- ปิดภารกิจ 126 ชั่วโมง "อุโมงค์ถล่ม" พาร่าง 3 คน กลับครอบครัว
- ไทม์ไลน์ 126 ชั่วโมง ติดอุโมงค์ถล่ม เสียชีวิต 3 คน
ภาพรวมโครงการรถไฟความเร็วสูง
โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย เป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน เป็นเส้นทางที่จะเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนา Belt and Road Initiative (BRI) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยมีจุดเริ่มต้นจากการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2557 ซึ่งมีเป้าหมาย คือ การพัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานครของไทย กรุงเวียงจันทน์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนได้อย่างไร้รอยต่อ และในอนาคตสามารถพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ไปยังประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์ได้
ที่มา : การรถไฟแห่งประเทศไทย
ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 10 ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2559 ทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมลงนามรับรองบันทึกการประชุมในการตกลงเริ่มก่อสร้างทางรถไฟเส้นทางกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมาก่อน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2560 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระที่ 1 ช่วงกรุงทพมหานคร-นครราชสีมา) โดยเป็นการร่วมพัฒนาระหว่างประเทศในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล
โดยฝ่ายไทยรับการะการลงทุนโครงการทั้งหมด และดำเนินการก่อสร้างงานโยธาและใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างและระบบรถไฟของจีน ซึ่งได้ทำพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2560 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ ใช้งบประมาณ 179,412.21 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2570
ปัจจุบัน โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างงานโยธา โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 14 สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา และอยู่ระหว่างการเตรียมการก่อสร้าง 4 สัญญา ส่วนงานระบบรางและการจัดหาขบวนรถ มี 1 สัญญา อยู่ระหว่างการออกแบบ
ที่มา : การรถไฟแห่งประเทศไทย
14 ปี 3 รัฐบาลได้เซ็น MoU รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
โครงการรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน เป็น 1 ใน 4 เส้นทางระบบรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย มีจุดหมายเพื่อทดแทนระบบรถไฟชานเมืองและรถไฟสายต่าง ๆ ในประเทศไทย เชื่อมต่อภาคธุรกิจเข้ากับตัวเมืองอย่างรวดเร็ว เริ่มต้นศึกษาตั้งแต่ พ.ศ.2553 ในสมัยที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงาน (MoU) กับรัฐบาลจีน ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการร่วมกัน มีกรอบวงเงินลงทุนที่ 180,000 ล้านบาท รัฐบาลไทยจะลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 51 และรัฐบาลจีนจะร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 49 แต่สัญญากลับไม่คืบหน้าเนื่องจากรัฐบาลประกาศยุบสภาเสียก่อน
ต่อมาใน พ.ศ.2556 สมัย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการทบทวนการศึกษาของโครงการดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลจีนได้ยื่นข้อเสนอว่าจะลงทุนเอง 100% แต่แลกกับสัมปทานการบริหารโครงการจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นระยะเวลา 50 ปี อย่างไรก็ตามใน พ.ศ.2557 เกิดเหตุรัฐประหารขึ้นทำให้โครงการศึกษาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงและโครงการระบบรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง
พ.ย.2557 รัฐบาล คสช. ได้ทำบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานกับรัฐบาลจีนอีกครั้ง และมีข้อสรุปในเดือน พ.ย.2558 ว่ารัฐบาลไทย-รัฐบาลจีน จะร่วมกันจัดตั้งกิจการร่วมค้าเพื่อเป็นตัวกลางในการดำเนินโครงการ
รัฐบาลจีนจะเป็นตัวแทนในการจัดหาระบบที่เหมาะสม และดำเนินงานเชิงพาณิชย์และซ่อมบำรุง (O&M) ภายในระยะเวลา 3 ปีแรกนับจากวันที่เปิดให้บริการ ก่อนดำเนินการถ่ายโอนองค์ความรู้ การดำเนินการ งานซ่อมบำรุง และงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องใหักับการรถไฟแห่งประเทศไทยภายในปีที่ 4-6
ก่อนที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจะเข้าดำเนินการเต็มรูปแบบในปีที่ 7 ของสัญญา ซึ่งต่อมากระทรวงคมนาคมได้มีการลงนามในสัญญาความร่วมมืออย่างเป็นทางการ โดยมีกรอบเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- รัฐบาลไทยจะเป็นผู้ดำเนินการลงทุนด้านงานโยธาทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวภายใต้กรอบวงเงิน 179,000 ล้านบาท
- รัฐบาลไทยจะเป็นผู้พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ริมทางรถไฟเพื่อให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนภายในประเทศ
- ผู้รับเหมาก่อสร้าง จะต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนภายในประเทศไทย
- วัสดุก่อสร้างจะใช้วัสดุภายในประเทศเป็นหลัก
- แรงงานก่อสร้างจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ห้ามไม่ให้มีการนำเข้าแรงงานจากประเทศจีน ยกเว้นสถาปนิกและวิศวกรที่อนุญาตให้เป็นสัญชาติจีนเป็นกรณีพิเศษ
โครงการได้แบ่งช่วงการดำเนินการออกเป็นทั้งหมด 4 ช่วง ได้แก่
- ช่วงกรุงเทพฯ (บางซื่อ) - แก่งคอย และ แก่งคอย - นครราชสีมา
- ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - ท่าอากาศยานดอนเมือง
- ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย
- ช่วงแก่งคอย - คลอง 19 - ฉะเชิงเทรา
ที่มา : การรถไฟแห่งประเทศไทย
รูปแบบโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
- เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดหนัก (Heavy rail transit)
- ทางวิ่ง แนวเส้นทางส่วนใหญ่เป็นแนวเส้นทางระดับดิน โดยมีช่วงยกระดับเมื่อต้องผ่านตัวเมือง ยกเว้นช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง-บ้านภาชี ที่ยกระดับที่ความสูง 20 เมตรตลอดทาง เนื่องจากเป็นเส้นทางร่วมกันระหว่างรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก และสายเหนือ
- ขนาดราง 1.435 เมตร (European standard guage) โดยมีสายไฟฟ้าแรงสูงตีขนานอยู่เหนือราง ระบบรถไฟฟ้าใช้วิธีการรับไฟฟ้าจากด้านบนด้วยแพนโทกราฟ
- ตัวรถเป็นรถปรับอากาศขนาดกว้าง 2.80-3.70 เมตร ยาว 20 เมตร สูงประมาณ 3.70 เมตร ความจุ 600 คนต่อขบวน ต่อพวงได้ 3-10 คันต่อขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 50,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง
- ใช้ระบบอาณัติสัญญาณเดินรถด้วยระบบอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุมการเดินรถ และใช้ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ
สัญญาการก่อสร้าง
โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เป็นโครงการที่ทางฝั่งประเทศไทยจะเป็นผู้ลงทุนงานโยธาทั้งหมดด้วยวิธีการเปิดประมูลเป็นรายสัญญาแบบเดียวกับการก่อสร้างของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร โดยในส่วนของงานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล ทางฝั่งประเทศจีนจะเป็นผู้รับผิดชอบโดยการว่าจ้าง บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล จำกัด ผู้ผลิตรถไฟฟ้าบีทีเอสรุ่นที่สอง (EMU-B: Bombardier Movia) เป็นผู้ผลิตตัวรถไฟฟ้าและจัดหาระบบเดินรถไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในโครงการทั้งหมด
ที่มา : การรถไฟแห่งประเทศไทย
สัญญาที่ 1-1 งานก่อสร้างคันทางระดับดิน ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (2.2 ไมล์) งบประมาณ 425 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้างกรมทางหลวง ความคืบหน้าของโครงการ ก่อสร้างเสร็จแล้ว
สัญญาที่ 2-1 งานก่อสร้างคันทางระดับดิน ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร (6.8 ไมล์) งบประมาณ 3,115 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บจ.ซีวิลเอ็นจิเนียริง ความคืบหน้าของโครงการ ก่อสร้างเสร็จแล้ว
สัญญาที่ 3-1 งานก่อสร้างคันทางระดับดินและโครงสร้างยกระดับ ช่วงแก่งคอย - กลางดง และ ปางอโศก-บันไดม้า
ระยะทาง 30.21 กิโลเมตร (18.77 ไมล์) งบประมาณ 9,330 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง ITD-CREC No.10JV (ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพันธมิตร ซีอาร์อีซี (CREC: China railway Engineering corporation) ความคืบหน้าของโครงการ ร้อยละ 0.52
สัญญาที่ 3-2 งานก่อสร้างอุโมงค์ลอดภูเขา ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร (7.60 ไมล์) ลบประมาณ 4,729.3 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 74.06
ที่มา : การรถไฟแห่งประเทศไทย
สัญญาที่ 3-3 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กิโลเมตร (16.22 ไมล์)
รวมงานก่อสร้างสถานีปากช่อง งบประมาณ 9,838 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บจ.กรุงธน เอ็นจิเนียริ่ง ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 52.73
สัญญาที่ 3-4 งานก่อสร้างคันทางระดับดินและโครงสร้างยกระดับ ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กิโลเมตร (23.27 ไมล์) งบประมาณ 9,788 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 77.82
สัญญาที่ 3-5 งานก่อสร้างคันทางระดับดินและโครงสร้างยกระดับ ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 13.69 กิโลเมตร (8.51 ไมล์) รวมงานก่อสร้างสถานีนครราชสีมา งบประมาณ 7,750 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด (ซึ่งประกอบด้วย บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด บริษัท ทิมเซคาร์ตาร์ เอสดีเอ็น บีเอชดีจำกัด และบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศมาเลเซีย) ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 9.41
สัญญาที่ 4-1 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ ช่วงสถานีกลางบางซื่อ (กม.11)-ท่าอากาศยานดอนเมือง
ระยะทาง 11.83 กิโลเมตร (7.35 ไมล์) รวมงานปรับปรุงและเชื่อมต่อสถานีท่าอากาศยานดอนเมือง รวมงานโยธาให้ผู้ชนะการประมูลสายเชื่อม 3 สนามบิน (บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด โดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)) เป็นผู้ดำเนินการ
สัญญาที่ 4-2 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กิโลเมตร (13.55 ไมล์) งบประมาณ 10,570 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 0.66
สัญญาที่ 4-3 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กิโลเมตร (14 ไมล์) งบประมาณ 11,525 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง กิจการร่วมค้าซีเอส-เอ็นดับบลิวอาร์-เอเอส (บจ.ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชัน, บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ, บจ. เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1994)) ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 37.50
สัญญาที่ 4-4 งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย งบประมาณ 6,514.4 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 16.57
สัญญาที่ 4-5 งานก่อสร้างคันทางระดับดินและโครงสร้างยกระดับ ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กิโลเมตร (8.26 ไมล์) รวมงานก่อสร้างสถานีอยุธยา งบประมาณ 9,913 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ อยู่ระหว่างกระบวนการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก
สัญญาที่ 4-6 งานก่อสร้างคันทางระดับดินและโครงสร้างยกระดับ ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กิโลเมตร (19.6 ไมล์) งบประมาณ 9,429 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 5.23
สัญญาที่ 4-7 งานก่อสร้างคันทางระดับดินและโครงสร้างยกระดับ ช่วงสระบุรี - แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กิโลเมตร (8.07 ไมล์) รวมงานก่อสร้างสถานีสระบุรี และปรับปรุงสถานีรถไฟแก่งคอย งบประมาณ 8,560 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง บจ. ซีวิลเอ็นจิเนียริง ความคืบหน้าของโครงการร้อยละ 56.67
สัญญา 3-2 งานอุโมงค์ มวกเหล็กและลำตะคอง
สำหรับเหตุการณ์อุโมงค์ถล่มขังแรงงานจีน 2 คนและเมียนมาอีก 1 คนตั้งแต่ช่วงดึกของวันที่ 24 ส.ค.2567 ที่ผ่านมานั้น เมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นบริเวณก่อสร้างของสัญญา 3-2 งานอุโมงค์ มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทางรวม 12 กิโลเมตร ดำเนินการโดยบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) (NWR) ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จร้อยละ 74.06% (ข้อมูล ณ 25 ก.ค.2567) ประกอบด้วย
- ทางยกระดับ ระยะทางรวม 1 กิโลเมตร
- คันทางระดับดิน ระยะทางรวม 3 กิโลเมตร
- งานอุโมงค์ ระยะทางรวม 8 กิโลเมตร
งานอุโมงค์ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่
- อุโมงค์ผาเสร็จ ความยาว 274 เมตร
- อุโมงค์มวกเหล็ก ความยาว 3,400 เมตร
- อุโมงค์หินลับ ความยาว 162 เมตร
- อุโมงค์คลองไผ่ ความยาว 4,100 เมตร
อุโมงค์รถไฟความเร็วสูงเป็นแบบอุโมงค์เดี่ยวทางคู่ รถไฟสามารถวิ่งสวนไปมาได้ อุโมงค์มีความสูง 11.82 เมตร ความกว้าง 13.04 เมตร
อ่านข่าวเพิ่ม :
เอาใจช่วย! อีก 2 เมตรถึงตัวแรงงานอุโมงค์ถล่มคนแรก
ฝนตกดินสไลด์ ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ "ดินถล่ม"
เขื่อนเจ้าพระยาปรับระบายน้ำเป็น 1,118 ลบ.ม.ต่อวินาที
ปล่อยน้ำเข้าทุ่ง "บางระกำ" คาดอีก 1 เดือนน้ำเต็มทุ่ง
อีก 1 เมตร ถึงตัวแรงงานติดอุโมงค์ เตรียม 3 แผนเคลื่อนย้าย