- ผู้เชี่ยวชาญเตือน "ไทย" เตรียมรับมือ "ฝีดาษลิง" สายพันธุ์ใหม่
- 30 บาทรักษาทุกที่ ขยายดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อยเพิ่มเป็น "32 กลุ่มอาการ"
วันนี้ (21 ส.ค.2567) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวกรณีพบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1 คนแรกในประเทศไทย
อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า การแถลงข่าววันนี้ไม่ใช่การยืนยันว่าพบผู้ป่วยฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1B แต่เป็นผู้ป่วยต้องสงสัยฝีดาษลิงเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ยืนยัน 100% แต่ค่อนข้างเชื่อได้ว่าอาจจะเป็นฝีดาษลิง
ผู้ป่วยคนดังกล่าวเป็นชาวยุโรป เพศชาย อายุ 66 ปี เดินทางมาจากประเทศในแถบแอฟริกาที่พบการระบาดของฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1B โดยมีการต่อเครื่องในประเทศแถบตะวันออกกลาง ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 18.00 น.
จากนั้นวันที่ 15 ส.ค. ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ มีตุ่มขึ้นเล็กน้อยจึงเดินทางไปโรงพยาบาล เมื่อโรงพยาบาลซักประวัติได้มีการตรวจฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 2 ปรากฏผลลบ ส่วนการตรวจสายพันธุ์ Clade 1B ปรากฏว่าผลไม่ชัดเจน โดยมีการตรวจยืนยันอีกว่าใช่ฝีดาษลิงหรือไม่ด้วยการใช้ยีนส์ ซึ่งพบว่าเป็นฝีดาษลิงอย่างแน่นอน แต่ขณะนี้ยังไม่ใช่สายพันธุ์ Clade 2 ส่วนสายพันธุ์ Clade 1B ก็ยังไม่ชัดเจน จึงต้องมีการไล่ยีนส์ตรวจซ้ำอีกครั้งว่าใช่สายพันธุ์ Clade 1B หรือไม่
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า แม้ผลตรวจจะยังไม่ชัดเจน 100% แต่การควบคุมป้องกันโรคต้องให้ข้อมูลกับประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจและลดความตื่นตระหนก ขณะที่กรมควบคุมโรคมีระบบติดตามผู้สัมผัสหรือผู้ที่นั่งใกล้กับผู้ป่วยคนดังกล่าวบนเครื่องบิน เพื่อติดตามสอบสวนโรค ขณะนี้มีรายชื่อทั้งหมดแล้ว 43 คน โดยมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งต้องเฝ้าระวังติดตามอาการไปอีก 21 วัน
ผู้ป่วยไม่มีอาการรุนแรง คาดว่าวันที่ 23 ส.ค.นี้จะสามารถยืนยันผลการตรวจได้ 100% หากผลการตรวจยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์ 1B ก็จะถือว่าเป็นผู้ป่วยคนแรที่พบในประเทศไทยสำหรับสายพันธุ์ 1B
อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า ฝีดาษลิงมีหลายสายพันธุ์เหมือนไข้หวัดใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าสายพันธุ์ใดระบาด โดยในปี 2565 มีการระบาดของสายพันธุ์ Clade 2 ซึ่งในประเทศไทยก็พบการระบาดของสายพันธุ์นี้ตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบันประมาณ 800 คน
ส่วนในปี 2567 ตั้งแต่ต้นปีก็พบฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 2 ประมาณ 140 คน แต่เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1B เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ก็อาจจะมีผลกระทบได้ ซึ่งถือเป็นการตอบสนองของประเทศไทยหลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศไว้
สำหรับสายพันธุ์ที่มีการระบาดในทั่วโลกขณะนี้แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ Clade 1 หรือสายพันธุ์แอฟริกากลาง ที่มีความรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิต พบการระบาดในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออกเป็นหลัก มีอัตราการป่วยตายสูง โดยพบกลุ่มเสี่ยงเป็นเด็กและผู้สูงอายุ
และสายพันธุ์ Clade 2 หรือสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในไทยและหลายประเทศทั่วโลก
อ่านข่าว
อนามัยโลกชี้ "เอ็มพอกซ์" ไม่ระบาดรุนแรงเท่าโควิด-19