วันนี้ (3 ก.ย.2567) เจ้าหน้าที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.พร้อมด้วย ตำรวจสอบสวนกลาง ควบคุมตัว นายนพดล นายช่างกลอาวุโส กรมทางหลวง หรือหัวหน้าด่านชั่งน้ำหนัก หลังเข้าตรวจสอบสถานีตรวจสอบน้ำหนัก วังน้อย บริเวณฝั่งขาออก ภายหลังได้รับการร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่ ว่านายนพดล หัวหน้าชุด กับพวก มีการทุจริตเรียกรับสินบนกับรถบรรทุกที่น้ำหนักเกิน
หลังศาลออกหมายจับ ตำรวจภูธรภาค 5 เข้าควบคุมตัวนายนพดล ภายในบ้านพัก ขณะเดินเล่นในสวน พบในตัวมีเงินสด จำนวน 40,000 บาท
ส่วนการตรวจค้น นายนพดลได้นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นในห้องทำงาน สถานีตรวจสอบน้ำหนักวังน้อย และห้องพักชั่วคราว ได้ยึดหลักฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ปืน 2 กระบอก สมุดจดรายการต่างๆ และเครื่องชั่งน้ำหนักที่มีการบันทึกข้อมูล กลับไปตรวจสอบ ซึ่งนายนพดลกล่าวสั้นๆ ปฏิเสธเกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์
ทั้งนี้ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับตำรวจท้องที่ สืบสวนสอบสวน มาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 กระทั่งมีพยานหลักฐานยืนยันพฤติกรรม จนศาลออกหมายจับให้ รวม 3 คน ในจำนวนนี้ มีพลเรือน 1 คน เป็นคดีให้การสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ด้าน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า จากการสอบสวนเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การที่เป็นประโยชน์ ส่วนจะเกี่ยวข้องหรือไม่ ตำรวจอยู่ระหว่างรวบหลักฐาน แต่จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบความเชื่อมโยงกับบัญชีม้า และผู้ประกอบการรถบรรทุก มีการโอนเงินจากผู้ประการรถบรรทุกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าบัญชีม้า และเชื่อมโยงไปถึงนายนพดล เดือนละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ตรวจสอบย้อนหลัง 4 ปี พบมีเงินหมุนเวียนสำหรับเครือข่ายนี้ ประมาณ 200 ล้านบาท
ส่วนพฤติการณ์ของนายนพดล เมื่อตรวจพบรถบรรทุกน้ำหนักเกินจะทำทีพูดคุยเรียกรับเงินหน้าด่าน ครั้งละ 100,000 บาท จากนั้นจะตกลงจ่ายเป็นรายเดือนต่อ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบน้ำหนัก ส่วนที่ด่านตรวจชั่งน้ำหนักวังน้อย มีการนำแบริเออร์ปิดเส้นทางเข้าด่านและอ้างว่าอยู่ระหว่างซ่อมแซมถนน ทำให้รถบรรทุกที่วิ่งสัญจรผ่านเส้นนี้ไม่ต้องเข้าด่าน จึงทำเป็นข้อสังเกตว่าในการปฏิบัติงานมีความผิดปกติหรือไม่
หลังจากเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ และได้เปิดแบริเออร์บนถนนออก และสุ่มเรียกตรวจรถบรรทุกที่ขับผ่านมากกว่า 2 คัน แต่ยังไม่พบรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน
สำหรับคดีนี้ ในช่วงกลางปี 2566 กลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุก ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็ก ที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง รวมตัวกันร้องทุกข์กับตำรวจสอบสวนกลาง หลังถูกเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงิน เพื่อแลกกับการไม่จับกุมดำเนินคดี แบบรายเดือน ซึ่งมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนบาทต่อเดือน
นายภูมิวิศาล เกษมสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เปิดเผยว่า มีข้อมูลจากผู้ประกอบรถบรรทุก และบริษัทขนส่ง ทั้งชาวไทยและต่างชาติ สะท้อนปัญหาว่ามีการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อแลกกับการบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งมองว่าสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ยินยอมจ่ายเสียเปรียบในด้านความเสมอภาคในการแข่งขันทางธุรกิจ
ป.ป.ท.จึงรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียด บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปราบปรามขบวนการการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น
นายจักรกฤช ตันเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ที่จับได้ในวันนี้ไม่ใช่แค่กลุ่มที่พบการกระทำความผิด ยังมีอีก 6 ชุด ที่ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน ว่าแต่ละชุดมีพฤติกรรมเช่นเดียวกันหรือไม่ และจะขยายผลไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีตำแหน่งสูงกว่า หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทบทวน ด้านวินัย
นอกจากนี้ที่ผ่านมายังได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อีกว่า จากการเฝ้าติดตามด่านตรวจวัดน้ำหนักของกรมทางหลวง มีความหละหลวมของเจ้าหน้าที่ เป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบ จึงเตรียมหารือ กระทรวงคมนาคม และกรมทางหลวงแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ด้วย
ด้าน ดร.กฤชนนท์ อัยยปัญญา โฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าที่ผ่านมาได้สั่งปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับบรรทุกน้ำหนักเกิน ในรอบปีที่ผ่านมาไปแล้วกว่า 2,000 ครั้ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากระบบของกรมทางหลวง แต่เกิดจากเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย ปรับเปลี่ยนวิธีที่จะเรียกรับผลประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยอำนาจจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยปราบปราม หลังจากนี้จะมีการพิจารณาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่ตรวจวัดโดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลเข้ามาใช้งาน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ในอนาคต
โดยภายในงานแถลงข่าว ได้สอบถามกับรองอธิบดีกรมทางหลวงซึ่งมาร่วมแถลงข่าว ถึงประเด็นข้อสงสัยที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบด่านชั่งน้ำหนักที่อำเภอวังน้อย ได้ปิดระบบการตรวจวัดชั่งน้ำหนักและนำแบริเออร์มากั้นพื้นที่เอาไว้ด้วยสาเหตุใด ซึ่งให้เหตุผลว่าบริเวณตรวจวัดชั่งน้ำหนักมีการเทพื้นคอนกรีต จึงไม่สามารถเปิดด่านตรวจตาชั่งน้ำหนักได้ ส่วนกรณีการใช้อุปกรณ์ตรวจวัดน้ำหนักแบบพกพา ขณะนี้ได้สั่งยุติการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวชั่วคราว เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นก่อน
อ่านข่าว :
จับ 2 เมียนมา ลอบขายน้ำตาลเมา ย่านบางบอน
ให้ออกจากราชการไว้ก่อน 8 ลูกน้อง "บิ๊กโจ๊ก" สอบวินัยคดีเว็บพนัน
จับเครือข่ายยาเสพติด ยึดเฮโรอีน 90 กก.ขนจากภาคเหนือ พักนนทบุรี