บ้านใหญ่กวาดเรียบในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น นายก อบจ.เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ไล่เลียงตั้งแต่ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ชัยนาท และ จ.พะเยา ใน 3 จังหวัด เป็นการเลือกตั้งก่อนครบวาระจริงวันที่ 19 ธ.ค. 2567 ถือเป็นประลองกำลังของเครือข่ายกลุ่มบ้านใหญ่ ที่เป็น “คนเก่า” และ “คนข้างเคียง” ที่เคยอยู่ในตำแหน่งมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะ “บ้านใหญ่ อยุธยา” อย่าง “ซ้อสมทรง” หรือ นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล อดีตนายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา 4 สมัย และกำลังจะเป็นนายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา ในสมัยที่ 5
หลังผลนับคะแนนพบว่า “ซ้อสมทรง” ได้ไปจำนวน 245,457 คะแนน ขณะที่ “อุ๊ กรุงสยาม” นายวัชพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ กลุ่มก้าวใหม่ สมาชิกพรรคก้าวไกล ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 จำนวน 114,063 คะแนน ทิ้งคู่แข่งไปแบบไร้ข้อกังขากว่า 131,394 คะแนน ถือเป็นกวาดเรียบของค่ายสีน้ำเงิน “ภูมิใจไทย” อีกครั้ง หลังจาก “ซ้อสมทรง” ทิ้งเสื้อสีแดงจากพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2562
การเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา “บ้านใหญ่” พันธุ์เจริญวรกุล ได้สส.3 ที่นั่งในสังกัดค่ายสีน้ำเงิน แต่ “สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล” สส.พระนครศรีอยุธยา พรรคภูมิใจไทย ลูกชาย “ซ้อสมทรง” ก็ได้รับการปูนบำเหน็จเป็น รมช.ศึกษาธิการ นอกจากนี้ “ซ้อสมทรง” ยังเป็นแม่ยายของ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ลูกชายของนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.ท่องเที่ยวและการกีฬา และแกนนำพรรคเพื่อไทย
และยังมีหลานสาวแท้ๆ น.ส.พิมพฤดา ตันจรารักษ์ สส.อยุธยาฯ พรรคภูมิใจไทย หรือเรียกได้ว่าเป็นบ้านใหญ่สีน้ำเงิน โดย “ซ้อสมทรง”ได้รับมอบหมายให้ ดูแลการเมืองสนามใหญ่ในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ร่วมกับ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ด้วย
ส่วนสนามการเมืองท้องถิ่น จ.ชัยนาท การต่อสู้และการแข่งขัน แม้จะไม่ดุเดือด และ “ต้อย” นางจิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา อดีตประธานสโมสรชัยนาท ฮอร์นบิล พี่สาวคนโตตระกูลนาคาศัย แห่ง “บ้านใหญ่นาคาศัย” ก็สามารถเอาชนะ นายปัญญา ไทยรัตนกุล จากพรรคพลังประชารัฐ และนายสุทธิพจน์ เชื้ออภัยวงษ์ จากพรรคก้าวไกล ได้ โดย “นางจิตร์ธนา”ได้ไป 63,485 คะแนน,นายปัญญา 11,597 คะแนน และนายสุทธิพจน์ ได้ไป45,202 คะแนน
ทั้งนี้ “ต้อย” นางจิตร์ธนา เป็นพี่สาวของนายอนุชา นาคาศัย สส.ชัยนาท พรรครวมไทยสร้างชาติ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน และนายอนุสรณ์ นาคาศัย อดีตนายก อบจ.ชัยนาท ที่ลาออกจากตำแหน่ง โดยก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป นายอนุชา จะย้ายกลับไปพรรคเพื่อไทย เพื่อไปอยู่กับ “กลุ่มสามมิตร”ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
ขณะที่ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.พะเยา นายธวัช สุทธวงค์ จากพรรคเพื่อไทยแบบม้วนเดียวจบ ได้ไป 175,128 สามารถเอาชนะ นายชัยประพันธ์ สิงห์ชัย ตัวแทนคณะก้าวหน้า จากพรรคก้าวไกล ที่ได้ไป 35,172 คะแนน ซึ่งในการหาเสียงช่วงโค้งสุดท้าย “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ลงพื้นที่ช่วยเรียกคะแนนเสียงด้วย
สำหรับนายธวัช เป็นอดีตรองนายกฯ อบจ.พะเยา ถือเป็นสายตรง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ลงสมัครแทนนายอัครา พรหมเผ่า อดีตนายก อบจ.พะเยา น้องชาย ร.อ.ธรรมนัส
เลือกตั้งครั้งนี้ ไม่มีอะไรพลิกล็อกเพราะสุดท้าย “นายธวัช” จากเครือข่ายจาก บ้านใหญ่พะเยา-ตระกูลพรหมเผ่า ชนะเลือกตั้งแบบขาดลอย ท่ามกลางแสข่าวว่า “ร.อ.ธรรมนัส” ก็จะทิ้งพรรคพลังประชารัฐ กลับไปซบพรรคเพื่อไทย เหมือนเดิม
ในขณะที่พรรคก้าวไกล แม้จะมีนโยบายส่งผู้สมัครนายก อบจ. ในการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศเดือนม.ค.-ก.พ. 2568 และที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ได้เปิดตัวไปหลายจังหวัด จังหวัด เช่น ภูเก็ต อุดรธานี เชียงใหม่ ราชบุรี แต่ในช่วงที่ผ่านมา “บ้านใหญ่” หลายจังหวัดใช้วิธีชิงลาออกก่อนครบวาระ เพื่อหนีกระแสพรรคส้ม ทำให้ในหลายจังหวัด ต้องเลือกตั้งนายก อบจ. ก่อนกำหนด เช่น ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ส่งผลต่อสมาชิกพรรคก้าวไกลและอดีตผู้สมัคร สส.เขต พรรคก้าวไกล ต้องใช้วิธีการลงสมัครเองในนามกลุ่มอิสระ
นอกจากจะเตรียมตัวไม่ทัน เพราะหาตัวผู้สมัครในหลายพื้นที่ไม่ได้ พรรคก้าวไกล ยังต้องพะวงกลับการถูกศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ชะตาจากปม.มาตรา 112 ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ด้วย ดังนั้น “บ้านใหญ่” จึงกวาดเรียบไปทั้งหมดในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้
อ่านข่าว : สมรภูมิการเมือง "บ้านใหญ่" กับสนามเลือกตั้งนายก อบจ.