นับถอยหลังวันที่ 7 ส.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยว่าพรรคก้าวไกลว่าจะถูกยุบพรรค กรรมการบริหารถูกตัดสิทธิทางการเมือง หรือยกคำร้องหรือไม่
แต่เรื่องดังกล่าวอยู่ในสายตานานาชาติอย่างมากทั้งชาติตะวันตก ตะวันออก และยุโรป ซึ่งในแอปพลิเคชัน X ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เปิดเผยถึงการพบปะกับทูต 18 ประเทศ คือ ออสเตรีย เบลเยี่ยม เช็กเกีย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอแลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวาเกีย สเปน และ สวีเดน ที่ได้แลกเปลี่ยน หารือกับทีมก้าวไกล
โดยคนที่มีบทบาทนำในการหารือครั้งนี้ คือ ทูตเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหภาพยุโรป ประจำราชอาณาจักรไทย
ขอบคุณท่านทูต อุปทูตและเจ้าหน้าที่จากประเทศในยุโรป @EUinThailand ภายใต้การนำของท่านทูต @DavidDalyEU รวมทั้งหมด 18 ประเทศ ; ออสเตรีย, เบลเยี่ยม, เช็กเกีย, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ฮังการี, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, เนเธอร์แลนด์,โปแลนด์,โปรตุเกส,โรมาเนีย, สโลวาเกีย,… pic.twitter.com/rQMIuNAwRX
— Pita Limjaroenrat (@Pita_MFP) August 2, 2024
ใน X ของทูตเดวิด เดลี ระบุว่า นี่คือการประชุมใหญ่ของเอกอัครราชทูตยุโรป และพรรคก้าวไกล ที่ใหญ่ที่สุด ในสภา คือจำนวน ส.ส.148 คน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์พรรคการเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง
โดยประเด็นการหารือคือความสัมพันธ์สหภาพยุโรป ประเทศไทย (เอฟทีเอ) การประมง IUU ภูมิศาสตร์การเมือง และประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจของไทย และสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ก็ได้ชี้ชัดไปถึงประเด็นการหารือว่า ได้พูดคุยกันถึงวิกฤตประชาธิปไตย
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ขณะที่สำนักข่าว VOA รายงานว่า คณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วุฒิสภา สหรัฐ ได้ออกแถลงการณ์เปิดเผยเนื้อหาจดหมายที่เบน คาณดิน ประธานคณธรรมาธิการ ส่งให้กับนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศของไทย โดยร้องขอให้ไทยยึดมั่นค่านิยมที่มีร่วมกัน และเป็นหลักสำคัญในฐานะการเป็นหุ้นส่วนประเทศ
โดยอ้างถึง ผลการเลือกตั้งในปี 2566 ที่ได้เห็นคนไทยออกมาใช้สิทธิมากมาย กว่า 39 ล้านคน มากที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์ไทยเคยบันทึกไว้ และพรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะที่เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของคนไทย 14 ล้านคน แต่ก้าวไกลก็ไม่สามารถ ตั้งรัฐบาล และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มายื่นคำร้องขอให้ยุบพรรค จึงเป็นการตัดสิทธิผู้มีเสียงหลายล้านคนที่ต้องการปฏิรูปประชาธิปไตย
นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล
ไม่ใช่แค่ยุโรป หรือตะวันตก หรือเอเชีย แต่ในระดับอาเซียนก็มีท่าที โดยมาเลเซียกินี รายงานอ้างถึงรัฐสภาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (APHR) ที่ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลว่า รัฐบาลจะพยายามปิดปากฝ่ายนิติบัญญัติด้วยศาล เรียกร้องตุลาการไทย ให้รักษาความเป็นอิสระ และรอบคอบถึงผลที่จะตามมาของสภานิติบัญญัติที่เกินขอบเขต อาจมีผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทย
นางเมอร์ซี บาร์เรนด์ ประธาน APHR และ ส.ส.อินโดนีเซีย ระบุว่า เห็นรูปแบบการดำเนินคดีที่ชัดเจน ว่ามี ส.ส.44 คน ที่อยู่ภายใต้การสอบสวนของ ป.ป.ช.
ขณะที่ชาร์ล ซานติอาโก้ ประธานร่วม และอดีต ส.ส.มาเลเซีย มองว่า การยุบพรรคทำให้รัฐสภาไทย มีความเสี่ยงจะสูญเสียการทำหน้าที่ในการตรวจสอบสอดคล้องกับที่ APHR ชี้ว่า การยุบพรรคการเมืองควรเป็นตัวเลือกสุดท้าย
อ่านข่าว "ชัยธวัช" ชี้การวินิจฉัยยุบ “ก้าวไกล” ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล
การเมืองบนท้องถนน-ระบบตรวจสอบสภาเป็นง่อย
นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Right Watch ประจำประเทศไทย อธิบายว่า นานาชาติมีความกังวลและสนใจการยุบพรรคการเมืองในไทยอย่างต่อเนื่อง และมองว่าเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจในทางการเมือง
ทั้งนี้นานาชาติมอง 2 ส่วน มองว่าคำร้องเป็นเหตุจูงใจในทางกรเมือง และมีกระ บวนการในการเสนอยุบพรรคไม่ได้ตรงไปตรงมา ไม่ทำให้ก้าวไกลได้แก้ต่างและพรรคกาวไกลเป็นพรรคฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสภา
ไม่เช่นนั้นจะเป็นสภาที่เป็นง่อย และรัฐสภาอาเซียนมองว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้ ม.112 เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และยังไม่ถูกบรรจุในวาระ และทำมถึงกลายเป็นความผิดได้
อ่านข่าว จับตาศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดี ยุบพรรคก้าวไกล-เศรษฐา
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรม สถาบันพระปกเกล้า อธิบายว่า ท่าทีของนานาชาติ ชี้ให้เห็นว่า มีข้อสงสัยว่า คดีเหล่านี้ไม่ปกติ และใช้กลไกยุติธรรม เข้ามาแทรกแซง กับพรรคที่ชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1
อาจทำให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน มีความเสี่ยง เป็นไปได้หมด อาจให้มีการชุมนุมใหญ่ การเมืองบนท้องถนนจะกลับมาอีกหรือไม่ การไม่ยอมรับกติกาแบบนี้ จะนำไปสู่ทางตันไม่มีทางออก ประเทศไทยจะวนกลับไปสู่ทางตัน และเกิดรัฐประหารอีกหรือไม่