มูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม สานต่อปรัชญา “ก้าวข้ามขีดจำกัด” จัดกิจกรรมค่ายศิลปะประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ศิลปะเพื่อมวลมนุษย์: หลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน” (Art for All: Diversity, Creativity, Sustainability) เปิดมิติแห่งการพัฒนาเยาวชนผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสด้วยศิลปะ บ่มเพาะทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ และประสบการณ์ที่มีคุณค่า ผ่านนวัตกรรมการเรียนร่วมของเหล่าเยาวชนพิการทุกประเภท มุ่งสู่การขับเคลื่อนสังคมไทยที่มีความหลากหลายให้เติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
หลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมเรียนร่วมและปรัชญา “ก้าวข้ามขีดจำกัด”
ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ สมาชิกวุฒิสภา ประธานผู้ก่อตั้งมูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ เปิดเผยว่า มูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ (Art for All) ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดโครงการศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้แนวคิด “ศิลปะเพื่อมวลมนุษย์: หลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน” (Art for All: Diversity, Creativity, Sustainability) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของ “คน” อย่างสร้างสรรค์ สอดรับกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9–11 ส.ค.2567 โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย เยาวชนพิการทุกประเภท ได้แก่ เยาวชนที่มีความบกพร่องด้านสายตา การได้ยิน การเคลื่อนไหว และสติปัญญา รวมถึงเยาวชนที่ไม่พิการ ครูอาจารย์ด้านศิลปะ ผู้ปกครอง อาสาสมัคร และวิทยากรผู้มีชื่อเสียง ศิลปินแห่งชาติ รวมถึงศิลปินจากประเทศสมาชิกอาเซียน ที่มาร่วมบ่มเพาะเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ให้แก่เด็กๆ และเยาวชนผู้มีใจรักในงานศิลปะ ได้เรียนรู้และร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเร่งพัฒนาศักยภาพของตนเอง
กลยุทธ์ที่ใช้ในการหลอมรวมความแตกต่าง ถือเป็นจุดเริ่มต้นและแนวทางสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาวให้กับสังคม ขณะเดียวกันก็มุ่งสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสและนำมาประยุกต์ใช้ในการเสริมสร้างพลังของคนรุ่นใหม่และรองรับการพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์
วธ.หนุน 7 ประเทศอาเซียนร่วมสร้างสรรค์พัฒนาศักยภาพ
สำหรับกระทรวงวัฒนธรรม โดยได้รับมอบหมายจากนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ถือเป็นนโยบายสำคัญในการสานต่อเจตนารมย์ในการนำศิลปะมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนพิการและผู้ด้อยโอกาสอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2567 นี้ ยังเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 57 ปี แห่งการก่อตั้งอาเซียน ทาง วธ. ได้เชิญศิลปินจากประเทศสมาชิกอาเซียน เข้าร่วมจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและรังสรรค์ผลงานศิลปะจำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ภายใต้แนวคิด “ศิลปะเพื่อการรีไซเคิลและการอัปไซเคิลเพื่อความยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน” (The Art of Recycling and Upcycling – towards the Sustainable ASEAN Region) เพื่อส่งเสริมวิธีการจัดการกับขยะหรือสิ่งของเหลือใช้ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานในเชิงศิลปะร่วมกัน โดยการใช้เทคนิคการรีไซเคิลหรืออัปไซเคิล สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดของพลเมืองอาเซียนและแนวปฏิบัติอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ โครงการศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ (Art for All) ได้เปิดตัวสู่สังคมนานาชาติ ด้วยการสนับสนุนจาก วธ. ในการเชิญคณะผู้แทนจากนานาชาติเข้าร่วมค่ายศิลปะเพื่อมวลมนุษย์มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2542 เพื่อเป็นเวทีในการแสดงออก แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของเยาวชนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคมและสร้างเจตคติที่ดีระหว่างกันเพื่อนำสู่สังคมที่มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน สอดรับกับวิสัยทัศน์ ASEAN Vision 2025 ในการทำให้อาเซียนเป็นชุมชนของสังคมแห่งความเอื้ออาทร โดยยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และแสวงหาการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของทุกภาคส่วนในสังคม ตลอดจนนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายในปี ค.ศ.2030 เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันของคนทุกคนในสังคม
ร่วมสร้างสังคมแห่งความเอื้ออาทรด้วยแรงหนุนเสริมเปิดประสบการณ์ที่มีคุณค่า
ด้วยการเสริมพลังและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันให้การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นคนพิการและครอบครัว อาสาสมัครของมูลนิธิ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ทำให้การดำเนินงานของโครงการศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ (Art for All) ได้เปิดโลกทัศน์และเป็นก้าวสำคัญในการสร้างการเปลี่ยน แปลงด้านการพัฒนาศักยภาพคนพิการที่มีคุณค่า และร่วมสร้างสังคมแห่งความเอื้ออาทร
โดยในปีนี้ได้จัดให้มีการมอบรางวัล Art for All 4 ประเภท ประกอบด้วย
1.ประเภทบุคคลต้นแบบ จำนวน 3 รางวัล ได้แก่
- นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)
- นายเอกชัย วรรณแก้ว รองประธานกรรมการมูลนิธิอาร์ตโนแฮนด์
- นางสาวณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ
2.ประเภทพ่อแม่ผู้การุญ จำนวน 3 รางวัล ได้แก่
- รองศาสตราจารย์ปาริชาต ภู่สว่าง
- นางโสภา สุจริตกุล กรรมการมูลนิธิดาวซินโดรมประเทศไทย
- นางภรณี เช้าเจริญประกิจ
3.ประเภทองค์กรแห่งการเกื้อหนุน จำนวน 6 รางวัล
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3
- บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
- หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- บริษัท สลิปโอเค จำกัด
- บริษัท กู๊ด บ๊อกซ์ แพ็ค จำกัด
4.ประเภทจิตพระโพธิสัตว์ จำนวน 3 รางวัล ได้แก่
- ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี
- ดร.เขมนิจ จามิกรณ์ เปรมานนท์
- นายภัทริส ณ นคร
รวมถึงมอบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ทำประโยชน์ให้สังคม จำนวน 6 หน่วยงาน ดังนี้
- มูลนิธิเอสซีจี
- บริษัท สตาร์ปริ๊นท์ จำกัด (มหาชน)
- โรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
- สำนักงานเขตคลองสามวา
- บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
อ่านข่าว :
ข่าวดี! คาดช่วยคนแรกออกอุโมงค์ถล่มไม่เกิน 16.00 น.
สั่งย้าย-สอบโทษวินัย "ปลัดอำเภอ" ทำร้าย พนง.ร้านอาหารสระแก้ว