วันนี้ (22 ส.ค.2567) นายภูมิธรรม เวชยชัย ปฎิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย แถลงภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือที่กรมชลประทานว่า ขณะนี้มีน้ำท่วมในพื้นที่ จ.เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา สุโขทัย แต่จากข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิตต์ จ.อุตรดิตถ์ ยังมีปริมาณน้ำเก็บกักเพียง 60% รองรับน้ำได้อีก 40% หากไม่มีฝนตกลงอีก 2-3 วันจะเริ่มคลี่คลาย
โดยเฉพาะน้ำท่วมเชียงราย ยังน่าเป็นห่วงเนื่องจากปริมาณฝนตกสูงถึง 200 มม.ถือว่าเป็นระดับที่อันตราย และฝนมีโอกาสตกต่อเนื่องอีก 2 วันจากร่องมรสุมพาดผ่าน
นายภูมิธรรม เวชยชัย ปฎิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย
นายภูมิธรรม กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กระทรวงมหาดไทย ตั้งศูนย์วอร์รูมระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าฯ ราชการจังหวัดเป็นคนกลาง ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเปิดช่องว่าหากมีน้ำท่วมแล้วให้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ และจะประสานเบิกจ่ายงบประมาณกลางมาใช้ในการแก้ปัญหาได้เร็ว
ขณะนี้ มอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส พร้อมด้วยกรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ใน 2 จังหวัดที่วิกฤตพรุ่งนี้ (23 ส.ค.) โดยกรมชลประทานให้เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำและไล่มาจนถึงลุ่มเจ้าพระยา ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ หากพบโรงเรียนเสี่ยงให้พิจารณาสังปิดเรียนได้ทันที
ชาวบ้านฝ่าฝนออกมาขอความช่วยเหลือน้ำท่วม
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับกระทรวงคมนาคม พบว่าบางส่วนที่มีน้ำหลาก และถนนกีดขวางทางน้ำตัดขาด ก็ให้พิจารณาเจาะระบายน้ำและหาสะพานแบริงมาช่วยการคมนาคม รวมทั้งให้กระทรวงพานิชย์ ต้องป้องกันไม่ให้ข้างของอุปโภคบริโภคขาดตลาด และราคาสินค้าต้องไม่แพงซ้ำเติมประชาชน
จุดวิกฤตตอนนี้ ส่วนหน้าคือที่สุโขทัย มีการเก็บข้อมูล ใช้โดรนในการสแกนพื้นที่ จุดไหนที่จะอพยพชาวบ้าน เพราะลุ่มน้ำยมไม่มีจุดระบายน้ำ ยืนยันว่าไม่ใช่รัฐบาบรักษาการแล้วจะเกิดช่องว่าง
ภาพมุมสูงน้ำท่วมย่านเศรษฐกิจ อ.เทิง จ.เชียงราย
ยัน "เอาอยู่" น้ำเหนือคุมไม่ให้ถึงลุ่มเจ้าพระยา
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวถึงแผนระบายน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือว่า ปริมาณน้ำยมตอนนี้มีอัตรา 1,600-1,700 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ต้องควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้เกิน 1,300 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงได้เร่งระบายน้ำยมซ้าย ขวา และตัดยอดน้ำเหนือ เพื่อไม่ให้ลงมาถึงลุ่มเจ้าพระยา
โดยการบริหารจัดการน้ำเหนือใน อ.เชียงม่วน ปง ภูซาง จ.พะเยา จะระบายลงไปพื้นที่เชียงราย เพื่อตัดน้ำลงแม่น้ำอิง และระบายลงแม่น้ำโขง โดยพื้นที่พะเยา น่าน แพร่ ที่ประสบสบน้ำหลาก พอมาเข้าสู่ลำน้ำยม ตอนนี้บริหารจัดการน้ำโดยการระบายน้ำจากแพร่ อ.สอง มาที่หาดสะพานจันทร์ จ.สุโขทัย ใช้เวลา 2-3 วันต้องระบายน้ำออกไม่เกิน 1,300 ลบ.ม.วินาที
ปีที่แล้วเราเอาอยู่เพราะระบายน้ำ ออกซ้าย-ขวา ไม่ให้ลงมาถึงเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อคุมสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ถ้ามว่าเอาอยู่หรือไม่ เราจะทำให้ดีที่สุด
นายภูมิธรรม ยืนยันว่าขอประชาชนอย่าตระหนกตกใจ และตอนนี้จากการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทานดำเนินการได้ ยืนยันว่าตอนนี้เป็นน้ำหลากมาจากร่องมรสุม ไม่ใช่พายุเข้าไทย ทุกฝ่ายออกไปทำงานแล้วสถานการณ์จะดีขึ้นยังอยู่ในศัยกภาพที่รับมือได้