ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

10 ปี คดีน้องการ์ตูน ใช้ช่องว่างกฎหมาย "ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย"

อาชญากรรม
5 ก.ย. 67
11:27
1,973
Logo Thai PBS
10 ปี คดีน้องการ์ตูน  ใช้ช่องว่างกฎหมาย "ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

19 ก.ย. 2567 นี้ คดีน้องการ์ตูนจะหมดอายุความ จากเหตุการณ์ "น้องการ์ตูน" ถูก “น้ำผึ้ง ใจเสงี่ยม” ขับรถกระบะ เสียหลักพุ่งเข้าชน ร้านสเต็กลุงใหญ่ เป็นเหตุให้ “ภาณุทัต” เจ้าของร้าน เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วน "น้องการ์ตูน" ลูกสาววัย 5 ขวบ ในขณะนั้น ได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2557 ต่อมาศาลอาญาธนบุรี พิพากษา สั่งจำคุก ผู้ต้องหา 2 ปี 6 เดือน และลดโทษเหลือ จำคุก 1 ปี พร้อมสั่งให้ชดใช้สินไหมทดแทนรวม 6,336,000 บาท แต่จนถึงขณะนี้ ครอบครัวผู้เสียหาย ยังไม่ได้รับค่าชดเชยตามคำสั่งศาล แม้แต่บาทเดียว

“สู้ก็แพ้ ไม่สู้ก็แพ้” เป็นคำพูดที่ถ่ายทอดความรู้สึก ของ “ศรัญญา ชำนิ” หรือ แม่น้องการ์ตูน ซึ่งมองว่า ที่ผ่านมา ครอบครัวของเธอ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากอุบัติเหตุรถกระบะพุ่งชนร้านสเต็กของครอบครัวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทำให้สูญเสียสามี ซึ่งเป็นเสาหลักของบ้าน และส่งผลให้น้องการ์ตูน ลูกสาววัย 5 ขวบ ต้องกลายผู้พิการป่วยติดเตียง

ตลอดระยะเวลาของการต่อสู้คดีในชั้นศาล ถึงแม้จะชนะคดี โดยศาลมีคำพิพากษาจำคุกผู้ก่อเหตุ 1 ปี ไม่รอลงอาญา และสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายกับครอบครัวน้องการ์ตูนเป็นเงินกว่า 6 ล้านบาท แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือเยียวยา จากคู่กรณีเลยแม่แต่บาทเดียว รวมทั้ง ความสำนึกผิดจากเรื่องที่เกิดขึ้น

เขาคงคิดว่า ติดคุกไปแล้ว และมีคนช่วยเหลือเยอะแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเยียวยา ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่คนอื่นต้องมาชดใช้แทน แต่ตัวเขาเองควรมีจิตสำนึกรับผิดชอบบ้าง

ศรัญญา บอกว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ครอบครัวต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยายาบาล และค่าเลี้ยงดูน้องการ์ตูน ในทุก ๆ เดือนเป็นเงินจำนวนหลักหมื่น บางเดือนสูงถึงหลักแสนบาท ในขณะที่ความเป็นอยู่ของครอบครัวที่ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างถาวร ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานไหน เข้ามาให้ความช่วยเหลือ เพื่อติดตามเงินค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น คงมีเพียงทนายอาสาเข้ามาถามไถ่ และทุกครั้งเรื่องก็เงียบหายไป ครอบครัวต้องตามสืบทรัพย์เอาเอง เพื่อเข้าสู่ขบวนการยึดทรัพย์ขายทอดตลาดนำเงินที่ได้มาเยียวยา

“เราพบว่าคู่กรณีได้ใช้ช่องว่างข้อกฎหมาย ให้ผู้อื่นถือครองทรัพย์สินแทน ทั้งที่ยังสามารถทำมาค้าขาย และสร้างครอบครัวใช้ชีวิตอย่างมีความสุข จนคดีจะกำลังหมดอายุความและหมดระยะเวลาการสืบทรัพย์ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ จึงกลายเป็นเรื่องที่ยิ่งตอกน้ำความรู้สึกเหมือนดิ่งลงเหว …กฎหมายเหมือนซ้ำเติมผู้ถูกกระทำ มีช่องโหว่เอื้อต่อคนกระทำผิด มากกว่าคนที่ตกเป็นเหยื่อ ส่วนตัวมองว่า ควรมีการเพิ่มโทษต่อผู้กระทำความผิด ให้ติดคุกชดใช้หากไม่จ่ายเงินเยียวยา อาจจะทำให้คู่กรณีรู้สึกกลัวขึ้นมาบ้าง"

สิ่งสุดท้ายที่ทำได้ต่อจากนี้ คือฟ้องล้มละลายคู่กรณี ซึ่งศรัญญา ทราบอยู่แล้วว่า หากศาลมีคำสั่งให้คู่กรณีเป็นบุคคลล้มละลาย ก็มีผลแค่ 3 ปี จากนั้นเขาก็สามารกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนผู้ถูกกระทำก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง แม้ยังหวังลึกๆ ว่า การต่อสู้ครั้งสุดท้ายจะได้รับอะไรกลับมาบ้าง และเป็นสิ่งที่จะสามารถทำได้แล้วในขณะนี้

แม้จะได้รับคำแนะนำจาก โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช) สำนักงานอัยการสูงสุด ว่า ขอให้แม่น้องการ์ตูน รักษาสิทธิในการต่อสู้ และให้ฟ้องต่อ ศาลล้มละลายกลาง เพื่อขยายเวลาในการชดใช้สินไหม หากไม่มีผู้ให้คำแนะนำทางกฎหมาย ให้เข้าไปที่สำนักงานคุ้มครองสิทธิฯ ซึ่งจะมีพนักงานอัยการ ให้คำแนะนำ ซึ่งอัยการพร้อมจะช่วยเป็นพี่เลี้ยง และดำเนินการให้โดยมีทนายอาสา และอัยการที่จะช่วยเหลือ ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

สำหรับอนาคตในวันข้างหน้า “ศรัญญา” บอกว่า ยังคงเปิดร้านสเต็ก เพื่อหาเลี้ยงชีพสู้ชีวิตกับชะตากรรมต่อไป โดยมีน้องการ์ตูนและครอบครัวคอยเป็นกำลังใจให้

“ถึงแม้น้องการ์ตูนจะรอดมาได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็พอได้กอดได้หอมได้พูดคุย ถึงเขาตอบโต้ไม่ได้ ถือว่าเป็นกำลังใจที่ดีที่สุดแล้ว... ส่วนคู่กรณี ไม่ได้ให้อโหสิกรรม และได้แต่ทำใจในสิ่งที่ไม่ควรได้รับเท่านั้น”

รายงานโดย : คัมคุณ ยมนาค ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : "ซาบีดา" ขอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ หลังถูกปรามาสนั่ง รมว.แทนพ่อ

"จุลพันธ์" ยัน "ดิจิทัลวอลเล็ต​" ยึดไทม์ไลน์เดิม

"ศิริกัญญา" ยันโหวตไม่เห็นด้วยวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.งบปี 68

ข่าวที่เกี่ยวข้อง