ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สุโขทัยส่อระทม" เตือนชาวบ้านเตรียมรับมือ "ยอดน้ำยมสูงสุด "

ภัยพิบัติ
26 ส.ค. 67
15:48
372
Logo Thai PBS
"สุโขทัยส่อระทม"  เตือนชาวบ้านเตรียมรับมือ "ยอดน้ำยมสูงสุด "
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ตัวเลข 1,788 ลบ.ม.ต่อวินาที คือ ปริมาณยอดน้ำสูงสุดในลุ่มน้ำยม ที่ อ.วังชิ้น จ.แพร่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่นิ่งมาตั้งแต่ 08.00 – 11.00น. ของวันที่ 26 ส.ค. 2567 และมวลน้ำทั้งหมดนี้ กำลังไหลลงมาที่ จ.สุโขทัย โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 วัน มาถึง อ.ศรีสัชนาลัย และ อ.สวรรคโลก จากนั้นจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 วัน มาถึง อ.เมือง สุโขทัย ที่มีศักยภาพรับปริมาณน้ำได้ 500 ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่านั้น

ในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว (23 ส.ค.2567) คาดการณ์กันว่า น้ำที่ท่วมในตัวเมืองแพร่ ซึ่งวัดได้ที่ 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที น่าจะเป็นยอดน้ำสูงสุดแล้ว และจะลงมาถึง อ.ศรีสัชนาลัย ประมาณ 1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ปรากฏว่าในคืนวันที่ 24 ส.ค. มีฝนตกหนักที่ อ.ลอง และ อ.วังชิ้น ทำให้สถานการ์เปลี่ยนไปแย่ลงกว่าเดิม เพราะมีน้ำเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ จนวันที่ 25 ส.ค. ก็ยังไม่ถึงจุดพีค

จนกระทั่งตัวเลขมาหยุดนิ่งที่ 1,788 ลบ.ม.ต่อวินาที ในเช้าวันนี้ (26 ส.ค.2567) ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก หากเรามองไปถึงศักยภาพในการรับน้ำของพื้นที่ด้านล่าง คือ จ.สุโขทัย

วรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสาร สนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) อธิบายเพิ่มเติมว่า ตัวเลขยอดน้ำสูงสุด จะเป็นตัวเลขสำคัญที่ใช้เป็นหลักในการบริหารจัดการพื้นที่ที่จะต้องรับน้ำต่อไป อย่างในกรณีนี้ พื้นที่รับน้ำถัดไปในลุ่มน้ำยม คือ จ.สุโขทัย ซึ่งมีลำน้ำแคบลงเรื่อย ๆ และมีจุดตัดยอดน้ำออกไปได้เพียงด่านเดียว ที่ประตูระบายน้ำหกบาท ก่อนที่น้ำยมจะผ่านประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ลงมาที่ อ.ศรีสำโรง และ อ.เมืองสุโขทัย ซึ่งลำน้ำแคบลงและมีศักยภาพรับปริมาณน้ำได้น้อยลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้น ตัวเลขยอดน้ำ 1,788 ที่ อ.วังชิ้น จึงเป็นตัวเลขที่บอกได้ว่า ประชาชนที่อยู่ในตัวเมืองสุโขทัยจะต้องเก็บทรัพย์สินมีค่าไปไว้ในที่ปลอดภัยได้แล้ว

"ถ้าดูในแผนที่ เราจะเห็นจุดที่สามารถตัดยอดน้ำออกไปได้ก่อนผ่านประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ คือ บริเวณประตูระบายน้ำหกบาท ซึ่งจะส่งน้ำออกไปที่แม่น้ำยมสายเก่าหนึ่งเส้นทาง และผันไปหาแม่น้ำน่านอีกหนึ่งเส้นทาง ซึ่งหากดูตัวเลขในวันนี้จะพบว่า ได้ตัดยอดน้ำออกไปผ่านทั้ง 2 ทางแล้วถึง 477 ลบ.ม.ต่อวินาที และเป็นตัวเลขที่เกินกว่าศักยภาพของลำน้ำจะรองรับได้ไปมากแล้ว การตัดยอดน้ำออกไปมากยังทำให้เกิดเหตุคันกั้นน้ำพังไปหลายจุด มีประชาชนได้รับผลกระทบเพิ่มไปมากแล้ว ดังนั้น ตัวเลขการตัดยอดน้ำยมออกจากลำน้ำสายหลัก จึงไม่น่าจะทำได้มากกว่านี้อีกแล้ว หรือทำได้มากที่สุดคือประมาณ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที"

ตัวเลขยอดน้ำสูงสุดที่จะลงมาจาก อ.วังชิ้น คือ 1,788 ลบ.ม.ต่อวินาที ถ้าตัดออกไป 500 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่ประตูระบายน้ำหกบาท ก็จะยังเหลือยอดน้ำอยู่ที่ 1,288 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่จะมาถึงประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ซึ่งลำน้ำยมในช่วงท้ายประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ที่ อ.ศรีสำโรง มีความจุลำน้ำรับได้ไม่เกิน 800 ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่านั้น และจากตรงนี้ไปถึงเมืองสุโขทัยมีคลองสาขาต่าง ๆ อีกมากก็จริง แต่มีศักยภาพตัดยอดน้ำรวม ๆ กันได้ไม่เกิน 50 ลบ.ม.ต่อวินาที ดังนั้น ตัวเมืองสุโขทัยที่มีความจุลำน้ำรับได้ไม่เกิน 500 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงเป็นจุดเสี่ยงสำคัญที่จะถูกน้ำท่วม

"ดังนั้นเมื่อเรารู้ตัวเลขยอดน้ำสูงสุดที่ อ.วังชิ้นแล้ว เราวิเคราะห์ได้หมดแล้วว่ามีความสามารถในการตัดยอดน้ำได้แค่ไหน เราก็ควรแจ้งเตือนประชาชนในเมืองสุโขทัยอย่างจริงจัง อย่าคิดว่าพนังกั้นน้ำที่แตกหลายจุดใน อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง แตกแล้ว มวลน้ำจะไม่เข้าเมืองมามาก แม้มวลน้ำจะลดลงไปจริงแต่ยอดน้ำสูงสุดยังมาไม่ถึง อะไรก็ยังเกิดขึ้นได้ เพราะน้ำรอบนี้สูงกว่าหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ควรตระหนักถึงความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเอาไว้ก่อน" วรรธนศักดิ์ ให้ความเห็นทางวิชาการที่สำคัญ

ช่วงเวลาที่สามารถระบุได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่ยอดน้ำถึงจุดสูงสุดของเหตุการณ์นั้นแล้ว ยังเป็นประโยชน์ในการนำมาคำนวณเวลาที่มวลน้ำที่ไหลลงมาถึงพื้นที่ต่อจากนั้น โดยในกรณีของแม่น้ำยม จะสามารถบอกได้ว่า มวลน้ำ 1,788 ลบ.ม.ต่อวินาที จาก อ.วังชิ้น จะมาถึงจุดตัดที่ประตูระบายน้ำหกบาท อ.ศรีสัชนาลัย และไหลมาถึงประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ในช่วงเช้าวันที่ 27 ส.ค.2567 เพราะใช้เวลา 24 ชั่วโมง นับจากช่วงที่ตัวเลขนิ่งคือ 08.00 น.ของวันนี้ (26 ส.ค.67) และในอีก 24 ชั่วโมงหลังจากนั้น มวลน้ำที่ผ่านประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ก็จะไปถึง อ.เมือง สุโขทัย คือ เช้าวันที่ 28 ส.ค.2567

กรมอุตุนิยมวิทยา ยังออกประกาศแจ้งเตือนว่าจะมีฝนตกหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ในวันที่ 26-28 ส.ค.2567 โดยเฉพาะใน 4 จังหวัดที่ถูกน้ำท่วมไปก่อนหน้านี้ คือ เชียงราย พะเยา น่าน และแพร่ รวมทั้งอาจจะมีฝนตกที่ จ.สุโขทัย ในช่วงนี้ด้วย

แม้น้ำท่วม จะมาเร็ว ไปเร็ว ในหลายพื้นที่และหลายจังหวัด ที่มวลน้ำไหลผ่าน และความเสียหายที่เกิดขึ้นนอกจาก ชีวิต ทรัพย์สิน บ้านเรือนแล้ว ในหลายสถานการณ์เหมือนเป็นดั่งฝันร้ายของชาวบ้าน การเตือนภัยเพื่อให้เกิดการป้องกัน และเตรียมพร้อมรับมือ เป็นทางออกที่จะช่วยบรรเทาวิกฤตได้ในขณะนี้

รายงานโดย: สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

อ่านข่าวเพิ่ม :

คันดินแตกน้ำท่วม 4 หมู่บ้าน "ศรีสำโรง" สุโขทัย

เตือน 10 จว.ภาคกลาง-กทม.รับมือน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น 40-80 ซม.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง