ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดชีวิตหลังกำแพงคุก ผู้ต้องขัง "กลุ่มหลากหลายทางเพศ"

อาชญากรรม
17 ส.ค. 67
14:13
489
Logo Thai PBS
เปิดชีวิตหลังกำแพงคุก ผู้ต้องขัง "กลุ่มหลากหลายทางเพศ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"ก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในเรือนจำ รู้สึกกลัวเพราะมีภาพจำเกี่ยวกับไม่สะดวกสบายและความรุนแรงจากสื่อ ภาพยนตร์และละคร จนกลายเป็นมายาคติ พอเข้ามาแล้ว แรก ๆ ก็เคยถูกล้อเลียนเรื่องเพศสภาพจากผู้ต้องขังชาย แต่หลังๆ เริ่มชินและปรับตัวได้" คำบอกเล่าจากผู้ต้องขังข้ามเพศคนหนึ่ง ซึ่งนั่งพูดคุยกับเราด้วยท่าทางที่ผ่อนคลาย พร้อมมีรอยยิ้มออกมาเป็นระยะ แม้นัยน์ตาจะปรากฏความประหม่าอยู่บ้าง เนื่องจากในระหว่างการพูดคุย ต้องอยู่ในสายตาของผู้คุมตลอดเวลา ตามกฎระเบียบของราชทัณฑ์

ขณะที่อีกคน บอกว่า การแยกเรือนนอน แยกห้องอาบน้ำ ทำให้รู้สึกปลอดภัยและสบายใจต่อการดำรงชีวิตข้างใน เพราะเป็นกลุ่มเพศเดียวกัน เข้าใจกัน ซึ่งในอดีตกรณีใช้พื้นที่ร่วมกันทำกิจกรรมส่วนตัวก็มีความกังวลใจและเขินอาย พร้อมสะท้อนว่า การที่ราชทัณฑ์ให้ความดูแล จัดพื้นที่เฉพาะให้ ไม่อยากให้คนข้างนอกมองว่า ได้รับสิทธิพิเศษ ทั้งที่เป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย

แยกเรือนนอน - ห้องน้ำอาบ ลดเสี่ยงคุมคามทางเพศ

ที่ชั้น 2 ของแดน 1 ภายในเรือนจำกลางคลองเปรม ห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 3 x 3 เมตร ถูกจัดให้เป็นเรือนนอนสำหรับกลุ่มผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ 4-5 คน แน่นอนว่า มีห้องน้ำในตัวเช่นเดียวกับเรือนนอนทั่วไป และทุกซอกมุมในห้องต้องเปิดเผย มองเห็นได้โดยถนัดสายตา อำนวยต่อการสอดส่องดูแลความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ หรือ ผู้คุม

เรือนจำกลางคลองเปรม มีผู้ต้องขังในแดน 1 จำนวน 1,085 คน เป็นผู้ต้องขังข้ามเพศ 64 คน จำนวนนี้มีทั้งผู้ที่ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศ, ผู้ที่ผ่าตัดเสริมหน้าอกและผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ทั้งหมดสมัครใจเข้ามาอยู่รวมกันในเรือนนอนเฉพาะกลุ่ม ตามโครงการของราชทัณฑ์ ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อลดความเสี่ยงการถูกคุกคามทางเพศ

ผู้ต้องขังบางคน สะท้อนว่า อยากให้กรมราชทัณฑ์สนับสนุนเรื่องยาฮอร์โมนซึ่งเป็นยาใช้เฉพาะในกลุ่มของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงอุปกรณ์ช่วยสร้างช่องคลอด ที่จำเป็นต่อผู้ที่ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศและสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น อย่างเสื้อชั้นใน ที่ทางราชทัณฑ์ ระบุว่า มีการแจกจ่ายให้กับผู้ต้องขัง ซึ่งในทางปฏิบัติกลับไม่เคยได้รับเลยนับตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาใช้ชีวิตหลังกำแพง

คุกคลองเปรม-พัทยา โมเดลนำร่อง

เรือนจำกลางคลองเปรม เป็น 1 ในเรือนจำนำร่อง ที่จัดเรือนนอนแยกจากผู้ต้องขังชาย แต่ในการทำกิจกรรมฝึกฝนต่างๆ ยังคงเป็นไปตามปกติ ไม่มีแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติ เช่นเดียวกับที่เรือนจำพิเศษพัทยา เรือนจำนำร่องแห่งที่ 2 ซึ่งมีผู้ต้องขังในกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศอยู่ทั้งหมด 29 คน ด้วยกัน

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เรือนจำทั่วประเทศมีผู้ต้องขังในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศรวมทั้งสิ้น 986 คน ส่วนใหญ่ต้องโทษในคดียาเสพติด เมื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ตามระเบียบของราชทัณฑ์ อนุญาตให้ผู้ต้องขังที่แปลงเพศแล้วไว้ผมยาวในระดับเดียวกับผู้ต้องขังหญิงได้ ในทรงบ็อบสั้น แต่ถ้ายังไม่มีการแปลงเพศ ก็ต้องไว้ผมตามวิถีเพศกำเนิด และ โครงการนี้ ไม่อาจมีขึ้นได้ในทุกเรือนจำ

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบายว่า ในเรือนจำกลางคลองเปรม และเรือนจำพิเศษพัทยา มีผู้ต้องขังกลุ่มนี้มากกว่าพื้นที่อื่น ประกอบกับเรือนจำส่วนใหญ่ ยังติดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ยากต่อการจัดสรรพื้นที่

ความแตกต่างทางเพศสภาพ คือ ความกังวลข้อแรก ของผู้ต้องขังในกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ เมื่อรู้ว่า จะต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่หลังกำแพงเรือนจำ แม้พวกเขาจะเข้าใจดีว่า การถูกคุมขังคือการถูกลงโทษตามกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการทำผิดของตัวเอง แต่อย่างน้อยพวกเขาก็หวังว่า จะไม่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ ด้วยการเย้ยหยันหรือล้อเลียนเพศสภาพ เพราะแท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะ มีเพศสภาพอย่างไร ในความเป็นมนุษย์ ล้วนเท่าเทียมกัน 

รายงานพิเศษ : พลอยพรรณ คล่องแคล่ว ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : ยธ.-กยศ.พักหนี้ผู้ต้องขัง 4 พันคน ยอดหนี้รวมกว่า 200 ล้าน 

ราชทัณฑ์ เปิด 8 แนวทางปฏิบัติ คลายร้อน "ผู้ต้องขัง" 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง