- คันดินแตกน้ำท่วม 4 หมู่บ้าน "ศรีสำโรง" สุโขทัย
- เตือน 10 จว.ภาคกลาง-กทม.รับมือน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น 40-80 ซม.
วันนี้ (26 ส.ค.2567) นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุข โพสต์เฟซบุ๊ก วิเคราะห์โอกาสที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ และ ภาคกลาง เหมือนปี 2554 หรือไม่ โดยระบุถึง 4 ปัจจัยที่สำคัญ คือ
1.มวลน้ำจากภาคเหนือไหลลงมา ซึ่งภาคเหนือมีเขื่อนเก็บกักน้ำอยู่ยกเว้นแม่น้ำยมหากฝนตกลงมามากและมวลน้ำมีมากไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.13 ที่ จ.ชัยนาท หากระบายน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยาเฉลี่ย 2,800-3,000 ลบ.ม.ต่อวินาทีจะ ทำให้ จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา มีน้ำท่วมมากขึ้น
หากมีการตรวจวัดที่สถานีสูบน้ำ C.29 ที่สถานีหน้าศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาช่วง จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี ถึง กรุงเทพฯ มีระดับสูงขึ้นเกิน 1 ม.จากปกติน้ำจะล้นตลิ่ง
2.ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ของทุกปีจะมีพายุเข้ามาอย่างน้อย 1-2 ลูกหรืออาจจะมากกว่า หากฝนตกท้ายเขื่อนสิริกิติ์ และ ขื่อนภูมิพล มากโดยเฉพาะภาคกลางและปทุมธานี กทม.ซึ่งช่วงนี้ฝนจะตกแบบ Rain bomb คือ ฝนตกหนักเฉพาะจุดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานมีโอกาสทำให้น้ำไหลเข้าท่วมมากขึ้น
3.ในช่วงเดือน ต.ค.เป็นเดือนที่มีน้ำทะเลหนุน หากการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระ ยาลงสู่คลองต่าง ๆ และอ่าวไทยไม่ได้มากเนื่องจากน้ำทะเลจะทำให้น้ำท่วมนานขึ้น
4.การบริหารจัดการน้ำ การเตรียมตัวของเมืองในการขุดลอกคูคลอง การกั้นตลิ่งการระบายน้ำลงทะเลและการพร่องน้ำจากเขื่อนก่อนซึ่งจะต้องทำแต่เนิ่น ๆ ก่อนน้ำเหนือหลากลงมา
ดังนั้น ปัจจัยที่สำคัญที่น้ำจะท่วมถึง จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี และกรุงเทพฯ ในเดือน ก.ย. และ ต.ค.ก็คือ น้ำเหนือไหลหลาก กับพายุเข้าและฝนตกหนักท้ายเขื่อน น้ำทะเลหนุน การจัดการป้องกันน้ำท่วมไม่ดีไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้ ให้ได้จับตาดูปริมาณน้ำและฝนตกในเดือน ก.ย. และ ต.ค.ให้ดี
ขณะที่นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยก่อนการประชุม ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาประชุม เพื่อรายงานสถานการณ์เพื่อประเมินถึงสถานการณ์กลุ่มฝนที่จะเข้ามาในอนาคตข้างหน้านี้ รวมถึงจะมีการ เร่งรัดโครงการที่ สท.นช. เคยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือน ก.ค. และต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งหมด 2 โครงการ
รวมถึงหาวิธีการในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้ รวมถึงดูเรื่องงบประมาณว่าจะมีส่วนไหนที่นำมาช่วยเหลือประชาชนได้บ้าง
ส่วนงบกลางมาใช้ในการช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมจะเพียงพอหรือไม่นั้น นายจักรพงษ์ ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้เคยแถลงข่าวไปแล้วว่ามีการกันงบกลางต่อสภาฯ ที่มีข้อกังวลต่อการใช้งบกลาง โดยขอยืนยันว่า มีการกันงบกลางในส่วนนี้ไว้แล้วเป็นจำนวนหลายพันล้านบาท เพื่อช่วยเหลือในส่วนนี้โดยเฉพาะ
ส่วนหลักเกณฑ์ในการเยียวยา สำนักปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) จะมีการพิจารณาพิเศษอะไรเป็นหรือไม่ ต้องพูดคุยเพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนว่าเป็นอย่างไร และ มีประชาชนเดือดร้อนมากน้อยแค่ไหน จึงขอหารือกันก่อน และจะมีการแถลงความชัดเจนต่อไป
ส่วนมีการประเมินหรือไม่ว่าน้ำจะมากเท่าปี 2554 นายจักรพงษ์กล่าวว่า จากข้อมูลเบื้องต้น ปีนี้ปริมาณน้ำไม่เท่ากับปี 54 แน่นอน แต่วันนี้ได้เชิญกรมอุตุนิยมวิทยามาร่วมประเมินสถานการณ์ให้มีความแน่นอนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ข้อมูลอัพเดทที่สุด
ขณะที่ข้อเรียกร้องของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการแจ้งเตือนสถานการณ์ที่ล่าช้า รวมถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากทั้ง 2 หน่วยงานมีระบบแจ้งเตือนอยู่แล้ว ซึ่งตนจะมีการกำชับไปอีกครั้ง
ขณะที่การแก้ไขปัญหาจากอินเทอร์เน็ต เบื้องต้นกระทรวงดิจิตอลและเศรษฐกิจเพื่อสังคม อาจจะมีการนำอุปกรณ์ลงไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยการเพิ่มรถโมบายเพื่อส่งสัญญาณชั่วคราวในภารกิจเฉพาะ
โดยเริ่มการประชุม กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการรายงานสถานการณ์สภาพอากาศ ว่าในสัปดาห์นึ้มีแนวโน้มว่าร่องมรสุมจะขยับมาที่ภาคเหนือ จึง ตอนล่าง ภาคอีสาน และภาคกลาง จึงทำให้สอง ถึงสามวันนี้จะมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง และพื้นที่ที่มีแนวโน้มฝนตกเพิ่มขึ้นคือในพื้นที่ภาคใต้ ฝั่งตะวันออก รวมไปถึงภาคตะวันออก จึงต้อง เฝ้าระวังในช่วงสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะเพราะในพื้นที่น้ำท่วมภาคเหนือที่จะตกลงมาซ้ำ
อ่านข่าว : ใกล้จุดพีค! พระ-เณรลุยช่วยชาวบ้านทำคันดินกั้นน้ำยมแตก
เตือน 10 จว.ภาคกลาง-กทม.รับมือน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น 40-80 ซม.
สภาพอากาศวันนี้ ไทยมีฝนเพิ่ม "เหนือ - ใต้" ฝนตกหนักมากบางพื้นที่