โรงเรือนแพะของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรเสรีวิถีชุมชนในตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ มีสภาพทรุดโทรม แพะที่เคยมีกว่า 60 ตัว เหลือเพียง 6 ตัว เป็นหนึ่งในความล้มเหลวของโครงการแพะ แกะ ล้านนา ของกรมปศุสัตว์ ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2563 หลังพบว่าแพะพ่อแม่พันธุ์ที่ได้รับ ไม่สมบูรณ์ มักแท้งลูกในช่วงท้ายของการตั้งท้อง และ แพะที่เหลือก็ทยอยตายจนเกือบหมด

โชคสกุล มหาค้ารุ่ง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรเสรีวิถีชุมชน
โชคสกุล มหาค้ารุ่ง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรเสรีวิถีชุมชน
โชคสกุล มหาค้ารุ่ง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรเสรีวิถีชุมชน บอกว่าโครงการแพะ แกะ ล้านนา ริเริ่มขึ้นโดยสภาเกษตรกรแห่งชาติจังหวัดลำพูน ชักชวนเกษตรกรในจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ และ ลำปาง ร่วมเพาะเลี้ยงแพะหวังเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ก่อนที่กรมปศุสัตว์จะเข้ามาเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 45 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ยืมให้วิสาหกิจชุมชนและเกษตรกร 220 ราย รายละ 2 แสนบาท เพื่อปรับปรุงโรงเรือน และ ซื้อแพะ รวมทั้งเงินจ่ายขาดให้กรมปศุสัตว์จัดการฝึกอบรมเกษตรกร อีก 1 ล้าน 3 แสนบาท

แต่พ่อแม่พันธุ์แพะที่เกษตรกรได้รับรายละ 21 ตัว กลับไม่สมบูรณ์ มักแท้งลูก ทยอยตายด้วยโรคพยาธิ มีลักษณะของภาวะเลือดชิด หรือ เป็นหมัน และ ผลการตรวจเลือดจากห้องปฏิบัติการก็พบว่าติด "เชื้อโรคบรูเซลโลซิส" หรือ "โรคแท้งติดต่อ" ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีเงินส่งคืนกองทุนฯ จึงเรียกร้องให้ยกเลิกหนี้ที่เกษตรกรกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพราะต่างมีอายุมากแล้ว และ ไม่ต้องการสร้างภาระให้แก่ลูกหลาน

ล่าสุดเกษตรกรได้รับหนังสือทวงหนี้ งวดที่ 3 และ มีข้อเสนอปศุสัตว์จังหวัดในการจัดหาวัว พันธุ์ปลา หรือ พืช แต่เกษตรกรเห็นว่าเป็นการยื้อปัญหา
สาเหตุ คือแพะที่ได้มาไม่สมบูรณ์ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ เกษตรกรได้แจ้งให้ทางกรมปศุสัตว์รับทราบ ตั้งแต่ปี 2563 แต่ไม่ได้รับความสนใจจึงเกิดปัญหาบานปลายมาถึงปี 2567 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโครงการ
ไม่ต่างจากโรงเรือนเลี้ยงแพะ และ แปลงหญ้า หลายสิบไร่ที่ถูกทิ้งร้างของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน เกษตรกรบางรายแม้เป็นผู้เลี้ยงแพะที่มีประสบการณ์ได้รับรางวัลจากการประกวดแพะมาแล้ว แต่แพะที่ได้รับซึ่งไม่สมบูรณ์ ทำให้แพะเดิมที่เลี้ยงไว้พลอยติดโรค และ ทยอยตายจนไม่เหลือแม้แต่ตัวเดียว

ส่วนที่ ฟาร์มแพะ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะอำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ในหมู่บ้านดงหนอกจอก ตำบลเสริมซ้าย แม้จะมีการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน แต่พ่อแม่พันธุ์แพะ ก็มีมักแท้งลูก และ ทยอยตาย จนเหลือแพะเพียง 3 ตัว

เวทกา แสนประเสริฐ ประธานกลุ่มวิสาหกิจกลุ่มผู้เลี้ยงแพะ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง
เวทกา แสนประเสริฐ ประธานกลุ่มวิสาหกิจกลุ่มผู้เลี้ยงแพะ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง
เวทกา แสนประเสริฐ ประธานกลุ่มวิสาหกิจกลุ่มผู้เลี้ยงแพะ อำเภอเสริมงาม บอกว่า แม้โครงการนี้จะมีคู่มือการเลี้ยงระบุให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้าควบคุมดูแล แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น ที่สำคัญคือไม่มีการตรวจเชื้อโรคบรูเซลโลซิสในช่วงเดือนแรกตามระยะเวลารับประกันพันธุ์แพะ จนเมื่อแพะทยอยตาย จึงนำตัวอย่างไปตรวจที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน จังหวัดลำปาง และ พบว่าแพะจำนวน13 ตัว ของสมาชิก มีผลการตรวจเชื้อโรคบรูเซลโลซิสเป็นบวก

กลุ่มผู้เลี้ยงแพะ 3 จังหวัด ยืนยันว่าเกษตรกรเป็นผู้เสียหาย หลักฐานสำคัญก็คือเอกสารการตรวจสอบตัวอย่างแพะที่พบว่าติดเชื้อ บรูเซลล่า ซึ่งกำลังสร้างความกังวลแก่ชาวบ้าน เพราะเชื้อนี้สามารถติดสู่คนได้ จากทางน้ำเมือก น้ำลาย หรือ เลือด และ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลตรวจอยู่
ผศ.สพ.ญ.พชรพร ตาดี รองคณบดีคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อธิบายว่าโรคแท้งติดต่อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า บรูเซลล่า ถือเป็นโรคระบาดสำคัญที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ ทำให้เกิดภาวะแท้งในช่วงสุดท้ายของการตั้งท้อง และ ลูกอาจจะเกิดมาไม่สมบูรณ์

ผศ.สพ.ญ.พชรพร ตาดี รองคณบดีคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี ม.แม่โจ้
ผศ.สพ.ญ.พชรพร ตาดี รองคณบดีคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี ม.แม่โจ้
จุดที่พบการระบาด ก็ยังอาจมีเชื้อตกค้างในพื้นที่ได้นานหลายเดือน จึงต้องมีการพักคอก และ ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และ เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ยังเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ด้วย
ปัญหาที่เกิดจากพ่อแม่พันธุ์แพะที่ไม่สมบูรณ์ และ เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ไม่ปฏิบัติตามคู่มือปล่อยให้เกษตรกรเผชิญปัญหาจนโครงการล้มเหลว นอกจากเกษตรกรจะร้องเรียนไปยังกรมปศุสัตว์แล้ว ยังได้ร้องเรียน สส.ในพื้นที่ เพื่อนำไปหารือในรัฐสภา

ประเชิญ สมศักดิ์ ทีมงาน ส.ส.จังหวัดลำพูน
ประเชิญ สมศักดิ์ ทีมงาน ส.ส.จังหวัดลำพูน
ประเชิญ สมศักดิ์ ทีมงาน ส.ส.จังหวัดลำพูน เปิดเผยว่าหลังได้รับร้องเรียน ทีมงานได้ลงพื้นที่ดูปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ พบว่าเกษตรกรเดือดร้อนจริง แพะในโครงการตายเกือบทั้งหมด โดยทาง สส. ได้ตั้งกระทู้หารือในการประชุมรัฐสภาแล้ว และ อยู่ระหว่างรอคำชี้แจงจากทางผู้รับผิดชอบ

บทเรียนจากตรงนี้ จะมีการเก็บรวบรวมเป็นข้อมูลเพื่อสอบถามถึงโครงการที่มีรูปแบบคล้ายๆ กัน ว่าจะมีการวิธีการป้องกันเกี่ยวกับพ่อแม่พันธุ์สัตว์ที่ไม่ได้คุณภาพ และ ต้องมีการตรวจสอบโครงการว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริงไหมหรือไม่
นายวีระสันติ ประทุมพล ผอ.กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ แต่ยืนยันว่าจะพยายามช่วยเหลือเกษตรกรส่วนที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้การช่วยเหลือเยียวยายังต้องพูดคุยกับหลายๆ ฝ่าย ทั้ง กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ปศุสัตว์จังหวัดทั้ง 3 จังหวัด และ เกษตรกร เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

วีระสันติ ประทุมพล ผอ.กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
วีระสันติ ประทุมพล ผอ.กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
ล่าสุดตัวแทนเกษตรกรจังหวัดลำพูน ยังเตรียมเข้าพบสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนจังหวัดลำพูน เพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย รวมทั้งตัวแทนเกษตรกร 3 จังหวัด ยังเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อร้องขอความเป็นธรรม หากข้อเรียกร้องยังไม่ได้รับการตอบรับ
รายงาน : พยุงศํกดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ