“ทีวีดิจิทัล” ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกอากาศในระบบดิจิทัลภาคพื้นดินมาแล้ว 10 ปี และอีก 5 ปี ข้างหน้า ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลภาคเอกชนจะสิ้นสุด ในปลายเดือนเมษายน พ.ศ.2572 กสทช. พร้อมช่องสมาชิกทีวีดิจิทัลประกอบธุรกิจ 15 ช่อง และทีวีดิจิทัลสาธารณะ 5 ช่อง
จัดงาน "1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล" Beyond the Next Step เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2567 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ และมองทิศทางอนาคต ก่อนและหลังใบอนุญาตทีวีดิจิทัลภาคเอกชนจะสิ้นสุดลง
เนื้อหาสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของทีวีเสมอมามี "ข่าว" อยู่ด้วย ในงานนี้จึงมีช่วง VISION STAGE : อนาคต "ข่าว" ในผังโทรทัศน์ไทย มีเทพชัย หย่อง ที่ปรึกษาฝ่ายข่าวภาคภาษาอังกฤษ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มาพูดบนเวทีในหัวข้อ "ทางเลือกทางรอดของคนข่าวทีวีท่ามกลางพายุลูกใหญ่"
เทพชัย หย่อง กล่าวว่า เมื่อหลายปีที่แล้วได้รับเชิญไปพูดเรื่องหนังสือพิมพ์ และเคยได้รับเชิญไปพูดเรื่องข่าววิทยุ เนื้อหาเกี่ยวกับแต่ละแพลตฟอร์มที่เคยได้รับเชิญไปพูดถึง วันนี้มีชะตากรรมแบบที่ทุกคนทราบกัน กระทั่งวันนี้ได้รับเชิญมาพูดเรื่องข่าวมีทีวี แต่สำหรับทีวี ยังมีความหวัง และคิดว่าจำเป็นที่จะอยู่คู่กับสังคมไทย
เทพชัย อธิบายต่อว่า ทุกวันนี้ สื่อกระแสหลักถูกตั้งคำถาม ทีวีวันนี้เป็นสื่อกระแสหลักที่มีความชัดเจน และสังคมยังเห็นคุณค่ามากที่สุด ห้วง 10 ปีของทีวีดิจิทัล มีความหวังแต่ขณะเดียวกันยังมีความหดหู่อยู่
สำหรับมุมมองของเทพชัย หย่อง ต่อทีวี มองว่า ทีวีทุกวันนี้ และข่าวทีวีเป็นคนไข้ที่กำลังป่วย สิ่งที่ทำคือประคับประคองคนไข้ให้มีชีวิตอยู่แบบไม่ทุกข์ทรมาน แต่อยู่นานเท่าไร ไม่มีใครตอบได้ ในใจลึก ๆ อยากให้กำลังใจคนทำข่าวทีวี
ทุกวันนี้ เวลาเห็นข่าวเกี่ยวกับทีวี ไม่มีข่าวดี มีแต่ข่าวลดคน ตัดเงินเดือน Early Retire ปรากฏการณ์ร้ายทั้งหลายที่พูดถึง เป็นสิ่งที่ทีวีทั่วโลกเผชิญอยู่ ทีวีทุกช่องในโลกกำลังเผชิญปัญหาคนดูน้อยลง ที่สำคัญคือ คนดูเชื่อถือในข่าวน้อยลง และคนที่หลีกเลี่ยงการติดตามข่าวเพิ่มมากขึ้น
เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้คือ การแข่งขันเกิดขึ้น แพลตฟอร์มเกิดขึ้นมากมาย รับข่าวสารได้โดยไม่พึ่งสื่อกระแสหลัก ขณะเดียวกันก็มีปัญหาในตัวเอง สื่อในโซเชียลมีเดีย มีทั้งความคิดเห็น ข่าวเท็จ ข่าวปล่อย สื่อเหล่านี้ในหลายประเทศ รวมถึงไทยด้วย ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง เลือกข้างทางการเมือง มีส่วนทำให้เกิดการเผชิญหน้า ความเกลียดชังทางการเมือง เป็นที่มาของปรากฏการณ์ที่คนเชื่อในข่าวซึ่งเสนอผ่านสื่อเหล่านี้น้อยลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายคนทำสื่อกระแสหลัก
การจัดการสถานการณ์เหล่านี้ เท่าที่เคยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของหลายคนที่มองตรงกันคือ สังคมจำเป็นต้องมีสื่อกระแสหลักที่เชื่อถือได้ ทำอย่างไรจึงจะคงความไว้วางใจต่อสื่อที่มีอยู่ ให้มากกว่าวันนี้
ความไว้วางใจจะเกิดขึ้น เมื่อสื่อทำหน้าที่อย่างจริงจัง ตามจริยธรรมที่สังคมยอมรับ อยู่บนทิศทางที่ถูกต้อง เทพชัย หย่อง มองว่า จุดนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้สื่อกระแสหลัก รวมถึงทีวี แตกต่างจากข่าวหรือความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย
ความเชื่อถือเกิดขึ้นต่อเมื่อคนในห้องข่าว ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ รายงานโดยใช้ข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบ นำเสนออย่างน่าเชื่อถือ รูปแบบเล่าเรื่องให้น่าสนใจ เล่าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับสารในแต่ละแพลตฟอร์ม การทำเหล่านี้ไม่ใช่เป็นการทำที่ (มูลค่า) ถูก
"ยืนยันว่า การทำข่าวที่ดีเป็นการลงทุน และใช้เงิน สร้างบุคลากรที่สะสมประสบการณ์มา โดยเฉพาะข่าวเชิงลึก" เทพชัย หย่อง เน้นย้ำเรื่องการลงทุนด้านทำข่าว
สำหรับบุคลากรข่าวที่มีคุณภาพ เทพชัย หย่อง บรรยายความหมายว่า ต้องผ่านการทำงานที่โชกโชน ลงพื้นที่ เรียนรู้ ผ่านการอบรม ตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่ เมื่อองค์กรสื่อประสบปัญหาเรื่องเงินทุน ธุรกิจสื่อไม่ใช่ธุรกิจที่สดใส
นี่คือโจทย์ใหญ่ของสังคมที่ต้องช่วยกันหาคำตอบ ไม่ใช่แค่หน้าที่ของคนทำสื่อเท่านั้น สังคมต้องมีสื่อที่ไว้ใจ เชื่อถือได้ และอยู่ได้ในเชิงธุรกิจด้วย สื่อต้องได้รับการสนับสนุนมากพอในทางธุรกิจ
ส่วนสิ่งที่สื่อไม่ควรร้องขอ คือความช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งแตกต่างจากการทำงานแนวบันเทิง ในแง่ข้อมูลข่าวสาร เทพชัย หย่อง มองว่า รัฐบาลห่างไว้จะดีที่สุด
“สื่อกระแสหลักทั้งหลาย ข่าวทีวี จำเป็นต้องปรับตัวอย่างมากกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในขณะนี้ แต่ขณะเดียวกันต้องไม่เปลี่ยนจุดยืนในการทำงาน นี่คือสิ่งที่อยากฝากไว้” เทพชัย หย่อง กล่าวทิ้งท้าย
อ่านข่าว : ด่วน! พบรถผู้ประสบภัยอุโมงค์ถล่ม สัญญาณชีพลึก 3 ฟุต