วันนี้ (4 ส.ค.2567) มีรายงานว่า เครื่องบินขนอาวุธจากรัสเซียจำนวนมากเดินทางสู่อิหร่าน คาดเสริมกำลังกองทัพในการสู้รบที่อิหร่านเตรียมล้างแค้นให้ผู้นำฮามาสที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา อีกด้านหนึ่งมีรายงานเส้นทางการบินเครื่องบินรบสหรัฐอเมริกา ที่บินเหนือน่านฟ้าอิรัก เชื่อว่าเป็นการเสริมทัพจากสหรัฐฯ เข้าช่วยเหลืออิสราเอล ซึ่งตรงกับการคาดการณ์ของทางการสหรัฐฯ ที่มองว่าในวันพรุ่งนี้ (5 ส.ค.2567) อิหร่านเตรียมโจมตีอิสราเอล
จากการวิเคราะห์ของสุทธิชัย หยุ่น ในรายการ Suthichai Live วันที่ 4 ส.ค.2567 ระบุว่า จากพฤติกรรมที่ผ่านมาจะเห็นว่าถ้าอิหร่านประกาศว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก จะมีการช่วยเหลือจากหลายทาง ทั้งทางทิศเหนือจากกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ประเทศเลบานอน, ซีเรียทางตะวันออก, เยเมนทางใต้ และกาซากลุ่มฮามาส แม้ว่าแกนนำด้านทหารและการเมืองของฮามาสจะถูกอิสราเอลจัดการไป 2-3 คนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ฮามาสก็มีตัวตายตัวแทน
สงครามรอบใหม่นี้หากเกิดขึ้นจริง จะถือว่าเป็นสงครามที่ใหญ่และค่อนข้างหนัก เพราะอิหร่านถือเป็นการล้างแค้น มิฉะนั้นอิสราเอลจะเหลิงและคิดว่าสามารถเจาะถึงตัวผู้นำทางทหารและการเมืองของฮามาสที่แม้จะอยู่ที่กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ก็ยังถูกเก็บได้
ช่วงค่ำของวันที่ 3 ส.ค. เริ่มมีการเปิดฉากโจมตีอิสราเอลขึ้น โดยกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ที่อยู่ทางเลบานอนระดมยิงขีปนาวุธไปยังกรุงเทลอาวีฟ และทางอิสราเอลต้องใช้ไอรอนโดมยิงสกัดกั้น ถือเป็นการบ้านหนักให้ฝ่ายข่าวกรองของทั้งอิสราเอลและสหรัฐฯ ที่ต้องทำการสืบให้ได้ว่าแผนการของอิหร่านครั้งนี้หนักหน่วงเพียงใด มีนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า การโจมตีล้างแค้นของอิหร่านในครั้งนี้จะกินเวลายาวนาน
อิหร่านต้องจัดการอิสราเอลให้สิ้นซาก แต่อิสราเอลก็ไม่ยอมศิโรราบให้ง่าย ๆ ด้านกลุ่มฮามาสในกาซาก็เคียดแค้นและพร้อมสู้กลับ และผลกระทบทั้งหมดก็ตกอยู่ที่การเจรจายุติยิงเพื่อช่วยเหลือตัวประกันนับล้านในกาซา ก็ไม่เกิดขึ้น
แม้จะมีความพยายามจากคนกลางทั้งกาตาร์ อียิปต์ ที่พยายามต่อสายคุยกับคู่กรณีเพื่อไม่ให้เกิดสงคราม แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผล การสังหาร "อิสมาอิล ฮานิเยห์" ผู้นำฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาส ที่เสียชีวิตจากการโจมตีในที่พักที่กรุงเตหะรานในวันที่มีงานสถาปนาประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน ถือว่าเป็นสิ่งที่อิหร่านรับไม่ได้ ด้านอิสราเอลก็มองว่า อิหร่านยังต้อนรับขับสู่แกนนำฮามาส ที่เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โจมตีอิสราเอลในวันที่ 7 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา
ฉะนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีประเด็นความแค้นต่อกัน และมีเหตุผลของตัวเองในการปะทะ เผชิญหน้ากับฝ่ายตรงกันข้าม
หากการเสริมกำลังทัพของสหรัฐฯ ต่ออิสราเอล และ ทัพของรัสเซียต่ออิหร่าน ก็เป็นที่ชัดเจนว่า จีน รัสเซีย จะอยู่ข้างอิหร่าน ขณะที่สหรัฐฯ ยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอล
อิหร่าน-อิสราเอล กล้าเปิดหน้าชก ?
แม้การเสียชีวิตของ "อิสมาอิล ฮานิเยห์" ผู้นำฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาส ยังไร้ซึ่งการยอมรับจากอิสราเอลว่าเป็นผู้ก่อเหตุลงมือ แต่อิสราเอลกลับยอมรับว่าได้สังหาร "โมฮัมเหม็ด เดอิฟ" ผู้นำฝ่ายทหารของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในเวลาต่อมา ทางฮามาสเองก็ออกแถลงการณ์ว่าไม่มีรายงานการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการของผู้นำทางทหารของพวกเขาทั้งสิ้น และยังมีข่าวการสังหารแกนนำทางทหารของกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในกรุงเบรุตของเลบานอนได้อีก
เท่ากับว่าในเวลาไม่กี่วัน อิสราเอลสามารถสังหารแกนนำ ผู้นำของกลุ่มติดอาวุธใหญ่ ๆ ได้ถึง 3 กลุ่ม เรียกว่าเป็นปฏิบัติการล้วงคองูเห่า
ตลอดเวลาที่ผ่านมา อิหร่าน-อิสราเอล ไม่เคยเปิดหน้าเผชิญหน้ากันตรง ๆ แต่เหตุการณ์หลังจากนี้จะถือว่าต่างฝ่ายต่างออกหมัดรัวใส่กันไม่ยั้ง และยุทธวิธีหรือกลยุทธ์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะนำมาใช้ในปฏิบัติการครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่าจับตา
"เฮซบอลเลาะห์" อันตรายสูงสุดอิสราเอล
สิ่งที่น่ากังวลสำหรับอิสราเอลในขณะนี้คือ พันธมิตรของอิหร่านมีรายล้อมอิสราเอลไว้ทั้งหมด และพร้อมที่จะโจมตีอิสราเอลทุกทางในเวลาเดียวกัน มีการวิเคราะห์ว่าการตอบโต้ครั้งนี้ของอิหร่าน กลุ่มที่จะลงมือจัดหนักจัดเต็มเพื่อเคลมเอาผลงานมากที่สุดคือ "กลุ่มเฮซบอลเลาะห์" ที่เริ่มโจมตีเมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมาแล้วนั่นเอง
ด้านอิสราเอลเองก็มีข้อมูล มีแผนผัง รู้จุดที่ตั้งของเฮซบอลเลาะห์อย่างชัดเจนแน่นอน มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการถล่มคืน ณ จุดที่ตั้งนั้น และเป้าหมายจะไม่ใช่เพียงแค่การสกัดกั้นโดยไอรอนโดมแล้ว แต่อิสราเอลจะลุยกลับ หากอิสราเอลต้องการจัดการกับเฮซบอลเลาะห์ให้สิ้น มีคนคาดการณ์ว่าอาจต้องบุกไปถึงถิ่นที่ตั้งเองด้วยซ้ำไป
นั่นเท่ากับว่าเป็นการเปิดฉากโจมตีซึ่งหน้าทั้งภาคพื้นดินและภาคอากาศ ที่ผ่านมามีการตอบโต้กันไปมา แต่ยังไม่เคยมีการบุกเข้าไปภาคพื้นดิน แต่เมื่ออิสราเอลมั่นใจว่าภัยคุกคามที่ใหญ่หลวงและอันตรายต่อตนเองมากที่สุดคือเฮซบอลเลาะห์ที่อยู่ทางเลบานอน
ไทยอาจต้องเตรียมรับแรงงานกลับอีกครั้ง
การปะทะรอบนี้จึงเป็นการขยายวงกว้างของสงครามที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะ อิสราเอล-ฮามาส ในกาซา อีกต่อไป ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันตราย เพราะประชาชนชาวอเมริกัน ชาวอังกฤษ ชาวแคนาดา รวมถึงชาวจอร์แดน เพื่อนบ้านของอิสราเอล เลบานอน ได้รับคำเตือนเมื่อวานนี้ (3 ส.ค.) ให้อพยพออกจากเลบานอนโดยด่วนที่สุด เนื่องจากความตึงเครียดในพื้นที่รบที่เพิ่มขึ้นอย่างสูงสุด ประกอบกับการประกาศแก้แค้นของอิหร่านต่ออิสราเอลด้วย
ทางการสหรัฐฯ เตือนประชาชนของตนเองที่อยู่ในบริเวณเขตรบ หากไม่ต้องการออกจากพื้นที่ ต้องมั่นใจว่าเมื่อเกิดเหตุรุนแรงจะสามารถหลบไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยได้ และการหลบซ่อนตัวอาจกินเวลานาน หากสงครามยืดเยื้อ ขณะนี้หลายสายการบินได้ระงับเส้นทางการบินไปบ้างแล้ว และบางหลายการบินก็จำหน่ายตั๋วหมดแล้ว
กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ได้ส่งเรือรบเพื่อช่วยป้องกันอิสราเอลจากการโจมตีของอิหร่านและพันธมิตรที่อาจเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้แล้ว เช่นเดียวกับอังกฤษที่ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไปเพิ่มในบริเวณรบ ทั้งเรือรบ และเฮลิคอปเตอร์ขนส่งเพื่อภารกิจที่อาจคาดไม่ถึง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายกงศุลที่ต้องดูแลผู้คนในประเทศเพื่อช่วยในการอพยพ
ส่วนทางการไทยนั้น ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ปีที่แล้ว แม้ขณะนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศยังยืนยันว่ามีคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันอยู่อีก 6 คน ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีแรงงานไทยอีกจำนวนมากที่กลับเข้าไปทำงานที่อิสราเอล
หากการปะทะกันครั้งนี้เกิดขึ้น ทางการไทยควรต้องเตรียมแผนรับแรงงานไทยกลับไทยอีกครั้ง หรืออาจต้องประกาศเตือนคนไทยที่อยู่ในอิสราเอล-เลบานอนให้ระวังตัวเพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้ถือว่าทุกพื้นที่ในอิสราเอลมีแต่ความอันตรายทั้งสิ้น
อ่านข่าวอื่น :