เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม (บก.ปทส.) ยื่นคำร้องขอหมายค้นเข้าตรวจค้นโรงงาน 2 แห่ง จุดแรกโรง งานเพิ่มพูนทรัพย์ ต.โพรงมะเดื่อ อ.เมือง นครปฐม และอีกจุดโรงงานไท่เป่าอลูมิเนียม ต.บางกระเจ้า อ.เมือง สมุทรสาคร
ผลการตรวจค้นโรงงานไท่เป่าอลูมิเนียม พบกากตะกรัน อลูมิเนียม ดรอส จำนวน 1,400 ถุง หนักประมาณ 2,100 ตัน ขณะตรวจค้นไม่มีผู้ใดรับเป็นเจ้าของโรงงาน มีเพียงน.ส.หญิง ไม่ทราบชื่อสกุลจริง แจ้งทางโทรศัพท์ว่า ช่วงนี้เป็นวันหยุดโรงงานปิด แต่ยินยอมให้เข้าตรวจในโรงงานได้ แล้วจะมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้งเพื่อชี้แจงรายละเอียด
อ่านข่าว ไขคำตอบ "อะลูมิเนียมดรอส" ฝุ่นพิษต้นตอ "ฉุน-แสบตา-คัน"
ยึดอลูมิเนียมดรอสใน 2 จุดโรงงานนครปฐม-สมุทรปราการ ของกลาง 14 ตัน (ภาพกรมโรงงานอุตสาหกรรม)
หลังจากนั้นไปตรวจสอบที่โรงงานเพิ่มพูนทรัพย์ที่ จ.นครปฐม อีกครั้ง ผลการตรวจสอบพบกากตะกรันดังกล่าวอยู่ในถุงอีก 8,258 ถุงหนัก 12,387 ตันอยู่ภายในโรงงาน ซึ่งโรงงานนี้ไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงงาน แต่อย่างใด
ปทส.ลุยค้นยึด 2 จุดของกลางอลูมิเนียมดรอส 14 ตัน
รวมของกลาง 2 จุดที่ตรวจยึดไว้ในครั้งนี้ 9,676 ถุง มีน้ำหนักรวม 14,514 ตันโดยเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานตรวจเก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจพิสูจน์อีกครั้ง พร้อมทั้งอายัดกากดังกล่าวไว้ และจะร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน บก.ปทส. ความผิดฐาน ครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต
พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการบก.ปทส.(ภาพกรมโรงงานอุตสาหกรรม)
จากการสืบสวนสอบสวนเชื่อว่าโรงงานทั้ง 2 แห่งนี้เป็นของคนจีน มีคนไทยเป็นล่าม และให้ทำหน้าที่ดูแลโรงงาน โดยสารอลูมิเนียม ดรอส เป็นสารที่อันตรายต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ หากแพร่กระจายไปในอากาศและแหล่งน้ำ เนื่องจากมีโลหะหนักปะปนอยู่
พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการบก.ปทส.ลงพื้นที่มาตรวจสอบด้วยตนเอง พร้อมทั้งกำชับรีบขยายผลหาแหล่งที่มาของกากดังกล่าว และติดตามหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีโดยเร็ว ให้ประสานกับทางอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นอีก
ลอบกำจัดอลูมิเนยมดรอส (ภาพกรมโรงงานอุตสาหกรรม)
รถบรรทุกขน-ไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้าย
สำหรับการเข้าตรวจค้นทั้ง 2 จุดสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจทางหลวงนครปฐม ออกตรวจพื้นที่ เห็นรถบรรทุกกึ่งพ่วงขับขี่มา มีถุงบิ๊กแบ๊กอยู่เต็มรถ น่าจะเป็นกากตะกอนอุตสาหกรรม จึงเรียกตรวจสอบ แต่เจ้าของรถไม่มีเอกสารใดๆ มาแสดง จึงน่าเชื่อว่าน่าจะเป็นวัตถุอันตราย จึงประสานอุตสาหกรรมนครปฐมเข้ามาร่วมตรวจสอบ
โดยผู้ขับขี่รถบรรทุก แจ้งว่าไปรับของมาจากโรงงานเพิ่มพูนทรัพย์ จ.นครปฐม เพื่อไปส่งที่โรงงานไท่เป่าอลูมิเนียม ต.บางกระเจ้า จ.สมุทรสาคร โดยเป็นผู้รับจ้างขนส่ง และนำเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจสอบที่โรงงานเพิ่มพูนทรัพย์ พบกากตะกอนมีลักษณะเป็นกากตะกรัน ซึ่งเรียกว่าอลูมิเนียม ดรอส อยู่จริง ภายในโกดัง
กรมโรงงานฯ ชี้ไม่มีใบอนุญาตตั้งโรงงาน
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกับนายทวี อำพาพันธ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออกเข้าตรวจค้นพื้นที่ต้องสงสัยลักลอบขนย้ายผงอลูมิเนียมดรอส พบว่าเป็นผงอลูมิเนียมดรอส ซึ่งถือเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จึงได้ร่วมกันตรวจยึดไว้เป็นของกลาง ดำเนินคดีในข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และนำตัวผู้ต้องหาส่ง กก.5 บก.ปทส. ดำเนินคดีตามกฎหมาย
โดยพบของกลางหลายรายการ เช่น พบเครื่องจักรใช้สำหรับการหลอมโลหะ จำนวน 1 ชุด และพบวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการหลอม คือ เป็นตะกรันอลูมิเนียม ซึ่งเข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 106 รวมทั้งยังตรวจพบแท่งอลูมิเนียมที่หลอมแล้วในแม่พิมพ์ขึ้นรูป เมื่อใช้มือสัมผัสตัวแท่งอลูมิเนียมในแม่พิมพ์ก็พบว่ายังมีความร้อนอยู่
ภายในและภายนอกตัวอาคารรอบโรงงาน มีถุงบิ๊กแบ็คซึ่งบรรจุกากอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น เศษอลูมิเนียม และที่คาดว่าเป็นตะกันอลูมิเนียม ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการหลอมประมาณ 1,500 ถุง ซึ่ ศวภ.ตอ. ได้เก็บตัวอย่างนำไปตรวจวัด วิเคราะห์ รวม 11 ตัวอย่าง รวมทั้งเก็บตัวอย่างในบ่อน้ำในบริเวณสถานประกอบการจำนวน 2 บ่อ
จากการตรวจสอบของ สอจ.นครปฐม ไม่พบใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ซึ่ง สอจ.นครปฐม ได้เคยดำเนินคดีข้อหาตั้งโรงงาน และประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อเดือนเม.ย.2567 และออกคำสั่งตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ให้ระงับการประกอบกิจการแล้ว
เจ้าหน้าที่จากปทส.-กรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้าตรวจสอบโรงงานนครปฐม-สมุทรปราการ ลอบกำจัดอลูมิเนยมดรอส (ภาพกรมโรงงานอุตสาหกรรม)
เบื้องต้นสถานประกอบการทั้ง 2 แห่ง มีความผิด ดังนี้
- ตั้งโรงงานโดยไม่มีใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคสอง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.โรงงานพ.ศ.2535
- ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่มีใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535
- เข้าข่ายเป็นความผิดข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
- เข้าข่ายเป็นความผิดข้อหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูล 2566 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 8 ประกอบมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535
- ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งการตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ.2535 (สำหรับกรณีโรงงานที่จังหวัดนครปฐม) อีกด้วย