อนามัยโลกชี้ "เอ็มพอกซ์" ไม่ระบาดรุนแรงเท่าโควิด-19

ต่างประเทศ
21 ส.ค. 67
06:53
917
Logo Thai PBS
อนามัยโลกชี้ "เอ็มพอกซ์" ไม่ระบาดรุนแรงเท่าโควิด-19
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า "เอ็มพอกซ์" ไม่น่าวิตกกังวลเท่าโควิด-19 หลังทยอยพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอ็มพอกซ์ หรือฝีดาษลิง นอกแอฟริกา

เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2567 Hans Kluge ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคยุโรป ระบุว่า เอ็มพอกซ์ หรือฝีดาษลิง ทั้งสายพันธุ์เก่าและสายพันธุ์ใหม่ จะไม่ระบาดรุนแรงเท่าโควิด-19 เนื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรู้วิธีการควบคุมการแพร่ระบาดแล้ว

Kluge กล่าวอีกว่า ทั่วโลกสามารถและต้องจัดการกับเอ็มพอกซ์ไปด้วยกัน และการรับมือในขณะนี้และอีกหลายปีต่อจากนี้จะเป็นบททดสอบสำคัญของยุโรปและทั่วโลก

ขณะนี้ทั่วโลกกำลังวิตกกังวลกับการแพร่ระบาดของเอ็มพอกซ์สายพันธุ์เคลด 1บี ซึ่งรุนแรงกว่าและระบาดได้ง่ายกว่าผ่านการสัมผัสใกล้ชิด ซึ่ง Kluge ระบุด้วยว่า การมุ่งเน้นจัดการไปที่ไวรัสสายพันธุ์นี้จะช่วยในการรับมือกับสายพันธุ์เคลด 2 ที่รุนแรงน้อยกว่า แต่พบการระบาดไปทั่วโลกมาแล้วเมื่อปี 2022 และขณะนี้พบผู้ป่วยเอ็มพอกซ์สายพันธุ์เคลด 2 ในยุโรป ประมาณ 100 คนต่อเดือน

เชื้อไวรัสเอ็มพอกซ์จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดและเกิดแผลพุพองตามร่างกาย แต่อาการป่วยเพียงเล็กน้อยอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ส่วนการแพร่ระบาดเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ทั้งการสัมผัสผิวหนัง พูดคุยหรือหายใจใกล้ชิดกัน รวมถึงเพศสัมพันธ์

องค์การอนามัยโลกอนุมัติให้ใช้วัคซีนเอ็มพอกซ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ที่พบการระบาดใช้วัคซีนเพื่อรับมือกับเชื้อไวรัสดังกล่าว นอกจากนี้ยังช่วยให้กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และ Gavi ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านวัคซีน จัดหาวัคซีนและเร่งส่งมอบวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพให้ถึงมือผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว

อ่านข่าว

รายแรก! "ฝีดาษลิง" ในฟิลิปปินส์ ไม่มีประวัติเดินทางนอกประเทศ

"สวีเดน" พบคนแรกติดเชื้อ "เอ็มพอกซ์" นอกแอฟริกา

WHO ประกาศ "ฝีดาษลิง" ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง