ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เสียชีวิตเพิ่ม 1 รวม 8 คน คลัสเตอร์ "เหล้าเถื่อน" ป่วย 44 คน

สังคม
3 ก.ย. 67
09:41
1,802
Logo Thai PBS
เสียชีวิตเพิ่ม 1 รวม 8 คน คลัสเตอร์ "เหล้าเถื่อน" ป่วย 44 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คลัสเตอร์ "เหล้าเถื่อน" เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวม 8 คน ป่วยสะสม 44 คน กลับบ้านแล้ว 30 คน ยังรักษาตัวใน รพ. 6 คน

วันนี้ (3 ก.ย.2567) กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยหลายรายเข้าโรงพยาบาลพร้อมกัน เนื่องจากดื่มสุราเถื่อน โดยศูนย์ปฏิบัติการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี พบผู้ป่วยเริ่มเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลต่าง ๆ ในกทม.ตั้งแต่ 22 ส.ค.นี้ รวมผู้ป่วย 44 ราย มีผู้เสียชีวิต 8 คน รักษาตัวและกลับบ้านได้ 30 คน ยังรักษาตัวที่โรงพยาบาล 6 คน

ทั้งนี้ นับแต่เกิดเหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากจากการบริโภคสุราที่มีสารพิษเมทานอลเจือปน กรมการแพทย์ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินส่วนหน้าที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ร่วมกับกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 กรมสรรพสามิต และกรุงเทพมหานคร ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามได้ภายใน 1 สัปดาห์ ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายเร่งแก้ปัญหาและรักษาผู้ป่วย ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต

ขณะนี้ศูนย์ปฏิบัติการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี รายงานพิกัดซุ้มยาดองอันตราย (จากการสอบสวนขยายผล) จำนวน 18 จุด ดังนี้ พื้นที่เขตมีนบุรี ได้แก่ ซอยสามวา 1 ซอยเสรีไทย 95 ตลาดบางชัน หน้าเคหะรามคำแหง ซุ้มตรงข้าม รร.สุดใจวิทยา พื้นที่เขตหนองจอก ได้แก่ ซอยสุวินทวงศ์ 64

พื้นที่เขตลาดกระบัง ได้แก่ ตลาดบึงใหญ่-บึงบัว ถนนคุ้มเกล้า พื้นที่เขตประเวศ ได้แก่ ซอยอ่อนนุช 70 พื้นที่เขตคันนายาว ได้แก่ ซอยเสรีไทย 38

พื้นที่เขตคลองสามวา ได้แก่ ถนนเจริญพัฒนา (ตลาดกีบหมู) ซอยสุเหร่าคลองหนึ่ง 7 ซอยสุเหร่าคลองหนึ่ง 7 แยก 1 ซอยสุเหร่าคลองหนึ่ง 9 ซอยประชาร่วมใจ 19 ซอยประชาร่วมใจ 43/1 ซอยนิมิตใหม่ 9 ซอยสามวา 11/1 และซอยหทัยราษฎร์ 33

เตือนดื่มเมทานอลแอลกอฮอล์ อาจสูญเสียดวงตา-ชีวิต

นพ.อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า เมทานอลเป็นแอลกอฮอล์ที่ไม่มีสีและไม่มีกลิ่นที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น ในการผลิตเชื้อเพลิง สี และสารเคมี

อย่างไรก็ตาม เมทานอลไม่ใช่แอลกอฮอล์ที่สามารถบริโภคได้ และการกินเมทานอลซึ่งมักพบในสุราปลอม เหล้าเถื่อน จะนำไปสู่ความเป็นพิษที่เป็นอันตรายสูญเสียดวงตา หรือชีวิต เมื่อเมทานอลเข้าสู่ร่างกาย จะถูกเมแทบอลิซึมในตับผ่านเอนไซม์ alcohol dehydrogenase เปลี่ยนเป็นฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งมีความเป็นพิษสูง และจากนั้นฟอร์มัลดีไฮด์จะถูกเปลี่ยนเป็นฟอร์มิกแอซิด (Formic acid) ฟอร์มิกแอซิดเป็นสารที่มีผลทำลายเซลล์ในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาทและระบบการหายใจ

พญ.วรินทร์ สมิทธิเมธินทร์ จักษุแพทย์ด้านจอตาและวุ้นตา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาการจากการกินเมทานอลแอลกอฮอล์แล้วเกิดพิษ อาจใช้เวลา 1 ชั่วโมง ถึง 3 วัน อาการจะปรากฏ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยคือ อาการปวดหัว เวียนศีรษะ สับสน และชัก ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน สูญเสียการมองเห็น

ในกรณีที่รุนแรงอาจถึงขั้นตาบอดถาวร หายใจลำบาก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ภาวะเลือดเป็นกรด (Metabolic acidosis) เป็นภาวะที่มีความเป็นกรดในเลือดสูงจากการสะสมของฟอร์มิกแอซิด อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จะต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว โดยแพทย์จะพิจารณาจากประวัติการบริโภคสาร ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจระดับเมทานอลและสารเมแทบอลิซึมในเลือด

นอกจากนี้ การตรวจความเป็นกรด-ด่างในเลือด และการตรวจระดับเกลือแร่ในเลือดก็เป็นสิ่งสำคัญในการประเมินภาวะของผู้ป่วย การรักษาพิษจากเมทานอลเป็นกระบวนการที่ต้องทำโดยทันทีเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบประสาทและระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น การให้ยาลดความเป็นพิษของเมทานอล การฟอกไต การให้กรดโฟลิค

อ่านข่าว : คุมตัวเจ้าของ รง.ผลิตเหล้าเถื่อน ฝากขังศาลอาญามีนบุรี 

1 สัปดาห์คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนพุ่ง 43 คนตาย 6 

เปิดผลตรวจค่า "เมทานอล" เหล้าเถื่อนจาก 6 เขต พบเกินมาตรฐาน 5 จุด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง