"Digital Classroom" อนาคตระบบศึกษาไทย โลกใหม่การเรียนรู้

สังคม
15 ส.ค. 67
10:34
721
Logo Thai PBS
"Digital Classroom" อนาคตระบบศึกษาไทย โลกใหม่การเรียนรู้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกยุคใหม่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ 10 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีต่าง ๆ ถูกพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องแบบก้าวกระโดด สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมของแต่ละประเทศในการรับมือ ต้นทางคือการวางแผนด้านอนาคตระบบการศึกษา

"Digital Classroom" รูปแบบการศึกษาใหม่ที่ "กรุงเทพมหานคร" ผลักดันให้โรงเรียนเข้าถึงศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นำระบบอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์พกพา (Chromebook) มาพัฒนาห้องเรียนให้เป็นดิจิทัล เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนแบบเน้นบรรยาย (Lecture-based) มาเป็นการเรียนการสอนแบบเน้นปฏิบัติ (Active-based) ผ่าน Google Workspace for Education

"รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" เดินทางมาที่โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน โรงเรียนนำร่อง Digital Classroom ที่รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร "ศานนท์ หวังสร้างบุญ" ได้พามาดูการเรียนแบบ Digital Classroom ช่วยให้เด็กพัฒนาได้ดีขึ้นหรือไม่ ? โรงเรียนนี้ถือเป็นห้องทดลองหากสำเร็จจะสามารถกระจายไปในโรงเรียนใน กทม. และทั่วประเทศได้อย่างไร

รองผู้ว่า กทม. ให้เหตุผลที่เลือกโรงเรียนไทยนิยมศึกษา เนื่องด้วยเป็นโรงเรียนขนาดกลาง ที่มีห้องเรียนที่ใหญ่พอ มีหลายชั้นเรียน จะได้เปรียบเทียบได้ว่าห้องที่ได้ทดลองกับห้องที่ไม่ทดลอง ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร "ถ้าเราพูดเรื่องการศึกษามันมีหลายปัจจัย แต่หัวใจของมัน คือ เราไม่สามารถพัฒนาได้เร็ว ถ้าเราต้องมาดูเรื่องของคุณครู พัฒนาครูแต่ละคน แต่ถ้าเราเอาเทคโนโลยีมาช่วยคุณครู พัฒนาครูแต่ละคน แต่ถ้าเราเอาเทคโนโลยีมาช่วยครูมันจะทำให้การศึกษาพัฒนาเร็วขึ้น"

สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ใช้งบประมาณในการลงทุนการเรียนแบบ Digital Classroom ใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี ในการที่ครอบคลุมได้ทั้งหมด ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นใช้โอกาสช่วงสถานการณ์โควิด-19 ด้วยงบลงทุนให้มีการศึกษาผ่านออนไลน์ สั่งงาน สั่งการบ้าน ผ่านแล็ปท็อป จากเดิมที่ครูต้องคอยสอน คนเดียว ทำให้การเรียนการสอนง่ายขึ้นเข้าถึงนักเรียนได้ง่ายกว่า 

ส่วนในกรุงเทพมหานคร เริ่มได้ประมาณปีครึ่งในการทดลองใช้ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นข้อดีข้อเสียและการมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด

จากการประเมินผลการทดลองมาปีกว่า สิ่งแรกที่เห็น คือ เด็กมีการเรียนร่วม มีทั้งเด็กเก่ง เด็กพิเศษ แต่อยู่กลุ่มเดียวกัน เห็นการช่วยกันเรียนมากขึ้น ซึ่งตัวเด็กเองก็ไม่ต้องรอครูอย่างเดียว โดยเฉพาะเด็กพิเศษ อยากมาเรียนมากขึ้น เด็กดื้อที่ไม่ค่อยชอบเรียน ก็อยากที่จะมาโรงเรียนเร็วขึ้น เพราะสนุก โดยที่ไม่ต้องเป็นห่วงว่าเด็กจะไปเข้าเว็บที่ไม่เหมาะสม เนื่องด้วยมีการจำกัดให้เข้าได้เฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้อง อีกทั้งการนำไปใช้ของนักเรียน ครูก็สามารถที่จะดูได้ว่าเด็กเอาโน๊ตบุ๊กไปใช้อะไรบ้าง

"ใครที่ไปเร็วก็สามารถที่จะเรียนได้เร็วกว่าเพื่อน ใครที่ไปช้าก็สามารถกลับมาทบทวนหน้าที่เขายังไม่เข้าใจได้ ตัวนี้เป็นอีกหัวใจที่เราเห็น และสิ่งที่สะท้อนเลยคือพวกวิชาคำนวณดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะว่าพวกวิชาที่คำนวณหัวใจของมันคือเด็กสอบก็จริง แต่ปกติเวลาสอบ จะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องกลับมา ทำให้ไม่รู้ว่าผิดตรงไหน และต้องแก้อย่างไร แต่พอการเรียนเป็นแบบ Digital Classroom เขาสามารถกลับไปทวนซ้ำได้ ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น"

สอดคล้องกับครูรุ่นใหม่ ๆ มีการตอบสนองดีมาก เขามีสื่อฟรีที่เป็นออนไลน์ แต่ที่ผ่านมาไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือมาใช้สอน แต่ว่าหัวใจจริง ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอนอย่างเดียวการออก แบบการสอนจะต้องเน้นให้เกิดการตั้งคำถาม ให้เด็กสงสัย ซึ่งถือเป็นจุดเน้นทางการศึกษา 3 คำ "เอ๊ะ อ๋อ โอเค" ฉะนั้นครูต้องออกแบบการเรียนการสอนให้เด็กเอ๊ะ เพื่อให้เด็กลงมือ แทนที่จะได้แค่การท่องจำ

ด้วยข้อจำกัดงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหนึ่งปีครึ่งได้มีการทดลอง 1 ห้องเรียนเพื่อดูผลลัพธ์ โดยมีบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาดูแลในเรื่องของการติดตั้งโปรแกรม และการเข้ามาช่วยฝึกครู จากนั้นได้มีการขยายผลด้วยการขอรับบริจาคคอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช้แล้วจากประชาชน จากการคำนวณจำนวนเด็กตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 4 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประมาณ 130,000 คน ซึ่งปัจจุบันได้คอมพิวเตอร์มาแล้วประมาณ 2,000 เครื่อง ใช้ใน 6 โรงเรียน ส่วนงบประมาณของ กทม. ตอนนี้ยังไม่มีให้ซื้อ แต่ได้มีการใส่ไว้ในร่างพระราชบัญญัติปีหน้า คิดว่าจะผลักดันสภากรุงเทพมหานครให้เห็นด้วย

ถามว่ามีแรงจูงใจอย่างไรให้ครู ไม่ใช่แค่เงินเดือน - สวัสดิการเท่าเดิม

ต้องตอบว่า หากครูต้องการเติบโตทางอาชีพจะต้องทำวิทยฐานะ แบ่งออกเป็น 2 หมวดใหญ่ ๆ หมวดแรกสมรรถนะของผู้เรียนต้องเก่งขึ้น แบบสองที่ยากมากคือ ผลงานทางวิชาการ ต้องมีงานวิจัย หากมองในมุมของความเป็นจริงเปรียบเสมือนการเอาครูออกจากห้องเรียน เพราะถ้าครูสอนจะไม่มีผลงานทางวิชาการไปสู้คนอื่น ปัจจุบันจึงได้เปลี่ยนใหม่เพื่อให้สอดรับกับสมัยมากขึ้น คือ ใครที่ถนัดผลงานทางวิชาการก็ยังทำได้อยู่ แต่หากใครมาทางด้านพัฒนาทักษะ Digital Classroom สามารถเอาผลงานการออกแบบการสอน เนื้อหาการสอน ผลสัมฤทธิ์ สามารถเอามาผ่านวิทยฐานะได้เช่นกัน "ที่ผ่านมามีครูแค่ 6 โรงเรียนเท่านั้นที่ใช้ ตอนนี้ยังเปิดให้เลือกอยู่ เพราะต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ และครูหลายคนก็อาจจะไม่ถนัดในเรื่องนี้"

..ถ้าถามว่ามองเป้าหมายอย่างไร…? "รองผู้ว่า กทม." คาดหวังให้นักเรียนระดับชั้น ป.4 - ม.3 เท่าทันเทคโนโลยี มีสมรรถนะเพียงพอในการนำไปต่อยอด หรือสกิลในอนาคตได้ แต่สิ่งสำคัญจะต้องเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบใหม่ รวมถึงหลักสูตรที่ล้าสมัย เนื่องด้วยทุกวันนี้นักเรียนต้องเรียนเยอะมากประมาณ 1,200 ชั่วโมง ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เปลี่ยนหลักสูตรไปแล้ว 34 โรงเรียน ลดเหลือ 800 ชั่วโมง นักเรียนเลิกบ่ายโมงครึ่ง ที่เหลือเขาสามารถมีวิชาที่เป็นบูรณาการได้มากขึ้น

..ส่วนคำถามว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปี..? ซึ่งในตำแหน่ง "รองผู้ว่า กทม." เหลืออีก 2 ปี แต่สิ่งที่ได้ทำไว้ก็เหมือนการปูพื้นฐานไว้ให้สำหรับทีมต่อไป โดยปีแรกตั้งเป้าไว้ 11 โรงเรียน สามารถทำได้ 6 โรงเรียน ดังนั้นหากทำได้อยากจะขยายไปอีก 100 โรงเรียนในปีต่อไป และปีสุดท้ายให้ครบ 437 โรงเรียน ขณะที่ก็ยังต้องเร่งตามให้ทันในเรื่องของเทคโนโลยี AI ที่กำลังเข้ามามีบทบาทในทุกด้าน เบื้องต้นก็คิดว่าจะเอา AI มาช่วยสอนในบางวิชา เพื่อสร้างความตื่นเต้นกระตือรือร้นให้กับเด็ก

"ผมเชื่อว่าการที่เราช้าในอดีต ไม่จำเป็นเราจะช้าต่อไปได้ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ไม่จำเป็นต้องไปเรียนรู้เท่ากับคนรุ่นก่อน ๆ เพราะผมว่าหัวใจของเมือง คือ การทำให้คนในเมืองเก่งขึ้น เมืองไม่มีทางจะดี ถ้าคนในเมืองยังไม่เก่ง ไม่ต้องไปฝันเลยว่าเมืองจะเก่ง การจะทำให้คนเก่ง ต้องทำให้รุ่นลูก เก่งกว่ารุ่นพ่อแม่เขาให้ได้"

ถามว่าทำไมถึงพูดแบบนี้ รองผู้ว่า กทม. อธิบายถึงหลายงานวิจัย คนที่จนที่สุด เพื่อศึกษาว่าจะหลุดพ้นความยากจนจะต้องใช้กี่รุ่น ในประเทศโออีซีดี (38 ประเทศทั่วโลกที่มีรายได้สูง และมี ดัชนีการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ อยู่ในระดับสูงมาก) เฉลี่ย 4.5 รุ่น แปลว่าต้องใช้เกือบ ๆ 5 รุ่นในครอบครัวที่จะหลุดพ้นความยากจน ในขณะที่ประเทศไทย หลายวิจัยบอกว่า 7- 11 รุ่น หมายความว่า หากในตอนนี้เราเกิดในครอบครัวที่จน เราอาจจะต้องใช้อีก 11 รุ่น ในการหลุดพ้น ฉะนั้นหัวใจของการศึกษา จะทำอย่างไรให้เด็กหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งตอนนี้มี AI มีเทคโนโลยี จะทำให้ความหลุดพ้นความยากจนแบบก้าวกระโดดได้ โดยไม่ต้องถึง 11 รุ่น ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่จะต้องทำให้เด็กเก่งกว่าพ่อแม่เขา

"สุทธิชัย หยุ่น" ยังได้พูดคุยกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ที่ได้มีโอกาสทดลองในห้อง เรียน Digital Classroom ในช่วงระยะเวลากว่า 1 ปี ที่มีความคิดเห็นตรงกันว่า การใช้คอมพิวเตอร์เรียนหนังสือ ทำให้มีความสนุก ตื่นเต้น มีความกระตือรือร้นที่อยากจะมาโรงเรียน สิ่งสำคัญคือเรียนเข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะในวิชาคำนวณ และอังกฤษ เนื่องจากสามารถทบทวนในสิ่งที่ไม่เข้าใจได้ดีขึ้นมากกว่าการเรียนแบบท่องจำ โดยวิชาคณิตศาสตร์ จะมีช่องที่สอนและอธิบายให้ฟัง มีหลายวิธีคิดหลายแบบที่ทำให้เข้าใจมากขึ้น ก็ทำให้อาจารย์ต้องปรับตัวเหมือนกัน

รองผู้ว่า กทม. ได้ให้อาจารย์เก็บคะแนนรวบรวมวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การคำนวณ ผลลัพธ์พบว่าคะแนนของนักเรียนขึ้นอย่างก้าวกระโดด เฉลี่ย 28% แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วยในสิ่งที่หลายคนยังมีความกังวลว่าจะทำให้เด็กๆ เขียนหนังสือไม่ได้ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนของระบบการศึกษาที่ทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้น

"พอผมได้ยินเด็ก ๆ และครู บอกว่าเรียนทดลองแบบดิจิทัลคลาสรูม คะแนนดีขึ้น ความสน ใจมากขึ้น และทุกคนดูสนุกสนาน ผมเชื่อว่า นี่คือจุดที่สำคัญมาก ที่จะเปลี่ยนระบบการศึกษาใน กทม."

พบกับรายการ: คุยนอกกรอบกับสุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.

อ่านข่าวเพิ่ม :

"ดิจิทัลวอลเล็ต" รอรัฐบาลใหม่ตัดสิน-อย่าลบแอปทางรัฐ

"เศรษฐา" พ้นนายกฯ ประชาชนห่วงเงินดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง