ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เช็กก่อน! เตือนระวังภัย 4 ข่าวปลอมเกี่ยวกับ "ฝีดาษลิง"

ต่างประเทศ
23 ส.ค. 67
07:06
1,073
Logo Thai PBS
เช็กก่อน! เตือนระวังภัย 4 ข่าวปลอมเกี่ยวกับ "ฝีดาษลิง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ยืนยันความพร้อม ความต้องการวัคซีน "ฝีดาษลิง" ที่ระบาดระลอกนี้ ซึ่งวัคซีนยังคงเป็นการป้องกัน MPox ท่ามกลางข่าวปลอมเกี่ยวกับยารักษาและต้นตอการระบาดต่าง ๆ ที่ผูกโยงกับโควิด-19 ขณะที่ในแอฟริกายังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2567 กระทรวงสาธารณสุขบุรุนดี เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อเอ็มพอกซ์หรือฝีดาษลิงแล้ว 171 คน นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อในประเทศรายแรกเมื่อเดือนที่แล้ว ในจำนวนนี้ 197 คนยังอยู่ระหว่างการรักษา แต่ทั้งหมดยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต ขณะที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเปิดเผยว่าผู้ติดเชื้อที่พบอาจจะเป็นผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่หรือ Clade 1B ที่ระบาดอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลกระบุว่า Clade 1B มีอัตราการเสียชีวิตราวร้อยละ 3.6 โดยเด็กมีความเสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่า

ขณะที่ Bavarian Nordic บริษัทยาจากเดนมาร์ก ผู้ผลิตวัคซีนเอ็มพอกซ์ เปิดเผยว่า เวลานี้ทางบริษัทพร้อมจัดส่งวัคซีนมากกว่าเมื่อปี 2565 โดยมีวัคซีนที่ผลิตอยู่ในคลังแล้วประมาณ 500,000 โดส และจะพร้อมผลิตได้รวม 10 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2568

การระบาดของโรคที่สร้างความตื่นตระหนกให้คนจำนวนมากมักนำมาซึ่งกระแสข่าวปลอม โดยเฉพาะหลังองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก ข่าวปลอมที่แพร่อยู่บนโลกออนไลน์และอาจจะได้เห็นผ่านตากันบ้าง "เหล่านี้ไม่เป็นความจริง"

เตือนภัยเฝ้าระวังข่าวปลอม "เอ็มพอกซ์" 

1.เอ็มพอกซ์ ไม่ได้เชื่อมโยงกับโรคงูสวัด หรือ วัคซีนโควิด-19 

Wolfgang Wodarg แพทย์ขาวเยอรมันที่มีแนวคิดต่อต้านวัคซีน เผยแพร่วิดีโอทางออนไลน์ อ้างว่าเอ็มพอกซ์กับงูสวัด อาการเหมือนกัน และแพร่กระจายมาจากวัคซีนโควิด-19 โดยยังกล่าวหาวงการบริษัทยาว่าทำให้คนหวาดกลัวเพื่อหากำไรจากวัคซีน ข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง

ข้อเท็จจริงคือ เอ็มพอกซ์พบครั้งแรกตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก พบมานานมาก่อนโลกจะมีโควิด-19 หรือวัคซีนโควิด-19 ไวรัสนี้เป็นตระกูลเดียวกับฝีดาษและอีสุกอีใส ส่วนงูสวัดเป็นไวรัสตระกูล Herpes อาการก็ต่างกัน เพราะงูสวัดจะทำให้เกิดแผลที่เล็กกว่า แต่เจ็บปวด

2. โรคนี้ไม่มียาวิเศษรักษา

มีทฤษฎีสมคบคิดที่แพร่หลายตั้งแต่การระบาดรอบก่อน 2565 ที่นักวิจัยชาวฝรั่งเศสเป็นผู้เผยแพร่ โดยบอกว่า มียารักษาเอ็มพอกซ์ที่มีประสิทธิภาพมาก ๆ แล้ว เป็นยาของญี่ปุ่น ชื่อยา Tranilast แต่ไม่นำไปขายในยุโรปเพราะราคาถูกมาก  ข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง

ข้อเท็จจริงคือ Tranilast ยาที่ผ่านการรับรองเมื่อปี 2525 ในญี่ปุ่นและจีน เป็นยาใช้รักษาโรคหอบหืด และไม่เคยผ่านการทดสอบในมนุษย์เพื่อใช้รักษาเอ็มพอกซ์แต่อย่างใด การรับมือไวรัสตัวนี้คือการฉีดวัคซีนและสร้างความเข้าใจในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงแยกกักโรคผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ เหมือนที่ทำสำเร็จมาแล้ว 2565

3. เอ็มพอกซ์ไม่ได้ติดได้เฉพาะกลุ่มชายรักชาย

กระแสหนึ่งที่พบมากในสื่อออนไลน์ต่างประเทศคือ การกล่าวหาว่ากลุ่มเสี่ยงโรคนี้คือกลุ่มชายรักชาย ข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง

ข้อเท็จจริงคือ ไม่มีโรคใด ๆ ที่จะติดต่อโดยมีเรื่องเพศเป็นข้อจำกัด แต่การแพร่ระบาดเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ถูกเนื้อต้องตัว เพราะไวรัสจะอยู่ของเหลวที่อยู่ในแผลของผู้ติดเชื้อ และการระบาดผ่านมา คนทั่วไปไม่ว่าจะเพศอะไรที่มีคู่หลายคน ก็จัดเป็นกลุ่มที่ทำให้การระบาดเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2566 ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกด้วย

4. องค์การอนามัยโลกไม่ได้สั่งล็อกดาวน์

นักทฤษฎีสมคบคิดบางส่วนกลุ่มกล่าวหาว่าโรคระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นแผนการที่วางไว้แล้วโดยองค์การอนามัยโลกและมีบริษัทยายักษ์ใหญ่อยู่เบื้องหลัง ข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง

ข้อเท็จจริงคือ องค์การอนามัยโลกไม่สามารถสั่งปิดเมืองหรือล็อกดาวน์ได้ และไม่มีอำนาจสั่งการประเทศใด ๆ ทุกประเทศมีอธิปไตยจัดการและใช้นโยบายต่าง ๆ เอง โดยองค์การอนามัยโลกเพียงให้คำแนะนำ และเวลาไม่มีการแนะนำให้รัฐบาลประเทศใดก็ตามเตรียมการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่เพราะการระบาดของเอ็มพอกซ์แต่อย่างใด

อ่านข่าวอื่น :

คนแรกในไทย! ชายชาวยุโรปฝีดาษลิง "สายพันธุ์ Clade 1B"

เช็กอาการฝีดาษลิงสายพันธุ์ "Clade 1B " ใครกลุ่มเสี่ยง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง