ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชาวนาม้วนเสื่อ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" โปรเจกต์ใหม่"รัฐบาล"ไม่ได้ไปต่อ

เศรษฐกิจ
1 ส.ค. 67
14:37
2,497
Logo Thai PBS
ชาวนาม้วนเสื่อ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" โปรเจกต์ใหม่"รัฐบาล"ไม่ได้ไปต่อ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

พลัน ! ที่ครม.ภายใต้การนำของรัฐบาลเพื่อไทย ไฟเขียวออกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เมื่อปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เห็นชอบหลักการ สำหรับโครงการสนับสนุนปุ๋ย ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิต ลดต้นทุนการผลิตข้าวแก่เกษตรกร ไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาทต่อครัวเรือน

โดยให้สิทธิกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน วงเงินงบประมาณ 29,994.3445 ล้านบาท ใช้เงิน ธกส.ก่อนรัฐบาลชดเชยภายหลัง และยังมีการระบุว่า หลังจากมีมาตรการนี้แล้วรัฐบาลจะยกเลิกการให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ของผู้ที่คัดค้านและสนับสนุน ก็ดังขรม

ส่งผลให้รัฐบาลต้องกลับไปถอยตั้งหลักใหม่แทบไม่ทัน และรอต้องลุ้นต่อว่า “ปุ๋ยคนละครึ่ง” หรือ โครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง วงเงินงบประมาณเกือบ 3 หมื่นล้านบาท จะไปต่อ หรือพอแค่นี้ เนื่องจากรัฐมองว่า โครงการดังกล่าวจะทำให้ชาวนาเข้าถึงปุ๋ยราคาถูก ช่วยต้นทุนการผลิต ขณะที่เกษตรกร เห็นต่างมุมว่า เป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนบางกลุ่ม และปุ๋ยที่ได้รับก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า มีคุณภาพ

ปุ๋ยคนละครึ่งชาวนา VS รัฐ ได้ประโยชน์ ?

ประเทศไทยมีชาวนา 4.6ล้านครัวเรือน ทำนา 65 ล้านไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 30 ล้านตันข้าวเปลือก โดยมีทั้ง ข้าวพื้นนุ่น ข้าวพื้นแข็ง ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะล และเป็นข้าวที่มีคุณภาพ หากโครงการนี้สามารถเดินหน้าต่อไป ใครจะได้เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ตัวจริง

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวกับ “ไทยพีบีเอส ออนไลน์” ถึงโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ว่า ปีนี้ราคาข้าวเปลือกในตลาด ราคาตันละ 11,000-13,000 บาท ขณะที่ข้าว(ตัดสด)ปทุม ราคาตันละ 15,000 บาท รัฐบาลอาจมองว่าเมื่อราคาข้าวสูงขึ้น

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย  และนายเดชา นุตาลัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.)

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และนายเดชา นุตาลัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.)

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และนายเดชา นุตาลัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.)

ดังนั้นโครงการอุดหนุนต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท ที่เคยมีมาควรยกเลิกไป แล้วหันมาสนับสนุนในเรื่องการของเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้กับชาวนา จึงเกิดเป็นโครงการปุ๋ยคนละครึ่งแทน ซึ่งต้องแยกว่า โครงการอุดหนุนต้นทุนการผลิต ไร่ละ 1,000 บาท กับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง คือ คนละโครงการ

“ขณะนี้ปุ๋ยคนละครึ่ง ผ่านการพิจารณาจากอนุนบข. ผ่านนบข. และครม.เห็นชอบแล้ว ด้วยงบ 29,000 ล้านบาท จากเดิม รัฐบาลให้ปุ๋ยมาแค่ 2 สูตร แต่ชาวนาไม่ยอม ของเพิ่มเป็น 13 สูตร เป็น 16 สูตร ก่อนจะมาตัดออกไป 3 สูตร และมีบริษัทปุ๋ยเข้าร่วมโครงการแล้ว 112 ราย มีเกษตรกรลงทะเบียนไปแล้วกว่า 50% ส่วนการอุดหนุนไร่ละพัน ต้องบอกว่าตอนนี้ไม่มี”

นายปราโมทย์ ย้ำว่า โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ในฤดูกาลผลิตปีนี้ไม่ทันแล้ว เพราะชาวนาหว่านข้าว และใส่ปุ๋ยไปแล้ว คาดว่า ในเดือน พ.ค.2568 ซึ่งเป็นฤดูกาลผลิตข้าวนาปรังปีหน้า อาจจะมีความชัดเจนมากขึ้น ส่วนข้อกังวลของชาวนาที่เกรงว่า ปุ๋ยที่ได้จะไม่มีคุณภาพ และอยากได้เงินอุดหนุนไร่ละ 1,000 บาท ขอชี้แจงว่าเป็นคนละโครงการ

โครงการปุ๋ยคนละครึ่งชาวนาได้ประโยชน์ เพราะอย่างไรเสียชาวนาก็ต้องซื้อปุ๋ยมาใส่ข้าว สมมุติว่า ซื้อปุ๋ย 20กระสอบ ราคา 20,000บาท แต่ชาวนาจ่ายแค่ 10,000 บาท อีก 10,000 บาทรัฐบาล เป็นผู้ออกเงินให้ และหากไม่มีโครงการนี้ ชาวนาก็ต้องจ่ายเงินซื้อปุ๋ยในราคา 20,000 บาทอยู่ดี

นายกสมาคมชาวนาฯ ยอมรับว่า โครงการอุดหนุนไร่ละ 1,000 บาท เกิดขึ้นในสมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็นประโยชน์กับชาวนา เนื่องจากในช่วงนั้น ข้าวมีราคาอยู่ที่ตันละ 6,000-7,000 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตของชาวนา อยู่ที่ 6,000-7,000 บาท ทำให้ชาวนาอยู่ไม่ได้ จึงต้องเกิดโครงการไร่ละ 1,000 บาท แต่ปัจจุบันราคาข้าวดีดขึ้นสูงกว่าต้นทุนการผลิต หากประเทศอินเดียยังส่งออกข้าวเหมือนเดิม ก็จะส่งผลให้ราคาข้าวไทยตกลงมา และถ้าเป็นเช่นนั้นอีก ชาวนาก็จะเรียกร้องให้มีไร่ละ 1,000 เหมือนเดิม

ทำไม ชาวนาไม่รับไว้ก่อน กำขี้ดีกว่ากำตด อย่างไรเสียภาครัฐก็อุดหนุนชาวนา ส่วนชาวนาที่เป็นรายย่อยไม่มีเงิน ตรงนี้ก็อาจจะให้ธกส.จ่ายเงินไปให้ก่อน หลังจากชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้วก็นำเงินมาคืนให้ธกส. โดยปลอดดอกเบี้ย

ส่วนคุณภาพปุ๋ยที่ชาวนากังวล ในฐานะคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ยืนยันว่า คุณภาพปุ๋ยที่ชาวนาจะต้องได้ ต้องเต็มสูตรทุกกระสอบ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบคุณภาพ ทำให้มั่นใจว่า ผู้ผลิตปุ๋ยจำนวน112 ราย จะต้องผลิตปุ๋ยเต็มสูตร เพราะถ้าไม่ทำตามเกษตรกรคงไม่ยอมและตนเองก็ไม่ยอม เชื่อว่า รัฐบาลไม่ยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง แต่เนื่องจากโครงการมีขนาดใหญ่ อาจดำเนินการไม่ทัน คาดโครงการฯจะเริ่มได้ในช่วงทำนาปรังในฤดูกาลเพาะปลูกหน้า

เกษตรอินทรีย์ ขอรัฐอุดหนุน “ปุ๋ยอินทรีย์คนละครึ่ง”

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ จำนวน 1,403,441 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 1,348,155 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4) คิดเป็นมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ 9,169.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่า 7,127.63 บาท จึงไม่แปลกหากจะมีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ให้รัฐอุดหนุน “ปุ๋ยอินทรีย์คนละครึ่ง” ด้วยเช่นกัน

นางณัฎฐา เมโฮเซอร์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ ใน จ. สุรินทร์

นางณัฎฐา เมโฮเซอร์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ ใน จ. สุรินทร์

นางณัฎฐา เมโฮเซอร์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ ใน จ. สุรินทร์

นางณัฎฐา เมโฮเซอร์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ ใน จ. สุรินทร์ กล่าวกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ว่า โครงการปุ๋ยคนละครึ่งของรัฐบาล ถือเป็นโครงการที่ดี แต่ปัญหาคือ ทำอย่างไรให้เกษตรกร สามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ทำปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้ได้เข้าร่วมโครงการ จึงอยากเสนอให้รัฐอุดหนุนปุ๋ยอินทรีย์คนละครึ่ง ไม่ใช่จัดเฉพาะเอกชน หรือผู้ผลิตปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอินทรีย์ เพราะชาวนาเองไม่มั่นใจในกระบวนการผลิตเป็นอย่างไร

ในชุมชน เรามีปราชญ์ชาวบ้านที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำปุ๋ยอินทรีย์ ในชุมชนมีวัตถุดิบอยู่แล้ว อยากได้สูตรปุ๋ยแบบไหน คุณภาพอย่างไร เรากำหนดเองได้ ขอแค่รัฐบาลเข้ามาอุดหนุนชุมชน เพื่อให้ชาวนา สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน พึ่งพาตัวเองได้และยังช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกด้วย

โดยสิ่งที่เกษตรกรฯอยากได้ คือ การสนับสนุนจากภาครัฐ ให้ชัดเจนว่า กลุ่มไหน จังหวัดไหน ที่สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์เองได้ รัฐก็ควรให้คนละครึ่งกับชาวนา ซึ่งชาวนาก็นำเงินมาพัฒนาชุมชนตัวเอง ดีกว่าหรือไม่ ถือเป็นการมองมุมกลับ เพราะในแต่ละชุมชน จะมีมูลสัตว์ วัตถุดิบที่มีอยู่แล้วเต็มไปหมด ซึ่งต้นทุนของปุ๋ยอินทรีย์แทบไม่มี เพราะทุกบ้านมีวัตถุดิบอยู่แล้ว ทั้ง มูลสัตว์ ใบไม้ ขี้วัว แล้วมาผ่านระบวนการหมัก

อยากให้ภาครัฐ เปิดโอกาสให้สหกรณ์ที่ทำปุ๋ยอินทรีย์ กลุ่มชาวนาที่ทำอินทรีย์ได้ร่วมโครงการ ถ้าจะบอกว่ามีเงื่อนไขต่าง ๆ ก็ต้องบอกเรามาว่าต้องทำอย่างไรถึงจะเข้าร่วมโครงการได้ เราพร้อมจะพัฒนาให้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง

เสียงเพรียก คนทำนา คือ ชาวนา ขอไร่ละ 1,000 กลับมา

ขณะที่ชาวนาหลายรายใน จ.สุโขทัย บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เนื่องจากชาวนาบางคนไม่มีเงินทุนที่จะไปซื้อปุ๋ย ต้องซื้อเงินเซ็น หรือไปซื้อเชื่อ เอาปุ๋ยจากร้านจำหน่ายมาก่อน หลังจากเก็บเกี่ยวและขายข้าวได้แล้ว จึงจะมาชำระค่าปุ๋ยที่ค้างไว้ นอกจากนี้ก็ไม่มั่นใจว่า ปุ๋ยที่ได้รับจากโครงการฯปุ๋ยคนละครึ่ง มีคุณภาพอย่างไร เนื่องจากพื้นที่นำของแต่ละจังหวัด หรือในแต่ละพื้นที่ใช้สูตรปุ๋ยที่แตกต่างกัน

ทำไมรัฐบาลไม่อนุมัติมาเป็นเงินให้เกษตรกร แล้วให้เรานำเงินไปซื้อเอง ใครอยากซื้อปุ๋ยสูตรไหนก็เป็นเรื่องของชาวนา รัฐบาลไม่ต้องคิดแทนชาวนา ว่า จะต้องใช้สูตรปุ๋ยนั้นสูตรปุ๋ยนี้ เพราะคนทำนา คือ ชาวนา ไม่ใช่รัฐบาล อีกปัญหา คือ จุดกระจายสินค้าที่ยังไม่มีชัดเจน ชาวนาต้องไปรับปุ๋ยที่ไหน และสหกรณ์บางแห่งก็อยู่ห่างไกลเกินไป

ชาวนารายเดิมย้ำว่า อยากให้รัฐบาล เปลี่ยนจาก “ปุ๋ยคนละครึ่ง” มาอุดหนุนรูปแบบอื่น จากที่เคยประชุมร่วมกับระดับผู้นำชุมชน ระดับอำเภอ ซึ่งเคยเสนอช่วยลดต้นทุนการผลิตไร่ละ 3,000 บาท ไม่เกิน 20ไร่ แต่มีเงื่อนไขว่า หากเกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ ชาวนาจะเรียกร้องจากภาครัฐไม่ได้

สอดคล้องกับ นางต้อย เกษตรกร ชาวนาในพื้นที่จ.ปทุมธานี ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 100 ไร่ ปลูกข้าวขาว 5% บอกว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เพราะชาวนาไม่รู้ว่าปุ๋ยที่รัฐบาลจะให้มีคุณภาพอย่างไร และเป็นปุ๋ยอะไรและให้แบบไหน ขอให้รัฐบาลกลับมาจ่ายไร่ละ1,000บาท แบบเดิมดีกว่า เพราะทำให้สามารถไปบริหารจัดการต้นทุนเองได้

“เกษตรกรส่วนใหญ่อยากได้ไร่ละพันมากกว่า และไม่เห็นด้วยกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง และยังกังวลเรื่องคุณภาพของปุ๋ยคนละครึ่ง... ราคาข้าวเปลือกรอบปีผลิตที่ผ่านมาถือว่าราคาดี ตันละ 10,000 บาท ส่วนรอบการผลิตนี้ยังไม่ทราบราคา แต่มั่นใจว่าน่าจะราคาดีเช่นกัน”เกษตรกรจ.ปทุมธานี กล่าว

สว.ป้ายแดง กล่อม ชาวนา ให้รับปุ๋ยคนละครึ่งไปก่อน

นายเดชา นุตาลัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า อยากให้ชาวนามองในด้านบวกของโครงการฯ เพราะรัฐบาลช่วยจ่ายเงินให้ชาวนา ครึ่งหนึ่ง หากไม่มีโครงการนี้ ชาวนาก็ต้องซื้อปุ๋ยใส่ข้าวและจ่ายในราคาเต็มอยู่แล้ว เชื่อว่า การที่รัฐบาลมีโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ก็เพื่อต้องการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เพราะหากเราไม่พัฒนา ผลผลิตต่อไร่ยังน้อย ความสามารถการแข่งขันจะลดลง

ปุ๋ย กระสอบละ 1,000 บาท รัฐบาลออกให้ 500 บาท ชาวนาเลือกสูตรไหนก็ได้ ร้านไหนก็ได้ไม่บังคับ หรือถ้าปุ๋ยกระสอบละ 800 บาท ชาวนาก็ออก 300 บาท รัฐบาลออก 500 บาท ซึ่งต้องไปคุยให้ชัดอีกครั้งว่า รัฐบาลออกให้ 500 บาท ไม่ใช่ไม่เกิน 500 บาท ตรงนี้ต้องชัด

แม้โครงการปุ๋ยคนละครึ่งว่า เป็นโครงการที่ดี แต่นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เห็นต่างว่า สิ่งที่รัฐบาลควรปรับ คือ ให้เป็นตัวเงินและให้ชาวนาไปหาซื้อเองจะตรงใจชาวนามากกว่า การที่รัฐบาลกำหนดให้ ต้องซื้อสูตรนี้ ยี่ห้อนี้ อาจไม่ตรงใจชาวนา ดังนั้นรัฐบาลต้องรอบคอบเพราะโครงการแบบนี้เคยมีการทุจริตมาแล้วในอดีต

สุดท้ายแล้ว คงต้องติดตามต่อไปว่า รัฐบาลเพื่อไทยจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวอย่างไร และจะทันรอบในฤดูการผลิตข้าวนาปรังในปีหน้าหรือไม่ หรือพับโครงการไปก่อนด้วยเหตุเสียงชาวนาส่วนใหญ่ เรียกร้องเป็นเม็ดเงินขอไร่ละ 1,000 ที่ตอบโจทย์ในชีวิตจริงมากกว่า

อ่านข่าว:

 ผู้ส่งออก ห่วง “ลานีญา” ฉุดราคาข้าวครึ่งปีหลัง

เงินบาทอ่อน อานิสงส์ส่งออกข้าวไทย พณ.ปรับเป้าใหม่ 8.2 ล้านตัน

พาณิชย์ ลุยขยายการค้าไทย-จีน ดันเปิดตลาดสินค้าเกษตรเพิ่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง