เมื่อคราว “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2554 ไม่ได้มีตำแหน่งใด ๆทั้งสิ้น ในพรรคเพื่อไทย จึงไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงใดมาก ๆ นัก ขณะที่ “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเป็นนายกฯปี 2567 หากถูกร้องในประเด็นปล่อยให้มีผู้ครอบงำพรรค หรือทำผิดจริยธรรมร้ายแรง ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกล้มกระดาน
ดูเหมือนง่าย หลังจากรัฐบาลเพื่อไทยโหวตได้ นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 “แพทองธาร ชินวัตร”แต่กลับมีเรื่องร้องเรียนอุตลุดถึง 4 ประเด็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและกกต.และการถีบพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล และส่งเทียบเชิญประชาธิปัตย์ เข้าเสียบ ทำให้เกิดวิวาทะและข้อขัดแย้งระหว่าง ผู้ได้ประโยชน์ ผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ชำแหละสถานการณ์การเมืองของรัฐนาวาแพทองธาร นับจากนี้กับ “ไทยพีบีเอส ออนไลน์”

“การเดินหน้าตั้งรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ขณะนี้ยังไม่ปัญหา ที่ผ่านมาถือเป็นการตั้งหลักได้เร็ว และรุกเร็ว หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ถือว่า พรรคเพื่อไทย ชิงความได้เปรียบรวดเร็วมาก โดยเฉพาะการป้องกันปัญหาการพลิกขั้วการเมือง ซึ่งเขาคงมองแล้วว่า หากช้ากว่านี้ จะไม่เป็นผลดี”
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล ดร.ปริญญา ตั้งข้อสังเกตว่า หลังจาก น.ส.แพทองธาร ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว อำนาจการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ก็หมดไปอย่างสิ้นเชิง ส่วนที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาภายของของพรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคพลังประชารัฐที่ถูกพรรคเพื่อไทยขับออก โดยเฉพาะกลุ่มของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งสส.ส่วนใหญ่มีมติไม่เอาพรรคพลังประชารัฐในสายนี้ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องขับออกทั้งพรรค รวมถึงกลุ่มของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคฯ ด้วย

ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้มีมติขับกลุ่มของร.อ.ธรรมนัส ออกจากพรรค จึงทำให้ ต้องอยู่กันไปแบบนี้ เพราะถ้าพลังประชารัฐ ขับกลุ่มร.อ.ธรรมนัส ออก ก็จะเข้าทางทันที เนื่องจากมีการตั้งพรรคกล้าธรรม ไว้รองรับแล้ว ขณะที่ร.อ.ธรรมนัส ก็หาทางออก โดยการเสนอชื่อคนนอก ซึ่งเป็นคนของตัวเองเป็นรัฐมนตรี แต่ใช้โควตาพรรคเพื่อไทย และยังได้พรรคประชาธิปัตย์มาอีก 21 เสียง แม้จะมาไม่หมด แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับรัฐบาล
“ขณะนี้จำนวนเสียงสส.ที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องใช้ในการโหวตเรื่องงบประมาณ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรี มีอยู่ 297 เสียง ถือว่าเพียงพอแล้ว ไม่ว่าจะมี 2 พรรคการเมืองนี้อยู่หรือไม่ก็ตาม เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาหลักอยู่ที่ตัวพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรี คือ แพทองธาร ว่า พรรคจะถูกยุบ หรือไม่ หากมีผู้ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ”
นายทักษิณ ชินวัตร อาจจะลืมไปว่า เมื่อครั้งที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีตำแหน่งใด ๆ เลยในพรรคเพื่อไทย ขณะที่ “แพทองธาร” เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จริง ๆนายทักษิณ อาจไม่ได้นายเศรษฐาจะถูกตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯมากกว่า อย่างไรก็ตาม หากพรรคเพื่อไทยยังปล่อบให้บุคคลอื่นเข้ามาชี้นำครอบงำ หรือครอบครอง ก็ถือว่าเป็นกรรมที่ต้องรับ และมีความเสี่ยงสูงที่พรรคจะล้ม

อีกประเด็นที่มองข้ามไม่ได้ คือ การขับพรรคพลังประชารัฐพ้นจากพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อไทย แม้จะอ้างว่าเพื่อป้องกันปัญหา เมื่อวันโหวตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐได้ยกมือโหวตให้ แม้พล.อ.ประวิตร จะไม่ได้มาโหวต แต่สส.ทั้งหมดถือวา ได้ทำตามมติพรรค ดังนั้นนายกรัฐมนตรี อาจถูกร้องเรียนเรื่องจริยธรรมได้อีก
ในขณะที่การดึงพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย ดร.ปริญญา บอกว่า หลังจากนี้สิ่งที่ทั้งสองพรรค การเมืองจะต้องเผชิญ คือ การสูญเสียมวลชนที่เคยสนับสนุน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่อาจจะเสียฐานมวลชนหลักจากภาคใต้ และกลุ่มคนเสื้อเหลือง หรือกลุ่มกปปส. เดิม ในขณะที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยมีมวลชนกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นกองเชียร์ส่วนหนึ่งก็จะสลายไป เราจะเห็นชัดเจนในการเลือกครั้งต่อไป
"การทำให้คู่แค้นตลอดกาล พรรคประชาธิปัตย์ อดีตฝ่ายค้านแตกยับ และมีมติเข้าร่วมกับรัฐบาลเพื่อไทย ก็จะมีฝ่ายค้านเพียง 2 พรรค คือ พรรคประชาชนและพลังประชารัฐ ซึ่งได้สส.มาไม่ครบ"

ส่วนผลกระทบที่จะตามมาหลังจากจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว คือ การทำงานของพรรคฝ่ายค้านที่มี พรรคประชาชนและพรรคเล็กอีกจำนวนหนึ่งจะอ่อนแอ และไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ แม้จะมีพรรคพลังประชารัฐเข้ามาเป็นฝ่ายค้าน แต่ พรรคประชาชน และพรรคพลังประชารัฐ ไม่น่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้ เพราะพลังประชาชน หรือ “ก้าวไกล”ในอดีตเคยประกาศชัดว่า ไม่เอาพรรค 2 ลุง นอกจากนี้พลังประชารัฐก็แตกออกเป็น 2 ฝ่าย ซีกหนึ่งเป็นฝ่ายค้าน อีกครึ่งหนึ่งไปอยู่กับรัฐบาล คำถาม คือ การทำงานในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านและการตรวจสอบจะทำกันอย่างไร

“ผู้ที่ได้ประโยชน์จากความอ่อนแอของพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นรัฐบาล ในเกมนี้ถือว่าเพื่อไทย ยิงปืนนัดเดียวได้ถึง 3 ต่อ คือ ประชาธิปัตย์แตก ได้กำจัดพรรคพลังประชารัฐและ ทำให้ฝ่ายค้านอ่อนแอ ส่วนรัฐบาลอาจจะอยู่ได้ยาว ส่วนจะนานแค่ไหน ก็ต้องดูต่อไป”
ดร.ปริญญา ทิ้งท้ายว่า สำหรับการเมืองไทย อะไร ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และต้องไม่ลืมว่า ในปี 2548 พรรคไทยรักไทยในยุค “ทักษิณ”เป็นหัวหน้าพรรค ฯ ขณะนั้นมีจำนวนสส.ถึง 377 เสียง ยังอยู่ไม่ได้เลย ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนก็อยู่ยาก
อ่านข่าว : ปชป.มติ 34:4 ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย ส่ง "เฉลิมชัย-เดชอิศม์" นั่ง รมต.