ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กลัวเกิดชาติหน้า "พิการ" สาเหตุคนไทยไม่ยอมบริจาคอวัยวะ

สังคม
4 ก.ย. 67
19:36
508
Logo Thai PBS
กลัวเกิดชาติหน้า "พิการ" สาเหตุคนไทยไม่ยอมบริจาคอวัยวะ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย เผยผลสำรวจความคิดเห็น คนไทย 80% เห็นด้วยกับการบริจาคอวัยวะ แต่มีเพียง 20% ที่ร่วมบริจาค เหตุเชื่อว่า ในชาติหน้าอวัยวะจะไม่ครบสมบูรณ์ ชี้ 1 ผู้ให้ ช่วยได้ 8 ชีวิต สามารถบริจาคได้ 8 อวัยวะ

ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย องค์กรสมาชิกทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดงาน World Organ Donation Day 2024 ภายใต้แคมเปญ "Give LIFE Get LIVES: สร้างกุศลผู้ให้ สร้างชีวิตใหม่ผู้รับ" 

นพ.ศักดา อัลภาชน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ พร้อมพัฒนาทีมจัดเก็บอวัยวะและศูนย์ผ่าตัดปลูกถ่ายไตในทุกเขตสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการปลูกถ่ายอวัยวะที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว และสภากาชาดไทยสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญของการบริจาคอวัยวะที่สามารถนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้อีกถึง 8 ชีวิต 

ด้าน นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะสะสม จำนวน 1,646,469 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของประชากรทั่วประเทศ และในปี 2567 จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม มีผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะแล้วทั้งสิ้นเพียง 485 ราย

เนื่องจากผู้ที่สามารถบริจาคได้ต้องอยู่ในภาวะสมองตาย และญาติต้องยินยอมเท่านั้น หรือเป็นโรคติดเชื้อรุนแรง มะเร็ง หรืออวัยวะเสื่อม ไม่สามารถบริจาคได้

จึงมีผู้รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะจำนวนมาก โดยมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง มีจำนวนมากถึงหลักแสนคนขึ้นไป และทุกวันนี้ต้องล้างไตผ่านช่องท้องหรือไม่ก็ฟอกเลือด แต่วิธีดีที่สุดคือการปลูกถ่ายไต ซึ่งก็ต้องรอรับอวัยวะบริจาค ขณะที่ดวงตาก็เช่นกันมีผู้มองไม่เห็นหลักหมื่นคน แต่ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาจริง ๆ ได้เพียงปีละไม่ถึง 1,000 คน ซึ่งอวัยวะทุกส่วนยังมีคนไข้อีกจำนวนมากที่เฝ้ารออย่างมีความหวัง

1 ผู้ให้ ช่วยได้ 8 ชีวิต สามารถบริจาคได้ 8 อวัยวะ ได้แก่ ไต 2 ข้าง ปอด 2 ข้าง หัวใจ ตับ ตับอ่อน และลำไส้เล็ก

นอกจากนี้ยังมีเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายได้ ได้แก่ กระจกตา ลิ้นหัวใจ หลอดเลือด ผิวหนัง กระดูกและเส้นเอ็น และในการส่งทีมแพทย์และพยาบาลไปยังโรงพยาบาลที่มีผู้บริจาคสมองตายต่าง ๆ เพื่อนำผ่าตัดเอาอวัยวะออก และเก็บรักษาไว้ด้วยน้ำยาถนอมอวัยวะในกระติกน้ำแข็งและเอากลับมาผ่าตัดให้ทันที เพราะอวัยวะที่ผ่าตัดมานั้นมีเวลาขาดเลือดจำกัด โดยหัวใจ อยู่ได้แค่ 4 ชั่วโมง ตับ 12 ชั่วโมง ไต 24 ชั่วโมง ทีมแพทย์ต้องทำงานแข่งกับเวลา

นพ.วิศิษฏ์ กล่าวเสริมว่า ต้องสร้างความเข้าใจให้กับสังคมว่า การบริจาคอวัยวะและดวงตา เป็นบุญในการช่วยชีวิต อย่ากลัวว่าบริจาคไปแล้วเมื่อเราไปเกิดในชาติหน้าจะทำให้พิการ ซึ่งเราไม่มีทางรู้ แต่ที่แน่ ๆ เราทำดีก็ต้องได้สิ่งดี ๆ แต่ก็เข้าใจว่าเรื่องนี้ต้องช่วยกันหลาย ๆ ฝ่าย

จากการสำรวจความคิดเห็นที่ผ่านมาพบว่า 80% เห็นด้วยกับการบริจาคอวัยวะ แต่มีเพียง 20% ที่จะยอมบริจาคอวัยวะ 

ช่องทางร่วมบริจาคอวัยวะ

บริจาคออนไลน์www.organdonate.in.th หรือ https://eyeorgandonate.redcross.or.th/ และ แอปพลิเคชัน "บริจาคดวงตา-อวัยวะ"

บริจาคด้วยตนเอง : ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ

บริจาคผ่านเครือข่ายฯ อาทิ

  • สำนักเหล่ากาชาดจังหวัด หรือ สำนักงานกิ่งกาชาด ทุกจังหวัด
  • โรงพยาบาลประจำจังหวัดในสังกัด กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
  • สำนักงานเขต เทศบาล และเมืองพัทยา ที่ให้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชน
  • ผ่าน แอปพลิเคชัน และ Line OA "หมอพร้อม"
  • กรมการขนส่งทางบก สำหรับผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะแล้วสามารถแจ้งความประสงค์ขอเพิ่มสัญลักษณ์ ของสภากาชาดไทย "กากบาทแดงบนพื้นสีขาว" และเพิ่มข้อความ "บริจาคอวัยวะ" ให้แสดงบนหน้าใบอนุญาตขับรถ

อ่านข่าวอื่น :

จับกระแสการเมือง:วันที่ 4 ก.ย.67 แม่สาวแก้มเรื่อ โผบิ๊ก ทร.ยังไม่ลงตัว "เรืองไกร" ร้องต่อ (ไม่รอ ) รัฐบาลแพทองธาร

"ภูมิธรรม"​ ไร้กังวลคุมกลาโหม​ จำไม่ได้​ภาพสหายใหญ่​ 50 ปีก่อน

รมว.แรงงาน ยืนยัน ปรับค่าจ้างขั้นต่ำบางอาชีพ 400 บาท 1 ต.ค.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง