ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เอาใจช่วย! อีก 2 เมตรถึงตัวแรงงานอุโมงค์ถล่มคนแรก

ภูมิภาค
27 ส.ค. 67
19:59
3,462
Logo Thai PBS
เอาใจช่วย! อีก 2 เมตรถึงตัวแรงงานอุโมงค์ถล่มคนแรก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จนท.เร่งทำงานแข่งกับเวลา ข่าวดี! พบสัญญาณชีพเสถียรมากขึ้น หมายความว่าทั้ง 3 แรงงานยังมีชีวิตอยู่ เร่งขนเหล็กสร้างอุโมงค์เหลืออีก 2 เมตรเจอตัวผู้ประสบภัยรายแรก ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้ การก่อสร้างใช้เครื่องมือไม่เหมาะกับหน้างาน

วันนี้ (27 ส.ค.2567) คนงานเร่งขนเหล็กและอุปกรณ์เข้าไปภายในอุโมงค์ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงคลองขนานจิตร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อนำไปสร้างอุโมงค์เหล็กสำหรับขุดดินเป็นเส้นทางเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุโมงค์ถล่ม ทั้ง 3 คน ซึ่งติดอยู่ด้านในนานกว่า 60 ชั่วโมง

เจ้าหน้าที่กู้ภัยระบุว่าขณะนี้การทำงานจะมีทีมชุดกู้ภัยจากประเทศจีน กู้ภัยการรถไฟ และจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งหลังพบพิกัดที่ผู้ประสบภัยทั้ง 3 คนอยู่ได้วางแผนการเข้าไปช่วยเหลือ โดยลักษณะของผู้ประสบภัยจะอยู่ห่างกัน 3 เมตร 6 เมตร และ 11 เมตร ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้นำเหล็กบีมมาทำเป็นอุโมงค์เพื่อเปิดช่องตักดินเป็นเส้นทางที่จะเข้าไปถึงตัวผู้ประสบภัยซึ่งขณะนี้แล้วเสร็จ 1 เมตรเหลืออีกเพียง 2 เมตร จะถึงตัวผู้ประสบภัย

แต่แม้ตอนนี้ เจ้าหน้าที่จะพบพิกัดของผู้ประสบภัยทั้ง 3 คนที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว แต่การเข้าไปช่วยเหลือยังมีอุปสรรค เพราะดินที่ปิดทับมีเป็นจำนวนมากและบางจุดพบหินขนาดใหญ่ปิดเส้นทาง ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ติดตามภารกิจในการค้นหาผู้ประสบภัย ระบุว่าจากการรายงานของทีมกู้ภัยพบว่าผู้ประสบภัยทั้ง 3 คนยังมีสัญญาณชีพ ทั้งลักษณะอ่อนแรงและปกติ ตอนนี้ต้องทำงานแข่งกับเวลา เนื่องจากผู้ประสบภัยติดอยู่ด้านในนานกว่า 60 ชั่วโมง และขาดน้ำ-อาหาร ตอนนี้ได้กำชับให้การทำงานของทีมกู้ภัยให้ประสานกันเป็นทีมไม่แยกว่าเป็นรัฐหรือเอกชน

สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตอนนี้ได้มีการช่วยเหลือเพียงเส้นทางเดียวคือบริเวณปากทางเข้าอุโมงค์ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จที่อยู่ห่างจากจุดที่ดินถล่ม 1.5 กิโลเมตร บริเวณจุดนี้จะอยู่ห่างจากตัวผู้ประสบภัย 3 และ 6 เมตร ทำให้การค้นหาต้องใช้เวลา เพราะมีกองดินปิดทับและขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการทำอุโมงค์เหล็กค้ำยัน เพื่อตักดินออกเปิดเส้นทางเข้าไปหาผู้ประสบภัย แต่อีกส่วนของปลายอุโมงค์ที่ก่อสร้างและเป็นจุดดินถล่ม แม้จะอยู่ใกล้กับชุดผู้ประสบภัยทั้ง 3 คนเพียง 3 เมตร แต่ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือเพราะมีความชัน

ผู้เชี่ยวชาญไทย-จีน หาวิธีป้องกันดินถล่มซ้ำในอุโมงค์

การช่วยเหลือตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ ผู้รับเหมาจีนตอบสนองวิธีการของผู้เชี่ยวชาญไทย เวลานี้เจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานไม่ง่ายเลย และต้องรวดเร็ว เพราะแม้จะยังมีสัญญาณชีพ แต่บางคนอ่อนแรง

วิธีการที่ถูกพูดถึงใหม่ในวันนี้ คือ การเสนอใช้ "รถแบคโฮ โรบอต" แต่เป็นการบังคับด้วยคน เข้าไปขุดดินเปิดทางเข้าไปยังอุโมงค์ ลดความเสี่ยงดินถล่มลงมาทับร่าง 3 แรงงานในอุโมงค์

โดยคนที่ 1 อยู่ห่างจากจุดดินถล่ม 3 เมตร ฝั่งทางออกอุโมงค์คลองไผ่ ยังมีชีพจรอยู่ คนที่ 2 ห่างจากจุดดินถล่ม 6 เมตร สามารถขยับตัวได้ และคนที่ 3 ห่างจากจุดดินถล่ม 11 เมตรยังมีชีพจรอยู่

ตำแหน่งที่พบทั้ง 3 จุด ตรงกับจุดที่ใช้สุนัขดมกลิ่น แต่บางคนก็เริ่มมีสัญญาณชีพอ่อนแรง แต่เพราะดินยังคงสไสด์ลงมา ทำให้เป็นอันตราย การเข้าไปด้านในยังเป็นโจทย์ ใหญ่เวลานี้

เหตุการณ์นี้เป็นการช่วยเหลือคนติดภายในอุโมงค์ แต่เกิดที่ต่างประเทศ จะใช้บิ๊กแบ็กค้ำยันฐานหินทางเข้า ขุดดินเปิดทางเข้าไป เมื่อเปิดทางช่วยคนแรกได้แล้ว ก็วางแผนขุด-ค้ำยันหินสำหรับช่วยคนในตำแหน่งถัดไป

อีกวิธีการหนึ่งที่เสนอให้ใช้ คือ การใช้คอนกรีตผสมผงเหล็กพ่นไปยังผนังของอุโมงค์เป็นลักษณะการเคลือบไว้ เพื่อไม่ให้ดินสไลด์ ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการ ที่มีความพยายามจะนำมาใช้ เพื่อช่วยชีวิตทั้ง 3 คน

ก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ มีการตรวจสอบคนงานเร่งทำงานกลางคืน มีรถแบคโฮวิ่งเข้าไปในอุโมงค์ เป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญระบุตรงกัน ไม่จำเป็นหากใช้หัวขุด แล้วทำไมถึงทำอย่างนั้น และจะเป็นสาเหตุทำให้ดินถล่มหรือไม่ อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ประภัสร์ จงสงวน ให้คำตอบเรื่องนี้ว่า 

ถ้าใช้อุปกรณ์ตามที่ควรจะเป็น จะไม่เกิดเหตุ ถ้าใช้หัวขุด TBM ไม่มีปัญหาแน่นอน แต่วันนี้ จุดที่ถล่มลงมา ไม่ได้ใช้หัวขุด TBM แต่กลับใช้แบคโฮขุด มันคนละเรื่องกันเลย ถ้าใช้แบคโฮขุด จะเหมือนสมัยก่อนที่ต้องมีการค้ำยัน แล้วถึงค่อยเข้าไปขุดหรือจะระเบิดก็ต้องค้ำยันหมด แต่นี่พวกเขาเข้าไปโดยใช้รถแบคโฮเฉย ๆ ไม่มีสิ่งค้ำยันเลย ก็ไม่ควร หากใช้หัวขุด TBM เรื่องนี้ไม่เกิดแน่นอน

การเร่งรีบก่อสร้างอุโมงค์ เพราะมีการขยายสัญญาการก่อสร้างออกไป 400 วัน กำหนดให้แล้วเสร็จเดือน มิ.ย.2568 อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดดินถล่ม  ตราบใดที่การช่วยเหลือเป็นไปอย่างราบรื่น นั้นก็หมายความว่า โอกาสนำคนที่จะช่วยคนติดอยู่ข้างในออกมาได้มากขึ้น เวลานี้ต้องส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ไทย-จีน หยุดการสไลด์ของดินให้สำเร็จ

อ่านข่าวเพิ่ม :

ปรับแผน มาร์กจุดแบคโฮ เร่งช่วย3 ชีวิตติดอุโมงค์รถไฟความเร็วสูง

เปิดภารกิจทีม USAR Thailand ช่วย 3 ชีวิตติดอุโมงค์ถล่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง