กรณีเขื่อนป้องกันน้ำบริเวณประตูระบายน้ำปากคลองบางกรวย ยาวมาถึงใกล้วัดลุ่มคงคารามพังลงแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นระยะทางกว่า 75 เมตร เมื่อช่วงค่ำวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่กรมชลประทานเข้ามาตรวจสอบ พร้อมรับปากกับชาวบ้านว่าจะเร่งดำเนินการสร้างขึ้นใหม่ให้เร็วที่สุด
วันนี้ (30 ส.ค.2567) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ผ่านมาเกือบ 4 เดือน สภาพเขื่อนที่จมน้ำ ก็ยังเหมือนเดิม ไม่ได้มีการแก้ไข ชาวบ้านกังวลว่ากระแสน้ำเหนือที่กำลังไหลลงมาถึงพื้นที่ จ.นนทบุรี อาจทำให้น้ำทะลักไหลเข้าพื้นที่ด้านในเขื่อน ทำให้ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำ
อ่านข่าว ชาวบ้านกังวล "เขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา" ทรุดตัว 70 เมตร
สภาพเขื่อนทรุดตัว 75 เมตรผ่านมา 4 เดือนยังไม่ซ่อม
จากการสำรวจ พบว่าเขื่อนที่พังลงไปในแม่น้ำ ยังมีสภาพคงเดิม ไม่ได้มีการรื้อถอนหรือทุบทิ้ง แม้ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้สร้างแนวเขื่อนดินทดแทนชั่วคราวด้านใน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่ชุมชน และบ้านเรือนของประชาชน ซึ่งชาวบ้านยังกังวลว่าคันดินจะรองรับมวลน้ำที่เพิ่มสูงไม่ได้
จากการสอบถามประชาชนที่พักอาศัยที่ริมเขื่อน เล่าว่า ตั้งแต่เขื่อนพังลงไป มีเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เข้ามาตรวจสอบ และอีกหลายหน่วยงานลงพื้นที่มาดูโดยมีการทำคันดินเอาไว้ให้ชั่วคราว
ชาวบ้านระบุว่า ทุกวันนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็เข้ามาดูอยู่เรื่อย ๆ มีตอกเสาเข็มบ้าง แต่เขื่อนที่พังลงไปในน้ำไม่ได้เอาขึ้นมา ซึ่งประชาชน กลัวมวลน้ำที่จะมาถึงทะลักเข้าชุมชน เพราะเขื่อนที่พังลงไปยังไม่ได้สร้างขึ้นมาไหม่ เลยก็อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งแก้ไข
อ่านข่าว ทางเดินริมเขื่อนหน้าวัดเฉลิมพระเกียรติ ทรุดตัว-หวั่นอันตราย
ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทรงตัว
ขณะที่กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา เมื่อเวลา 07.00 น. เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำแบบขั้นบันไดอยู่ในอัตรา 900-1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในระยะนี้ เบื้องต้นระดับน้ำท้ายเขื่อนทรงตัว
- สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,311 ลบ.ม.ต่อวินาทีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.74 เมตร
- สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,300 ลบ.ม.ต่อวินาทีระดับน้ำท้ายเขื่อน ทรงตัวยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 4.24 เมตร
ทั้งนี้หากระดับน้ำทางตอนบนเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะๆ ต่อไป
อ่านข่าวไขปมเขื่อนริมตลิ่งทรุด 2 จุด "ชัยนาท-นนทบุรี" เจ้าพระยาน้ำลดฮวบ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้านน้ำท่วม อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
อัปเดต 5 จังหวัดภาคเหนือน้ำท่วม
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้เดินทางมา พบปะประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ วัดคลองกระจง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัน ได้มอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ก่อนที่จะเดินทางไปตรวจน้ำที่บริเวณประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 21 อำเภอ 117 ตำบล 271 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,117 ครัวเรือน ดังนี้
- เชียงราย ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย เชียงแสน แม่จัน เชียงของ ดอยหลวง แม่ลาว พญาเม็งราย เวียงชัย ขุนตาล เวียงเชียงรุ้ง เทิง และป่าแดด 52 ตำบล 58 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 625 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 คน ระดับน้ำลดลง
อ่านข่าว กทม.เฝ้าระวังริม 2 ฝั่งเจ้าพระยา รับมือ "น้ำเหนือ - น้ำหนุน - น้ำฝน"
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือบางแห่งเริ่มทรงตัว
- สุโขทัย ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีสัชนาลัย อ.สวรรคโลก ศรีสำโรง เมือง ศรีนคร และกงไกรลาศ รวม 39 ตำบล 104 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,483 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- พิษณุโลก ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ พรหมพิราม บางระกำ 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชาชนรับผลกระทบ 40 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
- เพชรบูรณ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.หล่มสัก รวม 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 917 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- หนองคาย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ รัตวาปี ศรีเชียงใหม่ สังคม ท่าบ่อ และเมือง รวม 21 ตำบล 100 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 52 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น