กสม.ชี้ก่อสร้างโรงแรมกระทบสิทธิมนุษยชนชาวเลราไวย์

สังคม
16 ส.ค. 67
14:06
319
Logo Thai PBS
กสม.ชี้ก่อสร้างโรงแรมกระทบสิทธิมนุษยชนชาวเลราไวย์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กสม.ชี้โครงการก่อสร้างโรงแรมของบริษัทเอกชนใน จ.ภูเก็ต กระทบสิทธิชุมชน และวิถีชีวิตของชาวเลราไวย์ ชง 4 ข้อให้พื้นที่เร่งแก้ไขข้อพิพาท ประกาศหาดราไวย์ เป็นพื้นที่คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์

วันนี้ (16 ส.ค.2567) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ตรวจสอบกรณีร้องเรียนว่าโครงการก่อสร้างโรงแรมของบริษัทเอกชนใน จ.ภูเก็ต จะกระทบต่อวิถีชีวิตชาวเลราไวย์

เนื่องจากที่ตั้งโครงการอยู่ติดกับหาดราไวย์ เป็นพื้นที่จอดเรือ พักเก็บ และซ่อม แซมเครื่องมือประมง และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านความเห็นชอบจาก คชก.เบื้องต้นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณ จ.ภูเก็ต  ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงจึงขอให้ตรวจสอบ

อ่านข่าว ชาวเลราไวย์ ปัดข้อเสนอเอกชนซื้อที่ดินแลกย้ายบาไล

2 ประเด็นปมร้องเรียนกระทบวิถีชาวเล 

จากการตรวจสอบเห็นว่า กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น ดังนี้ประเด็นแรก โครงการก่อสร้างโรงแรมของบริษัทเอกชนใน จ.ภูเก็ต (ผู้ถูกร้องที่ 1) กระทบต่อที่ตั้งบาลัย ทางเดินไปบาลัย และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่หาดราไวย์ เห็นว่าชุมชนราไวย์ มีประชากร  254 ครัวเรือน นับถือผีบรรพบุรุษ มีการตั้งบาลัยเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ และประกอบอาชีพประมงแบบดั้งเดิม

โดยปรากฏหลักฐานว่าชาวเลราไวย์ ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้มายาวนาน เช่น เอกสารทะเบียนบ้านระบุข้อมูลการเกิดของหญิงชาวเลราไวย์ในปี 2445 ข้อมูลการเข้าเรียนของนักเรียนชาวเลราไวย์ที่โรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ปี 2482 ภาพถ่ายทางอากาศ

ภาพและวิดีทัศน์ที่ปรากฏว่าชาวเลราไวย์ ได้เข้าร่วมรับเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2502 รวมทั้งการขุดพบโครงกระดูกบรรพบุรุษที่มีความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมกับชาวเลราไวย์ในปัจจุบัน

ยังไม่ขออนุญาตสร้างโรงแรม-ทำ EIA ก่อน

สำหรับโครงการโรงแรมของผู้ถูกร้องที่ 1 มีเนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ ยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารจากเทศบาล ต.ราไวย์ แต่ได้จัดทำรายงาน EIA และผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติเห็นชอบรายงานแล้วเมื่อปี 2563 พื้นที่โครงการมีด้านหน้าติดกับหาดราไวย์ ซึ่งชาวเลใช้ประกอบอาชีพประมง

จึงมีข้อพิพาทในประเด็นต่าง ๆ มาเป็นระยะ ทั้งเรื่องที่ตั้ง และทางเดินไปบาลัย แนวเขตพื้นที่หน้าหาดราไวย์ ซึ่งชาวเลราไวย์ใช้ประโยชน์ ที่ผ่านมาข้อพิพาทดังกล่าวเคยเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหลายหน่วยงาน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

เมื่อปี 2560 ศาลจังหวัดภูเก็ตมีคำพิพากษาว่า บริเวณที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิของโครงการโรงแรมของผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงห้ามมิให้ชาวเลราไวย์ขัดขวางการดำเนินการใด ๆ และห้ามยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาท

อันมีผลให้ข้อพิพาทระหว่างชาวเลราไวย์กับผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเป็นเอกชนกับเอกชนยุติลงโดยผลจากคำพิพากษาของศาล ตามมาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติให้ กสม.สั่งยุติเรื่อง หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษา คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้โครงการก่อสร้างโรงแรมของผู้ถูกร้องที่ 1 จะยังไม่เริ่มก่อสร้าง จึงไม่ปรากฏผลกระทบอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่การดำเนินโครงการต่อไปโดยที่หน่วยงานของรัฐยังไม่ได้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลด้วยการหาข้อยุติที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทย่อมสุ่มเสี่ยงจะกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ดั้งเดิม วัฒนธรรมประเพณี และการประกอบอาชีพของชาวเลราไวย์

ตลอดจนอาจกระทบต่อสิทธิของชาวเลราไวย์ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่หน้าหาด ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ให้การรับรองไว้

อ่านข่าว ผบ.มทบ.41 เรียกแกนนำชาวเลราไวย์เข้าพบที่ค่ายวชิราวุธ อ้างฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.

EIA ไม่ครบถ้วน

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ประเด็นต่อมา การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการจัดทำรายงาน EIA ของโครงการก่อสร้างโรงแรมดังกล่าว เห็นว่า เป็นโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EIA ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

โดยบริษัทที่ปรึกษาได้จัดทำรายงาน EIA และจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยใช้การสัมภาษณ์รายบุคคลด้วยแบบสอบถาม และรายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณจ.ภูเก็ต ผู้ถูกร้องที่ 2 แล้ว

เมื่อพิจารณาแบบสอบถามข้างต้นไม่ปรากฏประเด็นเรื่องที่ตั้งบาลัย ทางเดินไปยังบาลัย การใช้พื้นที่ชายหาดราไวย์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและเป็นผลกระทบหลักที่จะเกิดขึ้นกับผู้ร้องซึ่งเป็นชาวเลราไวย์หากก่อสร้างโครงการ

นอกจากนี้การเลือกใช้วิธีการสัมภาษณ์รายบุคคลอาจเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมกับการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากชาวเลราไวย์บางส่วนไม่สามารถเข้าใจการสื่อสารด้วยภาษาไทย และอาจทำให้ชาวเลราไวย์ไม่ให้ข้อมูล เนื่องจากชาวเลราไวย์มักอยู่แบบรวมกลุ่ม

การรับฟังความคิดเห็นของโครงการ และการพิจารณาเห็นชอบ EIA  มีความบกพร่องไม่ครบถ้วนในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ อันเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องและชาวเลราไวย์

อ่านข่าว ชาวเลราไวย์ร้องผู้ว่าฯ ภูเก็ต ขอความเป็นธรรมหลังถูกจับ 2 คน

ดังนั้นที่ประชุม กสม.จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังผู้ถูกร้องที่ 1 และจ.ภูเก็ต ให้ร่วมกันจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มเติมในประเด็นที่เป็นข้อพิพาทให้ครบถ้วน

โดยพิจารณาเลือกใช้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน และสอดคล้องกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมของชาวเลราไวย์ที่มีธรรมชาติในการอยู่แบบรวมกลุ่ม และให้ผู้ถูกร้องที่ 2 นำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาทบทวนมติเห็นชอบรายงาน EIA ต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังผู้ถูกร้องที่ 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อประเมินผลกระทบหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น และหาแนวทางป้องกัน บรรเทา และจัดการผลกระทบ
  • ให้เทศบาลตำบลราไวย์ นำข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับที่ตั้งบาลัย ทางเดินไปบาลัย และการใช้ประโยชน์พื้นที่หาดราไวย์ของชาวเล ตามรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ ไปประกอบการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการก่อสร้างโรงแรมของผู้ถูกร้องที่ 1 ด้วย
  • ให้จ.ภูเก็ตเร่งหาข้อสรุปในกรณีพิพาทเรื่องที่ตั้งและทางเดินไปยังบาลัย แนวเขตของพื้นที่หาดราไวย์ที่ชาวเล สามารถใช้ประโยชน์ได้ เพื่อคุ้มครองวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ดั้งเดิม วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาวเลราไวย์
  • ให้กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ประกาศให้พื้นที่บริเวณหาดราไวย์ ซึ่งชาวเลราไวย์ใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน เป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 มิ.ย.2553 

อ่านข่าว :

“ดีเอสไอ” ชี้ที่ดินราไวย์ “ชาวเล” อยู่อาศัยมาก่อน หลักฐานโบราณ-ภาพถ่ายก่อนออกโฉนดชัดเจน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง