ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ณัฐพงษ์" อภิปรายก่อนโหวตนายกฯ วอนสภาฯร่วมแก้ รธน.

การเมือง
16 ส.ค. 67
11:35
3,203
Logo Thai PBS
"ณัฐพงษ์" อภิปรายก่อนโหวตนายกฯ วอนสภาฯร่วมแก้ รธน.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ณัฐพงษ์" อภิปรายก่อนโหวตนายกฯ วอนสภาฯร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญ ทบทวนมาตรฐานทางจริยธรรม โดยอ้างมีนักการเมือง-พรรคการเมืองได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจที่ล้นเกินของ องค์กรตุลาการ

วันนี้ (16 ส.ค.67) ในการประชุมสภาฯเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.พรรคประชาชน ได้อภิปรายว่า

วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย เห็นด้วยว่า วันนี้ไม่ใช่เวทีที่พรรคประชาชนจะอภิปรายความเหมาะสมหรือคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ขออภิปรายเพื่อเป็นบันทึก ทางประวัติศาสตร์ของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26

ไม่เห็นด้วยในกระบวนการนิติสงคราม ที่ดำเนินการโดยกลุ่มคนชั้นนำ ที่ทำลายอำนาจของประชาชน ไม่ว่าวันนี้ สส. จะลงมติอย่างไรเชื่อว่าภารกิจของ สส. และภารกิจของนายกรัฐมนตรีคนถัดไปจะกลับไปแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ

นับตั้งแต่ปี 2541 นับแต่การจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ มีการยุบพรรคการเมืองไปแล้ว 111 พรรค รวมถึงการยุบพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีมานี้ มี สส.หลายคนเป็นเหยื่อและได้รับผลกระทบจากการให้อำนาจล้นเกินจากศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมือง ทั้งจากกรณี การถือหุ้นสื่อทำให้ สส.ต้องพ้นจากสมาชิก เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในการถือหุ้นบริษัท วีลัคมีเดีย

ยังมีกรณีที่นายกรัฐมนตรีประมุขฝ่ายบริหารถูกถอดถอนจากตำแหน่งมาแล้วหลายครั้ง เช่น นายสมัคร สุนทรเวช จากการทำรายการชิมไปบ่นไป หรือกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี หรือกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน ที่แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเห็นว่าเป็นปัญหาการจัดวางตำแหน่งอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและเรื่องอื่น ๆ จะทำอย่างไรไม่ให้ล่วงล้ำเขตอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารจะล้นเกิน

และยังอ้างกรณีการถูกประหารชีวิตของนักการเมือง พ.ร.ป.ป.ป.ช. เรื่องของการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงเช่น กรณีของ น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ ,น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.พรรคพลังประชาชน นางกนกวรรณ วิวาลวัลย์ อดีต สส.พรรคภูมิใจไทย โดยเห็นว่าโทษประหารชีวิตของนักการเมือง ต่างไม่มีใครเห็นด้วย

มาตรฐานทางจริยธรรมควรเป็นเงื่อนไขกฎกติกา เป็นกระบวนการที่พวกเราตรวจสอบกันเอง ไม่ใช่กฎกติกาที่จะให้องค์กรอื่น เช่น องค์กรตุลาการมาใช้วินิจฉัยโดยใช้มาตรวัดทางกฎหมาย มาตรวัดทางจริยธรรม ที่เป็นมาตรวัดของปัจเจกแต่ละคน มองเห็นแตกต่างกันดังนั้นหากจะมีใครจะมาตัดสินจริยธรรมของนักการเมือง ในฐานะที่นักการเมืองมาจากประชาชนคิดว่าจะต้องใช้ความรับผิดชอบใช้เสียงของประชาชนมาเป็นผู้ตัดสิน

ภารกิจที่สำคัญของสภาชุดปัจจุบันคือสานต่อภารกิจ 3 หลักการ คือ การปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อจัดวางตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมตามหลักสากล ปรับปรุงโทษยุบพรรค กติกาเกี่ยวกับโทษยุบพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ง่าย แต่ตายได้ยากและยึดโยงกับฐานสมาชิกเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมระบอบประชาธิปไตย

และทบทวนมาตรฐานทางจริยธรรม เป็นเรื่องความรับผิดรับผิดชอบทางการเมืองให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินไม่ใช่องคณะ หรือกลุ่มคนไม่กี่คนเป็นผู้ตัดสิน โดยเชื่อว่าสามารถร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นได้และในการเลือกตั้งปี 2570 ไม่ว่าพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งทุกสิ่งที่ได้นำเสนอครั้งนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยและเป็นพื้นฐานสำคัญให้กับพรรคการเมืองนักการเมืองที่ได้รับฉันทามติจากประชาชน ก่อนจะทิ้งท้ายว่าพรรคประชาชนขอใช้สิทธิ์เห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีโดยขอสงวนจุดต่าง

สอดคล้องกันนี้นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปราย ขานรับการอภิปรายของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.พรรคประชาชน โดยเห็นด้วยที่จะปรับปรุงกฎหมาย รัฐธรรมนูญ ที่มีโทษแก่พรรคการเมืองและนักการเมือง และเห็นด้วยที่จะปรับปรุง กฎหมายให้พรรคการเมืองเกิดได้ง่าย ตายได้ยาก

อ่านข่าว : ลุ้นสภาฯ โหวตเลือก "แพทองธาร" นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 31  

เปิด 4 ขั้นตอนโหวตเลือก "นายกรัฐมนตรี คนที่ 31" 

พรรคประชาชน โหวตไม่เห็นชอบ "แพทองธาร" นั่งนายกรัฐมนตรี 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง