วันนี้ (28 ส.ค.2567) ความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ชาวบ้านบ้านวังขี้เหล็กหมู่ 10 ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เริ่มทยอยเก็บสิ่งของขึ้นมาไว้อยู่ริมถนน
หลังกรมชลประทานได้เปิดการระบายน้ำจากท่อระบายน้ำคลองแยงมุมเข้าทุ่งบางระกำ ซึ่งเป็นทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว โดยรับน้ำจากคลองเมม หรือ แม่น้ำยมสายเก่าไปเก็บไว้ในทุ่งนา และนับจากนี้ไปอีก 1 เดือนบริเวณนี้จะเต็มไปด้วยน้ำ
ชาวบ้านวังขี้เหล็ก ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม กล่าวว่า น้ำจาก จ.สุโขทัย ได้เริ่มเข้ามาในพื้นที่ อ.พรหมพิราม ประมาณ 2 วันแล้ว และได้เริ่มปล่อยน้ำเข้าทุ่งบางระกำโมเดล ในช่วงเย็นวันที่ 26 ส.ค.แต่ก็ได้รับผลกระทบกับชาวบ้านที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำยม ที่จะต้องขนของมาอาศัยอยู่ที่สูง เป็นการชั่วคราว
ขณะที่ นายกุลธร รัตนเสรี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน พร้อมด้วย หัวหน้าฝ่าย และเจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพิษณุโลก ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตด้านการประมงในพื้นที่รับน้ำของโครงการบางระกำโมเดล โดยได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพิษณุโลก ปล่อยพันธุ์ปลาตะเพียนขาว 5 ล้านตัว เพื่อเพิ่มผลผลิตด้านประมงในพื้นที่หน่วงน้ำของโครงการบางระกำโมเดล
จากนั้นได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำที่ประตูระบายน้ำคลองบางแก้ว ฝ่ายปฏิบัติการเครื่องจักรกลสูบน้ำที่ 2 ส่วนเครื่องจักรกลสูบน้ำ สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน เดินเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ แบบไฮโดรโฟร ขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซล เพื่อเป็นการเร่งระบายน้ำไว้รอมวลน้ำที่ยังคงมีมาจาก จ.สุโขทัยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ "โครงการบางระกำโมเดล" เป็นโครงการปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตชลประทาน เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากและหน่วงน้ำ พื้นที่โครงการ 265,000 ไร่ ในเขต อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ อ.เมืองพิษณุโลก และ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย
พื้นที่ดังกล่าวจะเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปีก่อนฤดูกาลปกติ มาเริ่มเพาะปลูกตั้งแต่ 1 เม.ย. และเก็บเกี่ยวก่อนฤดูน้ำหลาก ไม่เกิน 15 ส.ค.หลังจากนั้นจะงดทำการเพาะปลูกเพื่อเป็นพื้นที่รองรับน้ำ เป็นทุ่งหน่วงน้ำให้กับลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างลดผลกระทบอุทกภัย สามารถหน่วงน้ำได้สูงสุด 400 ล้าน ลบ.ม.ตั้งแต่ 15 ส.ค.-30 พ.ย. และเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบใหม่ ตั้งแต่ 1 ธ.ค.เป็นต้นไป
อ่านข่าว : "สุโขทัย" น้ำท่วมหนัก พนังกั้นน้ำแตก 8 จุด