พยัคฆ์ซ่อนเล็บบ้านป่าใหญ่ "ลุงป้อม" หมอบเฝ้า รอวันเอาคืน

การเมือง
28 ส.ค. 67
17:37
2,225
Logo Thai PBS
พยัคฆ์ซ่อนเล็บบ้านป่าใหญ่  "ลุงป้อม" หมอบเฝ้า รอวันเอาคืน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

แตกดังโพละเป็น 2 เสี่ยง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภายใต้การนำของ "ลุงบ้านป่า" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคฯ หลังก่อตั้งได้เพียง 7 ปี เคยเฟื่องฟูสุดขีดในปี 2561 เป็นต้นไม้ใหญ่ที่ทุกฝ่ายวิ่งกรูเข้าหา แต่มาบัดนี้ ปี 2567 เหลือ สส.ในสังกัด ไม่ถึง 20 คน จากทั้งหมด 40 คน

แรกก่อตั้ง พลังประชารัฐ คือ ที่รวมหลายมุ้งการเมือง "กลุ่มสามมิตร" แยกตัวจากพรรคเดิมเพื่อไทย, สมาชิกบางคนประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย และ พรรคชาติไทยพัฒนา รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่น และอดีตแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีคนดังระดับบิ๊กเนม และกลุ่มทุนให้การสนับสนุน จนได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

แน่นอนสารพัดมุ้ง ก๊วน กลุ่มต่าง ๆ ที่มุ่งหน้ามาหา พปชร.ยุคนั้น ไม่ได้หวังทำงานให้ประชาชน ยามประเทศชาติเกิดวิกฤต แต่เพราะ "ผลประโยชน์" และ "ตำแหน่ง" ทางการเมือง พปชร.จึงกลายเป็นแหล่งรวมของนักธุรกิจการเมืองกว่า 150 ชีวิต และในปี 2561 ได้มีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ 2560

ส่วน "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร ก็ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเต็มตัวในปี 2563 โดยตลอดระยะเวลานับแต่เกิดเหตุการณ์ คสช. และมีรัฐบาล คสช. - จนถึงรัฐบาลประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2557-2562 ที่ทำการมูลนิธิบ้านป่ารอยต่อ เวลารวมกว่า 9 ปีกับอีก 2 วัน ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม หัวบันไดไม่เคยแห้ง

แม้ในปี 2565 จะมีปัญหาความขัดแย้งระหว่าง 2 ลุง "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ และ "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร ว่ากันว่า ชนวนเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการปลดฟ้าผ่า 2 รัฐมนตรีในขณะนั้น คือ "ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า" ให้พ้นตำแหน่ง รมช.กระทรวงเกษตรฯ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.กระทรวงแรงงาน เมื่อปี 2564

กระทั่ง ในปี 2565 ร.อ.ธรรมนัส และพวกอีก 21 ชีวิต ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ และมาตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย โดย ร.อ.ธรรมนัส เป็นหัวหน้าพรรคฯ ในปีเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็แยกทางกับ "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร โดยออกมาสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มีตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส ย้อนกลับไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ พร้อมสมาชิกเดิม ทั้ง ๆ ที่ก่อนจะออกมาตั้งพรรคใหม่ เคยบอกว่าที่ทำการพรรค พปชร. "ตึกนั้นฮวงจุ้ยไม่ดี เป็นอาคารแปลก ๆ"

หลังเลือกตั้งปี 2566 พลังประชารัฐกลายเป็นพรรคขนาดกลาง เหลือเพียง 40 สส. แต่ยังได้ร่วมรัฐบาลเศรษฐา หลัง "ก้าวไกล" ถูกเพื่อไทยสลัดทิ้ง กลายเป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรค 2 ลุง "รทสช.-พปชร." เข้าร่วมโดย "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ หันหลังให้การเมือง ก้าวขึ้นรับตำแหน่งองคมนตรี

แต่ "ลุงป้อม บ้านป่าใหญ่" พล.อ.ประวิตร ยังคงเดินหน้าต่อการเมือง แต่ไม่ได้เข้าร่วมสังฆกรรมใด ๆ กับรัฐบาลเพื่อไทย ไม่เข้าร่วมโหวตนายกฯ 2 นายกฯ "เศรษฐา-แพทองธาร" ไม่เคยไปงานเลี้ยงที่พรรคร่วมผลัดกันเป็นเจ้าภาพ แต่ถูกจับจ้องว่า อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของ 40 สว. สอย "เศรษฐา" อดีตนายกฯ คนที่ 30 พ้นตำแหน่ง

เป็นเหตุให้ "ทักษิณ ชินวัตร" และ สส.พรรคเพื่อไทย ปฏิเสธให้พรรคพลังประชารัฐการเข้าร่วมรัฐบาลแพทองธาร เมื่อค่ำวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ "พลังประชารัฐ" สาย พล.อ.ประวิตร กลายเป็นฝ่ายค้านไปโดยปริยาย

ขณะที่สาย ร.อ.ธรรมนัส ที่ไม่ถูกขับออกจากพรรคฯ แต่เป็นฝั่งหนุนเพื่อไทย ได้โควตาคนนอกมาถึง 3 เก้าอี้ โดยส่ง "อิทธิ ศิริลัทยากร" อดีต สส.ฉะเชิงเทรา บิดาของ "อรรถกร ศิริลัทธยากร" มาแทนในตำแหน่ง รมช.กระทรวงเกษตร, และ  "นฤมล ภิญโญสินวัฒน์" หัวหน้าพรรคกล้าธรรม ซึ่งเป็นพรรคสำรองของ ร.อ.ธรรมนัส เป็น รมว.เกษตรฯ เช่นเดียวกับน้องชาย "อัครา พรหมเผ่า" รมช.เกษตรฯ โควตาพรรคเพื่อไทย

ในเกมการเมือง หากมองผิวเผิน แผนแตกหัก เพื่อสลายพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร ถือเป็นแผนเหนือชั้นของ "ทักษิณ-เพื่อไทย" และ "ร.อ.ธรรมนัส" ที่สามารถปิดฉากอำนาจทางการเมืองของ "พยัคฆ์รุ่นลายคราม" ในวัย 80 ปีได้ แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ยังเป็นหนังม้วนยาวที่ต้องปูเสื่อรอดูว่าเหตุการณ์ความชุลมุนวุ่นวายทางการเมือง นับจากนี้จะเป็นอย่างไร

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด วันนี้ (28 ส.ค.2567) เมื่อ "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นคำร้อง โดยส่งหนังสือทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (อีเอ็มเอส) เพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าได้มีหนังสือลาออกจากกรรมการบริษัทต่าง ๆ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2567 จริงหรือไม่ เหตุใดจึงจดทะเบียนกรรมการออกในวันที่ 19 ส.ค.2567 หลังจากที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2567 แล้ว และกรณีดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่

นวันเดียวกัน ยังมีการปล่อยข้อมูลออกมาอีกระลอกว่า เหตุการณ์วันที่ 14 ส.ค. หลัง "เศรษฐา ทวีสิน" ถูกสอยร่วงจากตำแหน่งนายกฯ ตามมติศาลรัฐธรรมนูญ ปมตั้ง "พิชิต ชื่นบาน" เป็นรัฐมนตรี ผิดจริยธรรมร้ายแรง โดยในช่วงหัวค่ำได้มีการเรียกหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าด่วน ขณะที่ "แพทองธาร ชินวัตร" เดินทางไปประเทศจีน และถูกเรียกตัวกลับมาด่วนนั้น มีคลิปภาพและเสียงชัดเจน อยู่ในมือของใครคนหนึ่งแล้ว

ขณะเดียวกัน พบว่า ในกลุ่มพลังประชารัฐซีกของลุงบ้านป่า ก็เตรียมเอาคืน ร.อ.ธรรมนัส ในข้อหากระทำผิดและฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรงด้วยเช่นกัน

ยังไม่รวมกับ ผู้ร้องปริศนารายหนึ่ง ที่ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทย ในกรณีเดียวกับที่ กกต. เคยยื่นเรื่องให้ยุบพรรคก้าวไกล โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ต้องสอบสวนเพิ่มเติม ว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำกิจกรรมของพรรค ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง

นับจากนี้ต้องติดตาม ว่า พยัคฆ์บูรพา อย่าง "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร จะ "สิ้นลาย" อยู่อย่างเหงา ๆ ในบ้านป่าใหญ่ หรือจะ "ซ่อนเล็บ" หมอบรอขม้ำเหยื่อทางการเมือง ที่เดินมาติดกับดักหรือไม่

อ่านข่าวเพิ่ม :

8 ทศวรรษ "ประชาธิปัตย์" ศัตรูเพื่อไทย กลายเป็น "มิตร" การเมือง

"บิ๊กป้อม" ระดมพล พปชร.พลิกเกมเพื่อไทยไม่รับ

"อดิศร" ชี้ "บิ๊กป้อม" ไม่ควรร่วมเป็นรัฐบาล

ไม่เอา "พลังประชารัฐ" พท. เดินหน้าเทียบเชิญกลุ่มผู้กอง-ปชป.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง