ห๊ะ! จริงดิ พี่คือคนที่ใส่หน้ากากบนเวทีเหรอ
“อ๊อฟ” เล่าด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ มีคนตกใจเมื่อรู้ว่าเขาคือว๊ากเกอร์บนเวทีคอนเสิร์ต เพราะภาพลักษณ์และน้ำเสียงที่ดุดันบนเวทีต่างจากความเป็นครูของเด็กประถม
“สวมหน้ากาก” เป็นสำนวนหมายถึงการแสดงอาการที่ไม่ได้เกิดจากนิสัยจริง แต่การใส่หน้ากากบนเวทีคอนเสิร์ตอาจเป็นการปลดปล่อยตัวตนที่แท้จริง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครจะตกใจ เพราะเราต่างอยู่ในสังคมที่ต้องแสดงบทบาทหน้าที่ตามความคาดหวัง
ติดตามเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่งที่สร้างตัวตนภายใต้ “หน้ากาก” และบทบาทที่แตกต่างจากชีวิตจริง
“วัต” ใคร ๆ ก็เรียกผมว่าไฟเยอร์
“อ๊อฟ” ผมเป็นว๊ากเกอร์ครับ
“เก่ง” หรือ “น้าแหลม” โจ๊กเกอร์

ทั้ง 3 คนใส่หน้ากากในบทบาท “โจ๊กเกอร์ - ว๊ากเกอร์ - ไฟเยอร์” ผู้สร้างสีสันบนเวทีคอนเสิร์ตของวงดนตรี “พาราด็อกซ์” ที่หลายคนยืนยันและยกให้เป็นคอนเสิร์ตที่เล่นมันส์ เล่นสนุกและมีเอกลักษณ์มากที่สุด โดยมีพวกเขาเป็นส่วนหนึ่ง
“อ๊อฟ” ชาญณรงค์ วังเย็น “เก่ง” นัทธา กมลรัตนกุล และ “วัต” วัตถาภรณ์ ทองปลอด แบ่งปันเรื่องราวภายใต้หน้ากากและมุมมองเกี่ยวกับการสร้างตัวตนของคนในสังคม
เทสที่สร้าง ร่างที่เป็น
บนเวทีคอนเสิร์ตพวกเขาใส่หน้ากากสร้างความสุขให้กับคนดู แต่อีกด้านของชีวิตนอกหน้ากาก คนหนึ่งเป็นครูสอนเด็กประถม อีกคนหนึ่งเป็นบรรณาธิการในสำนักพิมพ์ และหนุ่มอีกคนคือบาริสตาในชีวิตจริง แต่ละคนจึงมีตัวตนและความรับผิดชอบในเส้นทางที่เลือกแล้ว
อ๊อฟ : ตัวตนที่เป็นครูสอนเด็กประถม ต่างกับว๊ากเกอร์บนเวทีคอนเสิร์ตที่ดูดุดัน อยู่ในโรงเรียนมีคาแร็กเตอร์แบบหนึ่ง น้ำเสียงที่ใช้สอนเด็กก็ต่างจากบนเวที ต้องทำให้เด็ก ๆ รู้สึกอยากเรียนรู้กับเรา ส่วนคอนเสิร์ตก็ไปสนุกกับเพื่อน ๆ สนุกกับคนดู เช้าวันรุ่งขึ้นก็กลับมาสอนหนังสือเหมือนเดิม ทุกหน้าที่จึงต้องทำให้ดีที่สุด

อ๊อฟ-ชาญณรงค์ วังเย็น กับบทบาทว๊ากเกอร์
อ๊อฟ-ชาญณรงค์ วังเย็น กับบทบาทว๊ากเกอร์
เก่ง : ความต่างระหว่างถอดหน้ากากกับใส่หน้ากากคือ ความรับผิดชอบ เมื่ออยู่ในฐานะนักแสดงของพาราด็อกซ์ เรามีหน้าที่สร้างความสนุก ทำโชว์ให้สมบูรณ์และจบได้ด้วยดี แต่เมื่ออยู่ในบทบาทของบรรณาธิการหนังสือ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบมากมาย ยิ่งมีความเปลี่ยนแปลงก็ต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง เพราะการจะทำอะไรมีปัจจัยที่ต้องคิด แต่เมื่อใส่หน้ากาก หน้าที่มันแคบลงและเป็นหน้าที่ที่มอบความสุขให้กับคนอื่น
วัต : อีกโลกหนึ่งเรามีหน้าที่ส่งความสุข ส่งรอยยิ้ม ทำให้คนมีความทรงจำที่ดีร่วมกัน ส่วนในโลกแห่งความเป็นจริงกับบทบาทบาริสตาและครูสอนศิลปะ ตัวตนจะเป็นอีกแบบเพราะสอนเด็กเล็ก ดังนั้นบทบาทในโลกความจริงจึงต้องดูหน้าที่และกาลเทศะ แต่ในโลกดนตรีมีหน้าที่เดียวคือทำให้คนมีความสุข
แม้เป็นคาแร็กเตอร์ที่สร้างความสุขให้กับคนดู แต่ก็มีคำถามจากคนที่มองการกระทำของพวกเขา ใกล้ตัวที่สุดคือหัวหน้างานในชีวิตจริง
อ๊อฟ : ครั้งหนึ่งโรงเรียนจัดแข่งกีฬาและเชิญวงพาราด็อกซ์ไปเล่นคอนเสิร์ต วันนั้นมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งไปดูด้วย พอเล่นเสร็จเขากวักมือเรียกแล้วพูดว่า ‘ดีนะที่เธอใส่หน้ากาก ถ้าถอดหน้ากากฉันไล่เธอออกแล้ว’ เหมือนเป็นการแซวเล่นว่าอยู่บนเวทีเป็นอีกคาแร็กเตอร์หนึ่ง เพราะเขารู้ว่าเราเป็นยังไง

วัต-วัตถาภรณ์ ทองปลอด กับบทบาทไฟเยอร์
วัต-วัตถาภรณ์ ทองปลอด กับบทบาทไฟเยอร์
แต่กับวัตไม่ใช่การหยอก เพราะตอนที่เขายังทำงานออฟฟิศก็ถูกหัวหน้าเรียกไปถามเช่นกัน
เมื่อก่อนทำงานออฟฟิศก็โดนคำนี้ บอสเรียกไปถามว่าคนที่พ่นไฟออกรายการใช่เธอไหม เราก็ตอบว่าไม่ใช่ ซึ่งเขาเอาจริง ถ้ารู้ว่าเป็นผมไล่ออกจริงนะ
คาแร็กเตอร์ที่สอง = ความสุข ?
การสร้างตัวตนใหม่ของแต่ละคน ไม่มีใครรู้ว่าเขากำลังคาดหวังสิ่งใด ทั้งการปกปิดความจริง หลบหนีความทุกข์ สร้างการยอมรับ หรือขวนขวายนำทางพวกเขาให้พบความสุข จึงมีคำถามว่า 3 คนที่มีคาแร็กเตอร์ที่สองภายใต้หน้ากาก มองเรื่องนี้อย่างไร
อ๊อฟ : ความสุขไม่ได้มีแค่บนเวที สอนหนังสือก็มีความสุข แค่เห็นเด็กรับรู้สิ่งที่สอนไปก็สุขแล้ว หากมองมุมนี้ การสอนหนังสือและการเล่นบนเวทีคอนเสิร์ตคือสิ่งเดียวกัน เราอยากมอบอะไรบางอย่างให้กับเขา อย่างบทบาทว๊ากเกอร์ เราต้องการส่งให้คนดูรู้สึกสนุกกับโชว์ ส่วนหน้าที่ครูก็อยากให้นักเรียนได้รับรู้สิ่งที่เราอยากสอน เป็นอะไรที่ใกล้เคียงกันมาก
อยู่ที่ตัวเรามากกว่า ต่อให้เราทุกข์แต่บนเวทีขึ้นไปสนุกกับเพื่อนก็โอเค พอกลับมาในโลกความจริง เจอความทุกข์หรือมีเรื่องที่กำลังเครียดอยู่ ก็แค่มองว่ามันอยู่ตรงไหน มันก็อยู่ที่เรา ความสุขมันก็อยู่ที่เรา

ภาพจาก Paradox
ภาพจาก Paradox
อ๊อฟ : แต่ก็มีหลายคนมองว่าความสุขไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา ไปอยู่กับคนอื่น ไปคาดหวังจากสิ่งอื่นมากกว่า เช่น ยอดไลค์ในโลกโซเชียล พอไม่ได้อย่างหวังก็กลายเป็นทุกข์ แต่จริง ๆ การที่เราได้ทำอะไรออกไปมันคือความสุขของเราแล้ว
วัต : ถามว่าจำเป็นต้องมีคาแร็กเตอร์ที่สองของชีวิตไหม อยู่ที่เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจบริบทของตัวเอง ทุกบทบาทมันเชื่อมโยงกัน ถ้าทำงานก็ต้องรับผิดชอบงาน กลับบ้านไปเราอาจมีแมว พูดเสียงสองกับแมวนั่นก็คือคาแร็กเตอร์ที่สองแล้ว มีความสุขและได้ปลดปล่อยเหมือนกัน อยู่ที่เราเข้าใจตัวเองแค่ไหน หาตัวเองและหาความสุขของตัวเองให้เจอ
เก่ง : คาแร็กเตอร์บนเวทีกับในชีวิตจริงคือตัวตนของเราทั้งหมด เราไม่ได้แยกตัวตนออกไปเพื่อแบ่งว่าฉันต้องการหาความสุข แต่คือหน้าที่ในอีกบทบาท ส่วนการทำงานประจำที่มีความรับผิดชอบมากกว่าก็ไม่ใช่ไม่มีความสุขกับบทบาทนั้น เรามีความสุขกับทุกบทบาท แต่ไม่ได้มีความสุขตลอดเวลา มันมีช่วงที่มีปัญหาและสุดท้ายเราก็ต้องแก้ปัญหา
“หน้ากาก” บนเวทีคอนเสิร์ต
จุดเริ่มต้นที่แสดงโชว์ในงาน Freshy Night ของคณะครุศาสตร์ รั้วจามจุรี จากวันนั้นถึงวันนี้นานเกือบ 30 ปี พวกเขายังคงกระโดดโลดเต้น แต่งตัวตามคาแร็กเตอร์ กลายเป็นสัญลักษณ์ที่เกิดจากความตั้งใจ

ภาพจาก Paradox
ภาพจาก Paradox
“อ๊อฟ” ยังคงคาแร็กเตอร์ “ว๊ากเกอร์” ที่เสียงดังและดุดัน “เก่ง” กับคาแร็กเตอร์ “โจ๊กเกอร์” ที่ชอบเล่น เต้นดุ๊กดิ๊ก และ “วัต” ผู้ชื่นชอบการจุดไฟสร้างสีสันให้กับโชว์จนถูกเรียก “ไฟเยอร์” ถึงขนาดที่เก่งยังแซวว่า ‘ถ้าไม่ได้มาอยู่พาราด็อกซ์ก็คงติดคุกไปแล้ว’
พาราด็อกซ์ที่มีว๊ากเกอร์-โจ๊กเกอร์ เกิดจากการทำจริง เป็นประสบการณ์ที่ค่อย ๆ เรียนรู้กันเองจากการปฏิบัติ (เก่งบอก)
ขณะเดียวกันก็มีบางอย่างเกิดขึ้นภายใต้หน้ากาก คือ การได้ปลดปล่อยตัวเองและเรียนรู้จากความผิดพลาด
เก่ง : เวลาใส่หน้ากากก็เหมือนเป็นนักแสดงคนหนึ่ง เป็นพาราด็อกซ์มาสคอส ผมเป็น “โจ๊กเกอร์” มีหน้าที่สร้างความบันเทิง ชวนคนดูให้มีส่วนร่วม การแสดงทุกคอนเสิร์ตถือเป็นการปลดปล่อยเพราะเหมือนไม่ได้ไปทำงาน แต่ไปเล่นสนุกกับเพื่อน คนอื่นอาจมี Freshy Night แค่ 4 ปี แต่พวกเรามีทุกเดือนมาหลายสิบปีแล้ว
อ๊อฟ : ย้อนถึงวัน Freshy Night ที่ขึ้นไปเล่นสนุกสนานกับเพื่อน ความสนุกมาจากข้างในที่ได้ปลดปล่อยออกมา แต่ละครั้งจึงรู้สึกว่าเราได้ส่งพลังหรือส่งความสุขให้กับคนดูแล้ว แต่บางอย่างที่เราอยากส่งให้ก็ต้องหาวิธีทดลอง มีทั้งที่ทดลองแล้วฟีตแบคดี แต่ก็มีที่ทดลองแล้วไม่ดี ก็ต้องกลับมาปรับหรือหาวิธีอื่นที่ดีกว่า
เคยโยนข้าวกล่องจนข้าวกระจัดกระจาย คนดูเลอะเทอะ เราคิดว่าสนุก แต่เป็นจุดที่สร้างความเดือดร้อน พอทำแล้วเห็นปัญหาเราก็ปรับปรุง
เก่ง : มองว่ามันเป็นช่วงวัย เราเป็นวงที่ทะลึ่งนิด ๆ เคยเอาตุ๊กตายางขึ้นไปเล่นบ้าง เอากางเกงในสวมหัวบ้าง หลาย ๆ อย่างที่ทำอาจดูห่ามหรือเกินเบอร์ ซึ่งก็มีฟีตแบคจากผู้ใหญ่ติติงมา เราก็ปรับ หาวิธีอื่น เปลี่ยนวิธีใหม่ แต่ยังทำให้คนดูสนุกเท่าเดิม

เก่ง-นัทธา กมลรัตนกุล กับบทบาทโจ๊กเกอร์
เก่ง-นัทธา กมลรัตนกุล กับบทบาทโจ๊กเกอร์
คอนเสิร์ตชุลมุนกับการบูม “ตัวใครตัวมัน”
พาราด็อกซ์ขึ้นชื่อเรื่องการแสดงสดและการขายโชว์บนเวทีคอนเสิร์ต ถ้าคุณคิดว่าคอนเสิร์ตของวงดนตรีนี้สุดแสนจะชุลมุน คุณคิดถูกแล้ว เพราะทั้ง 3 คนประสานเสียงยืนยัน ก่อนที่เก่งจะย้ำว่า ‘เราอยากให้เห็นความชุลมุน’
เก่ง : ความชุลมุนเหมาะกับอารมณ์เพลงของพาราด็อกซ์ที่ส่วนใหญ่เป็นเพลงเร็ว บางเพลงไม่ได้โปรโมต บางเพลงคนไม่เคยฟังจากที่อื่นแต่จะได้ฟังตามงานคอนเสิร์ต เป็นเพลงหาฟังยากและไม่ได้มีเนื้อหาเหมือนเพลงที่ฮิตกัน เราจึงใช้ความชุลมุนมาส่งเสริมเพลง เพื่อให้คนฟังรู้สึกว่าต่อให้ฟังเพลงไม่เข้าใจก็สนุกกับมันได้
วัต : จริง ๆ คำว่าชุลมุนในที่นี้ผ่านกระบวนการคิดของวงมาแล้ว แม้จะดูชุลมุน แต่ก็มีลิมิตของมัน
ส่วนการบูมก่อนขึ้นเวทีด้วยประโยค “ตัวใครตัวมัน” ที่ฟังแล้วชวนใจหาย แต่หมายถึงความรับผิดชอบ
เก่ง : ถ้างานใหญ่ ๆ เราจะบูมกันเล่น ๆ เรียกมารวมตัว ‘มา ๆ ๆ ๆ 1 2 3 ตัวใครตัวมัน!’

ภาพจาก Paradox
ภาพจาก Paradox
วัต : ก่อนจะพูดคำนี้เราคุยและตกลงกันแล้ว หน้าที่ใครหน้าที่มัน รับผิดชอบของตัวเองให้ดีและทุกคนต้องรักษาคาแร็กเตอร์เอาไว้
อ๊อฟ : เราวางแผนไว้หมดแล้ว ถึงเวลาหน้างานทุกคนต้องรักษาตัวเองให้ดี คำว่าตัวใครตัวมันของเราไม่ใช่ทางลบ แต่เราต้องดูตัวเองให้ดีที่สุดเมื่อขึ้นไปเล่นคอนเสิร์ต ดูหน้าที่ ดูจังหวะ เพราะถึงเวลาจริง ๆ มานั่งบอกกันไม่ได้แล้ว
ถึงเวลาคอนเสิร์ตก็ต้องตัวใครตัวมัน หมายความว่า คุณรับผิดชอบสิ่งที่คุณต้องทำให้ดี
ความสุขใกล้ตัว-สิ่งที่ได้รับกลับมา
ตั้งแต่วันแรกถึงปัจจุบันแม้หลายอย่างเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ยังคงเดิมคือความสนุกและความสุขที่ได้อยู่กับเพื่อน พี่ น้อง
อ๊อฟ : อยู่กับเพื่อนเราสนุก ไม่ว่าจะเล่นคอนเสิร์ตมาด้วยกันกี่ร้อยกี่พันครั้ง แม้บางวันรู้สึกเหนื่อย แต่เมื่ออยู่บนเวทีและเห็นคนดูเริ่มสนุกกับเรา ก็เหมือนได้ปลดปล่อยตัวเอง

เก่ง : เวลาใช้ชีวิตอยู่กับวงเหมือนโลกไร้กาลเวลา เหมือนเราหยุดอยู่กับที่ รวมตัวครั้งแรกเป็นยังไงวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น มีความสุขจนทำให้ทุกอย่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว เร็วจนเราก็ไม่รู้ตัวว่ามันผ่านไปแล้ว
วัต : ทุกครั้งที่ใส่หน้ากาก ทุกครั้งที่เสียงดนตรีดังขึ้น มันคือการหยุดเวลาและได้กลับไปเป็นเด็ก เหมือนได้รีเซ็ตตัวเองทุกครั้ง
ขณะที่การสวมบทบาทในตัวตนที่สอง จุดประสงค์นอกจากเพื่อความบันเทิง อีกด้านหนึ่งยังเป็นการสร้างความจดจำให้กับผู้คน เป็นสิ่งสำคัญที่ได้รับกลับมาจากการวางคาแร็กเตอร์ของพวกเขาภายใต้หน้ากาก
อ๊อฟ : สิ่งที่เราทำเป็นตัวเราอยู่แล้ว การไปแต่ละที่ แต่ละอย่าง มันคือสิ่งที่เราอยากให้เขาเห็นว่าเราเป็นแบบไหน และเราเป็นเราแบบนี้คือสิ่งที่ทุกคนเห็น
เก่ง : ดีใจที่มีแฟนเพลงจำเราได้ ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่ทำไปมันมีค่า แม้ความตั้งใจแรกคิดว่าจะอยู่กับวงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ แต่มันได้รับความสนุกจากเพื่อน ๆ จากคนดู จากอะไรหลาย ๆ อย่างจนทำให้เราอยู่มาได้นานขนาดนี้ ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดว่าคนจะต้องรู้จักเราในฐานะอะไร เพราะรู้สึกว่าวงดนตรีเป็นสิ่งไม่จีรังยั่งยืน แต่ตอนนี้อาจเป็นความคิดที่ผิด ไม่น่าเชื่อว่าเราทำแบบนี้มาจนอายุจะ 50 แล้ว
ถ้าคนรู้จักเรา เรายินดี ถ้าเรียกผมเรนเจอร์ เรียกผมยอดมนุษย์ เรียกผมสไปเดอร์แมน ผมโอเคหมด นั่นหมายความว่าคุณเห็นสิ่งที่ผมทำบนเวทีและเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร ไม่ว่าจะรู้จักในฐานะไหนขอให้รู้ว่าเราคือพาราด็อกซ์

จากใจ Gen X ถึงวัยรุ่นยุคใหม่
แม้ “ว๊ากเกอร์ - โจ๊กเกอร์ - ไฟเยอร์” คือตัวตนที่สร้างขึ้นเพื่อมอบความสุขให้กับคนอื่น แต่ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งที่ผ่านมาหลายยุคสมัย เชื่อว่าพวกเขามองเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นการค้นหาตัวตนและการสร้างพื้นที่แสดงออกของวัยรุ่นยุคนี้
อ๊อฟ : เด็กสมัยนี้รู้ตัวตนของตัวเองได้เร็ว เร็วกว่าพวกเราเยอะมาก แต่สิ่งที่ผมกังวลในฐานะครูสอนเด็กประถม คือบางอย่าง บางเรื่อง อาจเร็วเกินไปสำหรับเขา ซึ่งเด็กในวัยนี้ควรอยู่กับเพื่อนหรืออยู่กับอะไรที่สนุกสนานไปตามวัย บางเรื่องไม่ต้องรีบเพราะยังไม่ถึงเวลา หากไปรับตรงนั้นมาเร็วก็อาจทำให้เขาเปลี่ยนไปได้เร็ว
เก่ง : ยุคนี้ทุกคนสามารถทำผลงานของตัวเองและเผยแพร่ในช่องทางของตัวเองได้เลย เชื่อว่าทุกคนอยากมีตัวตน แต่วิธีการมันเร็วขึ้นและทำได้ง่ายขึ้น จนบางครั้งการบ่มเพาะความสามารถหรือการบ่มเพาะสิ่งที่เราอยากเป็นจริง ๆ ไม่ได้ถูกกลั่นกรองให้ดี
สิ่งน่ากลัวคือหากเราชอบสิ่งนี้และตัดสินใจเร็วเกินไปโดยที่ยังไม่ได้ทดลองทำอย่างอื่น เมื่อทำไปถึงจุด ๆ หนึ่งแล้วมารู้ทีหลังว่าไม่ใช่ มันอาจจะเสียเวลาที่ต้องกลับไปเริ่มอะไรใหม่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะทุกคนมีช่วงเวลาให้ปรับตัว เพียงแต่เราควรให้เวลากับการค้นหาตัวเองให้มากขึ้น และอาจทำให้เราอยู่อย่างมีความสุขมากกว่าการเร่งให้ประสบความสำเร็จ
วัต : ไม่มีถูกผิดที่เด็กสมัยนี้จะเรียนรู้เร็ว รับสารเร็ว มันเป็นวิถีของเขา เหมือนตอนเราก็เร็วในแบบของเรา ถ้าได้ครูดีก็ได้เรียนรู้ไปในทางที่ดี อยู่ที่โอกาสและตัวเรามากกว่า แต่ก็อย่าลืมว่าบางอย่างต้องการเวลาของมัน ค่อย ๆ เรียนรู้ ค่อย ๆ ตกตะกอนไป สิ่งที่เหมาะสมที่สุดเชื่อว่าต้องผ่านเวลา ผ่านกระบวนการบางอย่างและประสบการณ์ก็เป็นเรื่องสำคัญ
ทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องราวบางส่วนของคนกลุ่มหนึ่งที่สร้างตัวตนที่สองภายใต้หน้ากาก กับความรับผิดชอบในชีวิตที่มีหลายบทบาทในสังคม
อ่านข่าว
ถอดมุมคิด “ต้า พาราด็อกซ์” ฟรอนต์แมนสุดมั่นในทางเพลง
คาราคาซังวนเป็นงูกินหาง "คุณชายอดัม" มองวงการทีวีไทย
"ละครโทรทัศน์" จากร่วงหล่น สู่ทางแยก "โรยรา" หรือ "รุ่งเรือง"