วันนี้ (24 ส.ค.2567) ระดับน้ำโขงที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ระดับน้ำอยู่ที่ 11.80 เมตรไหลแรง มีสีขุ่นแดง และมีเศษซากกิ่งไม้ ท่อนไม้ ไหลมากับน้ำปริมาณมาก ซัดกระชัง โป๊ะแพต่าง ๆ ที่อยู่ริมน้ำโขงเสียหาย โดยเฉพาะบริเวณจุดผ่อนปรนชั่วคราวบ้านหม้อ เริ่มมีน้ำเอ่อล้นท่วมถนนริมตลิ่ง
ชาวบ้านปากมาง ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ น้ำโขงไหลเข้าพื้นที่การเกษตร ชาวบ้านต้องเร่งกรอกกระสอบทรายเสริมแนวป้องกันด้วยการปิดปากท่อระบายน้ำ เพราะบ้านปากมางเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ แอ่งกระทะ มีลำห้วยสาขาของแม่น้ำโขง ทำให้ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม
ส่วนน้ำชี ที่ จ.ยโสธร โดยเฉพาะที่เขื่อนยโสธร-พนมไพร เจ้าหน้าที่แขวนประตูระบายน้ำทั้ง 8 บาน เร่งระบายน้ำชีลงสู่ท้ายเขื่อน เพื่อรองรับมวลน้ำเหนือที่จะไหลลงมา ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลาง ก็มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ทำให้จังหวัดออกหนังสือแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในระหว่างวันที่ 24-30 ส.ค.นี้ พร้อมกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจจุดเสี่ยง
ชาวบ้านท้ายเขื่อนเร่งย้ายสิ่งของรับมือน้ำท่วม
นายคงศักดิ์ วัฒนะโชติ ชาวชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ ม.5 ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์การน้ำท่วม ด้วยการขนย้ายสิ่งของ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไว้บนชั้น 2 ของตัวบ้าน ไก่ที่เลี้ยงไว้ 10 ตัว นอกจากนี้ยังมีเรืออีก 3 ลำ เตรียมไว้เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน หากเกิดน้ำท่วม ซึ่งมั่นใจว่าปีนี้น้ำท่วมบ้านอย่างแน่นอน
ขณะที่สำนักงานชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ออกหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ ฉบับที่ 3 ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด ประกอบด้วย อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และ ลพบุรี เพราะปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ ให้อยู่ในเกณฑ์ 500-700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระหว่างวันที่ 24-30 ส.ค.นี้ ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อน ตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ไปจนถึง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำสูงขึ้น 1-1.2 เมตร และขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ล่าสุดเพิ่มการระบายน้ำ จากเมื่อวาน 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขึ้นเป็น 560 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดไปจนถึงเกณฑ์ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามแผนการจัดการน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างในลำน้ำเหนือเขื่อน รองรับมวลน้ำเหนือที่เริ่มไหลหลากลงสู่ภาคกลาง ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนสูงขึ้น 30-50 เซนติเมตร ใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า
สทนช. ส่งถึงหนังสือด่วนถึง MRCS
วันนี้ (24 ส.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำโขงในหลายพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
สทนช. จึงได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ศึกษา วิเคราะห์ เพิ่มเติม โดยเฉพาะการวิเคราะห์แนวโน้ม คาดการณ์ วัน เวลา และปริมาณน้ำสูงสุด (Peak) และการสิ้นสุดของสถานการณ์ ณ สถานีต่าง ๆ ตามแนวแม่น้ำโขง 8 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ จ.เชียงราย เลย นครพนม หนองคาย มุกดาหาร บึงกาฬ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
โดยให้รายงานผลการดำเนินงานและมีการประสานงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเสนอแนวทางและมาตรการให้ประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ได้ทราบและช่วยกันดำเนินการร่วมกันทุกฝ่าย
นอกจากนี้ยังขอให้ MRCS ประสานงานกับประเทศลาว เพื่อช่วยในการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เพื่อบรรเทาผลกระทบและให้ระดับน้ำลดลงจากการล้นตลิ่งของแม่น้ำโขง พร้อมทั้งให้ประสานงานกับจีน เพื่อแจ้งสถานการณ์ในปัจจุบันของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เพื่อให้จีนชะลอการปล่อยน้ำและบริหารจัดการน้ำในเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน ตลอดจนติดตามสถานการณ์การให้ข้อมูลเพื่อประกอบการแจ้งเตือนและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนริมโขงให้มากที่สุด
โดย สทนช. จะมีการติดตามสถานการณ์น้ำและประสานงานร่วมกับ MRCS อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขงให้ได้มากที่สุด
อ่านข่าวเพิ่ม :
ศธ. เร่งช่วยครู-นร. น้ำท่วมกระทบ "น่าน" หนักสุด 40 โรงเรียน
ต้องรู้! "เมทานอล" จากยาดอง-เหล้าเถื่อน อันตรายถึงตายได้
ยุติค้นหา! สรุปผู้เสียชีวิตดินสไลด์ภูเก็ต 13 คน - เร่งฟื้นฟูพื้นที่