วันนี้ (27 ส.ค.2567) ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข รายงานตัวเลขคลัสเตอร์ยาดองจากการสรุปข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 09.00 น วันนี้มีผู้ป่วยสะสม จำนวน 34 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต เพิ่มอีก 1 คน รวมเป็น 4 คน สำหรับผู้ป่วยที่ยังอยู่ระหว่างการรักษา ต้องใส่ท่อช่วยหายใจจำนวน 15 คน ต้องฟอกไต 22 คน ส่วนผู้ที่มีอาการตาพร่ามัว อยู่ที่ 21 คน
นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยในกลุ่มอาการรุนแรงส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ดื่มสุรามาเป็นเวลานาน ทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรดสูง มีความผิดปกติในการมองเห็น และมีอาการความดันตกและชักเกร็ง
ขณะที่ พญ.มินตรา ตั้งรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านพัฒนาคุณภาพ โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี เปิดเผยว่า ผู้เสียชีวิต 4 คน เป็นผู้ป่วยกลุ่มแรกที่เข้ารับการรักษา ตั้งแต่วันที่ 22-23 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มอาการรุนแรงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ โดยก่อนที่จะเข้ารับการรักษาพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ ตรวจร่างกายพบอวัยวะภายใน เช่น สมอง หัวใจ ได้รับความเสียหายจากการดื่นเมทานอล และผู้มีโรคประจำตัว เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต
ผลตรวจ ยาดองจาก 18 ซุ้ม พบ "เมทานอล" เกินมาตรฐาน
ส่วนความคืบหน้าทางคดี พล.ต.ต.เกียรติกุล สนธิเณร ผบก.น.3 เปิดเผยว่า ได้เชิญแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิทยาศาสตร์เข้ามาให้ความเห็นเกี่ยวกับสารที่ตรวจพบในยาดองที่ยึดมาจาก 18 ซุ้มยาดอง และช่วงบ่ายวันนี้ (27 ส.ค.67) เตรียมเรียกตัว น.ส.ภัสส์รศา หรือ "เจ๊ปู" ผู้ผลิตและผสมยาดองเข้ามาให้ปากคำเพิ่มเติม
ด้าน นางอรสา ทองบุญรอด สรรพสามิต กรุงเทพมหานคร 5 เปิดเผย ผลการตรวจยาดองจาก 18 ซุ้มในเขต กทม. ว่า ส่วนใหญ่พบค่าปริมาณของเมทานอลเกิน 1,000 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าปริมาณของเมทานอลที่พบในเหล้าขาวจากโรงงานในซอยกาญจนา 25 ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างขยายต่อเพิ่มเติมว่าค่าที่เพิ่มขึ้นในยาดองนั้นมาจากไหน
แฟ้มภาพ
ดร.นิตยา โสรีกุล รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยอาการ Methanol intoxication ทั้งหมดมีประวัติดื่มสุราจาก ซุ้มยาดอง โดยทุกรายมีอาการเวียนศีรษะ ไม่มีเรี่ยวแรง ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ตามองไม่เห็น หรือมองเห็นผิดปกติ ชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ซึม และภาวะเลือดเป็นกรด โดยบางรายต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ
ในวันที่ 23 - 24 ส.ค.2567 เจ้าหน้าที่สรรพสามิตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 ได้บูรณาการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.มีนบุรี ร่วมกันสืบสวนจนทราบว่าซุ้มยาดองดังกล่าวได้สั่งซื้อน้ำสุราจากบ้านหลังหนึ่งในเขตสะพานสูง จึงลงพื้นที่ตรวจสอบพบอุปกรณ์และส่วนผสมที่ใช้ผลิตสุราผิดกฎหมายจำนวนมาก อาทิ เอทานอล ถังผสมน้ำสุรา ถุงสำหรับบรรจุสุรา และแกลลอนเปล่า เป็นต้น
จากการตรวจวิเคราะห์สุราของกลาง โดยห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของกรมสรรพสามิต พบว่า น้ำสุรามีเมทานอล และสารไอโซไพรพิล แอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol : IPA) เจือปน โดยผู้ต้องหาให้การว่าได้ผลิตสุราผิดกฎหมายก่อนนำไปขายต่อให้กับกลุ่มผู้ผลิตสุรายาดอง เจ้าหน้าที่สรรพสามิตฯ จึงแจ้งข้อหาร่วมกันผลิตสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันมีไว้เพื่อขายซึ่งสุราที่ผลิตขึ้นตามมาตรา 153 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ก่อนนำตัวพร้อมของกลางไปยัง สน.บางชัน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
นอกจากนี้ จากการสอบสวนยังพบอีกว่า ผู้ผลิตสุราเถื่อนรายดังกล่าวได้มีการส่งขายร้านยาดองในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 18 แห่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้เร่งเข้าดำเนินการตรวจสอบและปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมายสรรพสามิตต่อไป สำหรับผู้ที่มีประวัติดื่มสุราเถื่อนในบริเวณดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง ขอให้สังเกตอาการ หากพบอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์โดยทันที
เปิดซุ้มยาดองเพื่อจำหน่ายสุรา ผิดกฎหมาย
รองอธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การเปิดซุ้มยาดองเพื่อจำหน่ายสุราถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายใน 2 ข้อหา ดังนี้
- ความผิดฐานขายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 155 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
- ความผิดฐานเปลี่ยนแปลงน้ำสุรา โดยนำน้ำ ของเหลว หรือวัตถุอื่นใด เจือปนลงในสุราเพื่อการค้า ตามมาตรา 158 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
นอกจากนี้ กรณีครอบครองเครื่องกลั่นสุราโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 153 วรรคหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากขายสุราเถื่อนดังกล่าวจะมีโทษปรับ ตามมาตรา 191 มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ขณะเดียวกันผู้ซื้อเองก็มีความผิดด้วย ตามมาตรา 192 มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
แฟ้มภาพ
10 เดือน พบคดีซุ้มยาดอง กว่า 284 คดี
ในช่วงเดือน ต.ค.2566 - ก.ค.2567 กรมสรรพสามิตเดินหน้าปราบปรามคดีซุ้มยาดองในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 284 คดี จับน้ำสุราของกลางได้ 1,231.34 ลิตร ปรับเงินกว่า 3.14 ล้านบาท
กรมสรรพสามิตเตือนให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการบริโภคและซื้อสุราที่ไม่มีแสตมป์สรรพสามิต เพราะอาจมีสารอื่นปะปน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพจนถึงขั้นเสียชีวิต
ย้ำเตือนสังเกต ผู้มีประวัติดื่มสุรายาดองใน 18 พื้นที่
ขณะที่กรมการแพทย์ ย้ำเตือนผู้มีประวัติดื่มสุราเถื่อนยาดองในพื้นที่ 18 แห่ง ใน กทม. หรือจากที่อื่น สังเกตอาการตนเองตามระดับความรุนแรง และปฏิบัติตามคำแนะนำ สำหรับ 18 จุด ที่รับสุราผสมเมทานอลไปจำหน่าย ประกอบด้วย 6 เขต คือ
เขตมีนบุรี
- ซอยสามวา1
- ซอยเสรีไทย 95
- ตลาดบางชัน
- หน้าเคหะรามคำแหง
- ตรงข้ามโรงเรียนสุดใจวิทยา (ถนนหทัยราษฎร์)
เขตหนองจอก
- ซอยสุวินทวงศ์ 64
เขตคลองสามวา
- ถนนเจริญพัฒนา (ตลาดกีบหมู)
- ถนนสุเหร่าคลอง 1 ซอย 7 แยก 1
- ถนนสุเหร่าคลอง 1 ซอย 7
- ถนนสุเหร่าคลอง 1 ซอย 9
- ซอยประชาร่วมใจ 19
- ซอยประชาร่วมใจ 43/1
- ซอยนิมิตรใหม่ 9
- ซอยสามวา 11/1
- ซอยหทัยราษฎร์ 33
เขตลาดกระบัง
- ตลาดบึงใหญ่ บัวใหญ่
- ถนนคุ้มเกล้า
เขตประเวศ
- ซอยอ่อนนุช 70
เขตคันนายาว
- ซอยเสรีไทย 38
สังเกตอาการตามความรุงแรง แบ่งเป็น 3 ระดับ
ระดับที่ 1 (ระดับสีเขียว)
- ไม่มีอาการ
คำแนะนำ : อยู่บ้านสังเกตอาการ
ระดับที่ 2 (ระดับสีเหลือง)
- อาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
คำแนะนำ : สังเกตอาการ หากอาการไม่ดีขึ้นให้ไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน
ระดับที่ 3 (ระดับสีแดง)
- การมองเห็นผิดปกติ เช่น เห็นภาพไม่ชัด การมองเห็นภาพต่างจากเดิม ตาพร่า ตามัว เห็นภาพขาวจ้ส แพ้แสง สับสน มองเห็นสีผิดปกติ รวมถึงมีอาการ หอบ เหนื่อย หายใจเร็ว ชัก และ เกร็ง
คำแนะนำ : รีบไปห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใกล้บ้าน
อ่านข่าว : ตายแล้ว 3 คน คลัสเตอร์เหล้าเถื่อน ยอดป่วยพุ่งรวม 31 คน
เตรียมผันน้ำเข้า "บึงบอระเพ็ด" ตัดยอดน้ำเข้าสู่ "เขื่อนเจ้าพระยา"