกใส่เก้าอี้ ทำให้หลังช้างบาง เรียบ หนังมัน จะเจ็บหลัง กระดูก เพราะกล้ามเนื้อถูกกดทับ เราจึงเลือกช้างจาก 2 กลุ่มนี้มาอยู่ที่ปางก่อน
ช้างลากไม้ ต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ขณะที่ช้างขี่ที่ต้องทำงานไม่ต่างกับรถแท็กซี่ ที่ต้องคอยรับผู้โดยสาร ระหว่างทำงานพวกมันไม่ได้กินอาหาร ซึ่งผิดจากธรรมชาติ เพราะปกติช้างแทบจะกินตลอดเวลา หรือตกชั่วโมงละ 30-40 กิโลกรัม
ช้างที่นี่มีควาญคอยดูแล 1 คน ต่อช้าง 1 เชือก ไม่ใช้การบังคับ แต่ให้ช้างที่อยู่มาก่อนสื่อสารกันเองว่า ที่นี่อยู่กันแบบไหน อย่างไร ส่วนอาหารด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ กว่า 140 ไร่ หรือเฉลี่ย 1 ตัว มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 5 ไร่ ยิ่งทำให้มันมีอิสระในการหากิน ขณะเดียวกันจะหาซื้ออาหารช้างจากชาวบ้าน เช่น สัปปะรด กล้วย อ้อย หญ้าเนเปีย ต้นเต่าร้าง หวาย วางไว้ตามจุดต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านใกล้เคียงมีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
นายชเร ชวนย้อนไปถึงจุดเปลี่ยนจากปางช้างขี่ มาเป็นปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง ว่า ก่อนหน้านี้เคยทำปางช้าง ให้นักท่องเที่ยวได้ขี่ และอาบน้ำช้าง มานานกว่า 15 ปี ที่ผ่านมาเคยอยากทำปางช้างที่เป็นมิตร เพื่อดูแลช้าง แต่ไม่มีตลาด และเข้าไม่ถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ และยังมีเหตุการณ์ที่ติดอยู่ในใจ
เมื่อก่อนมีช้าง คุณยาย อายุ 61 ปี ชื่อ “นกครูด” นิสัยดี ใช้ให้ทำอะไรก็ได้ วันนั้นไม่ค่อยสบาย แต่ก็ยังเดินทั้งวัน 8 ชั่วโมง จนเดินรอบสุดท้ายตอน 6 โมงเย็น มาส่งนักท่องเที่ยว มันค่อยๆ ย่อตัวลง ไม่มีใครรู้ แต่สังเกตว่า มันย่อตัวนานผิดปกติ นักท่องเที่ยวยังนั่งอยู่บนเก้าอี้ มารู้อีกทีมันตายแล้ว
ผมคิดว่า มันกลัวคนที่อยู่บนหลังจะเป็นอันตราย จึงย่อตัวลง ทั้งที่ปกติแล้วถ้าช้างตาย มักจะล้มตัวลงนอน จึงเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้อยากทำปางช้างใหม่ และปกติคลุกคลี่ช้างตลอดตั้งแต่เด็ก” นายชเร เล่า
นายชเร ยอมรับว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวในปางช้างของเขา ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป อเมริกา ซึ่งนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม และเป็นกลุ่มเล็กมากเพียง 1 % ก็ว่าได้ แต่กลุ่มนี้เป็นกลไกสำคัญ เพราะหลังจากที่ได้เรียนรู้ จะมีการเผยแพร่ต่อ และเชื่อว่าเทรนด์การท่องเที่ยวปางช้างจะเปลี่ยนไป จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ และปรับเป็นปางช้างที่เป็นมิตรกับช้างมากขึ้น ส่วนรายได้ถือว่ายังคุ้มทุน
“อย่างนักท่องเที่ยวในกระบี่มี 3,000 คนต่อวัน มีเพียง 30-5- คน มาเรียนรู้กับเรา ปางช้างก็อยู่ได้ ผมเชื่อว่าอนาคต ปางช้างทุกแห่งจะปรับรูปแบบมาเป็นแบบนี้กันหมด ซึ่งผมไม่มีปัญหา เพราะแต่ละแห่งต้องกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว หากมีเข้ามาก ๆ ก็สามารถแชร์กันได้” นายชเร กล่าว
ขณะที่ หทัย ลิ้มประยูรยงค์ ตัวแทนองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนและผลักดันให้ปางช้างในอุตาสาหกรรมท่องเที่ยว ปรับเปลี่ยนรูปแบบ เพื่อเป็นมิตรกับช้างมากขึ้น ให้ข้อมูลว่า
จากการสำรวจ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่นำช้างมาใช้ประโยชน์ หรือปางช้างในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2553-2563 พบว่า มีช้างเพิ่มขึ้นราว 1,100 ตัว ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี จาก 1,688 ตัว ในปี พ.ศ.2553 เป็น 2,798 ตัว ในปี พ.ศ.2563 โดยมากกว่า 50 % มีสภาพความเป็นอยู่ในเกณฑ์ย่ำแย่ ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม ถูกล่าม ได้รับอาหารไม่หลากหลาย
ขณะที่ปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง หรือดูแลสวัสดิการของช้างได้ดี มีเพียง 10 แห่ง จึงจำเป็นต้องร่วมกันผลักดันให้มีโมเดลนี้มากขึ้น เพื่อยกระดับสวัสดิภาพช้าง
สิ่งสำคัญ ที่ทำให้ปางช้างปรับตัวได้มากที่สุด คือทัศนคติของนักท่องเที่ยว และองค์ความรู้ ซึ่งที่ผ่านมา เน้นความสนุกของคนมากกว่าสวัสดิภาพของช้าง
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการใช้ประโยชน์จากช้าง เริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เช่น การลดการใช้ช้างลากไม้ ขณะเดียวกันกิจกรรมขี่ช้างก็เริ่มได้รับความสนใจลดลง หลังรับรู้ว่า ทำให้สรีระหรือกระดูกสันหลังของพวกมันผิดรูป
แต่ยังมีกิจกรรมอาบน้ำช้างที่ หลายคนเข้าใจว่า ช้างชอบอาบน้ำ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะอยากอาบน้ำตลอดเวลา จึงส่งผลต่อสวัดิภาพของช้างด้วยเช่นกัน
รายงาน : ภัสรา จิกคำ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้
อ่านข่าว : ย้ายพื้นที่ ? ทางแก้ "คนกรุงเก่า" จำยอมรับน้ำแทน "คนกรุง"
ในหลวง พระราชทานกำลังใจ ครม.ใหม่ "ภูมิธรรม" เผยเป็นสิริมงคล
ซูเปอร์ไต้ฝุ่น "ยางิ" ขึ้นเกาะไห่หนาน คาดรุนแรงสุดรอบ 10 ปีของจีน