ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผลการตัดสิน เมื่อนักชกไทย “แพ้คะแนน” ในโอลิมปิก

กีฬา
31 ก.ค. 67
15:26
2,144
Logo Thai PBS
ผลการตัดสิน เมื่อนักชกไทย “แพ้คะแนน” ในโอลิมปิก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

27-30 ,30-27 ,28-29 ,28-29 ,30-27 (ไทย-โมร็อกโก)

ตัวเลขนี้ คือ คะแนนของกรรมการ 5 คน ที่ตัดสินการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นหญิง รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 54 กิโลกรัม ในโอลิมปิก 2024 ซึ่ง จุฑามาศ จิตรพงศ์ นักชกไทย แพ้ให้กับนักชกจากโมร็อกโกไปด้วยเสียงของกรรมการ 3 ต่อ 2 เสียง

นั่นคือ มีกรรมการ 3 คน ให้ไทยแพ้ และมี 2 คน ให้ไทยเป็นฝ่ายชนะ

ข้อสังเกตจากการตัดสินในเกมนี้ มี 2 ประเด็น ... ข้อแรก ทีมไทยมั่นใจว่า สามารถต่อยเข้าเป้าได้อย่างชัดเจนจะแจ้งกว่ามากในยกที่ 3 ทำไมถึงแพ้ ... แต่ประเด็นที่สำคัญ คือ ข้อที่ 2 ซึ่งสามารถเห็นได้จากผลการให้คะแนนเมื่อแยกตามกรรมการแต่ละคน และจะพบว่า มีกรรมการ 3 คน ที่มองเห็นการชกของมวยคู่นี้ ต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง

กรรมการ 2 คน ที่ตัดสินให้นักมวยไทยชนะ ให้คะแนน 30-27 ทั้ง 2 คน หมายความว่า ทั้ง 2 คนนี้ มีความเห็นว่า จุฑามาศ ชกได้ดีกว่านักมวยโมร็อกโก ทั้ง 3 ยก ... ส่วนกรรมการ 1 คน ที่ตัดสินให้ไทยแพ้ ให้คะแนน 27-30 ซึ่งก็หมายความว่า เขาเห็นนักมวยโมร็อกโก เป็นฝ่ายที่ชกดีกว่าไทยทั้ง 3 ยกเช่นกัน

ดูพร้อมกัน ... แต่ผลคะแนนต่างกัน หน้ามือเป็นหลังมือ

ย้อนกลับไปในโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวเมื่อปี 2021 ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี นักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย วัย 36 ปี พ่ายให้กับ ลาซาโร อัลวาเรซ นักชกคิวบา ในการชกรุนเฟเธอร์เวท รอบ 8 คนสุดท้าย ไปด้วยคะแนน 3 ต่อ 2 ทำให้นักชกไทย ปิดฉากชีวิตนักมวยทีมชาติของเขาไปโดยไม่มีเหรียญโอลิมปิกติดมือแม่ช้แต่ครั้งเดียว

คู่นี้ มีลักษณะแบบเดียวกันกับการตัดสินในคู่ของ จุฑามาศ

กรรมการจากคาซัคสถาน ให้คิวบา ชนะทั้ง 3 ยก คือ อัลวาเรซ 30 คะแนน ส่วน ฉัตร์ชัยเดชา 27 คะแนน ... แต่กรรมการจากออสเตรเลีย ให้ไทยชนะทั้ง 3 ยก คือ อัลวาเรซ 27 คะแนน ส่วน ฉัตร์ชัยเดชา 30 คะแนน ... เหมือนกรรมการจาก 2 ชาตินี้ กำลังดูการชกคนละแมตซ์กัน

และยังมีข้อโต้แย้งต่อคำตัดสินมากมายอีกหลายคู่ สำหรับการตัดสินในกีฬามวยสากลสมัครเล่น ที่ยังคงยืนยันจะใช้ “ดุลพินิจ” ของกรรมการ เป็นเครื่องมือหลักในการให้คะแนน ... ทำให้จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าในโอลิมปิก 2028 ที่สหรัฐอเมริกา จะยังคงมีการแข่งขันกีฬาชนิดนี้อยู่หรือไม่

แต่ที่เรารู้แน่ๆแล้ว คือ เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เชื่อถือต่อผลการตัดสินเกิดขึ้นกับนักกีฬาทีมชาติไทยบ่อยๆ ... ย่อมไปส่งผลกระทบอย่างมากกับวงการมวยในประเทศไทย

“ถ้าการตัดสินยังเป็นแบบนี้ นักมวยไทยฝีมือดีจะหายจากการไปเล่นให้ทีมชาติแน่นอน .... เพราะแม้แต่ในตอนนี้ ส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะไม่ไปต่อยให้ทีมชาติกันแล้ว นักมวยเขาเลือกที่จะมุ่งไปแข่งในเวทีมวยไทยใหญ่ๆ เพราะมันมั่นคงกว่า ได้เงินแน่ๆ และได้เงินเยอะกว่า”

กีรติ เจริญลาภ หรือ ตั้ม เจ้าของค่ายมวย TBM ยิม ให้คำตอบว่า วิธีการตัดสินของวงการมวยสากลสมัครเล่น มีผลต่อวงการมวยไทยแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อเกิดข้อกังขาขึ้นแม้แต่ในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างโอลิมปิก

ตั้ม ยืนยันว่า ในปัจจุบันนี้ มีนักมวยไทยจำนวนมาก ที่เลือกจะปฏิเสธการเข้าแคมป์เก็บตัวกับทีมชาติไทย ซึ่งไม่ใช่เพราะนักมวยไม่อยากติดทีมชาติ แต่เป็นเพราะนักมวยไม่มั่นใจว่าการมีฝีมือดีเพียงอย่างเดียว จะช่วยให้พวกเขาจะประสบความสำเร็จในอีเวนต์ใหญ่ๆที่มีโอกาสได้รับเงินอัดฉีดสูงๆอย่างโอลิมปิกได้

“เท่าที่ผมสัมผัสนักมวยมา ไม่ว่าจะเป็นเด็กในค่ายเราหรือในค่ายอื่นๆ ถ้าเราถามแค่ความรู้สึก ก็จะพบว่า นักมวยเขาก็อยากติดทีมชาติกันทั้งนั้น เพราะได้ความภาคภูมิใจ เป็นตัวแทนของชาติไปแข่งกับนานาชาติ และถ้ามีเหรียญรางวัลจากอีเวนต์ใหญ่อย่างเอเชี่ยนเกมส์ หรือ โอลิมปิก ก็จะได้รับค่าตอบแทนค่อนข้างมาก และยังมีชื่อเสียงมากขึ้นไปอีก”

“แต่ถ้าตัดความรู้สึกออกไป และเลือกวิเคราะห์เฉพาะข้อเท็จจริง ก็จะพบว่า มวยสากลสมัครเล่นของไทยห่างหายไปจากการได้เหรียญทองโอลิมปิกมานานมากแล้ว และเกือบทุกครั้งก็จะมีคนที่ชกดี แต่ต้องแพ้แบบมีข้อข้องใจกับคำตัดสินกลับมาแทบทุกครั้ง ... มันก็ทำให้นักมวย เขาอาจจะไม่เชื่อมั่นในศักยภาพหลังบ้านของสมาคมมวยฯ ดังนั้นหากจะต้องไปเข้าแคมป์เก็บตัวกับทีมชาติเป็นปีๆ เพื่อไปรอชกในอีเวนต์ใหญ่ที่มีความหวังน้อย นักมวยส่วนมากที่มีหมัดหนัก ชกดี เขาก็เลือกต่อยมวยไทยดีกว่า พยายามสร้างชื่อเพื่อให้ได้ขึ้นเวทีใหญ่ๆที่ได้ค่าตัวหลักหมื่นดีกว่า เช่น พวกมวยที่ชก 3 ยก ชกกับชาวต่างชาติ มีถ่ายทอดสด และยังมีรางวัลพิเศษเป็นหลัก 1-3 แสนบาทต่อนัด หากชกได้สนุกถูกใจคนดู”

“คิดดูนะ ถ้าได้ขึ้นเวทีพวกนี้บ่อยๆ ก็ได้เงินเยอะแล้ว และถ้าต่อยไฟต์เดียวแล้วคนดูชอบ ดังขึ้นมาเหมือน “รถถัง จิตรเมืองนนท์” เขาก็สบายแล้ว ... แต่ถ้าไปเข้าแคมป์ทีมชาติ เขาก็คิดว่า ถึงมีฝีมือ ถึงต่อยดี ก็ต้องไปลุ้นว่าจะแพ้กรรมการหรือเปล่าอีก แล้วอีเวนต์ใหญ่ๆมันก็ไม่ได้มีบ่อยๆด้วย”

เปลี่ยนกติกาให้การตัดสินมีความยุติธรรมมากขึ้น เป็นทางออกเดียวที่จะทำให้นักมวยไทยอีกส่วนหนึ่ง จะกลับมาสนใจไปร่วมรับใช้ทีมชาติ

“วิธีการให้คะแนนแบบเดิม ยังดูดีกว่าที่ใช้ในปัจจุบัน”

“แบบเดิม คือ กรรมการ 3 จาก 5 คน กดให้คะแนนพร้อมกันเมื่อเห็นนักมวยชกเข้าเป้า และมีคะแนนขึ้นโชว์ให้เห็นตลอดเวลา มันก็ยังตรวจสอบได้ว่าต่อยเข้าเป้าแต่คะแนนไม่ขึ้น หรืออีกฝ่ายต่อยไม่โดนแต่ทำไมคะแนนขึ้น ... แต่พอเปลี่ยนมาใช้วิธีให้คะแนนเป็นยกแบบนี้ ก็ยิ่งเปิดช่องให้กรรมการใช้ดุลพินิจมากขึ้นไปอีก”

“หรือจริงๆควรเปลี่ยนไปตัดสินแบบเทควันโด มีเซนเซอร์ติดที่นวมและเป้าหมาย ถ้าต่อยถูก คะแนนก็ขึ้น เปิดโอกาสให้สต๊าฟสามารถชาเลนจ์ได้ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง มันก็จะมีความยุติธรรมมากขึ้น กีฬามวยก็น่าจะกลับมาได้รับความนิยม เพราะมันจะกลับไปวัดกันที่ความสามารถของนักกีฬาจริงๆ”

ข้อความจากความเห็นของ ตั้ม .. กีรติ เจริญลาภ ... “กลับไปวัดกันที่ความสามารถของนักกีฬาจริงๆ” ถือเป็นข้อความสำคัญจากบุคคลากรคนรุ่นใหม่ในวงการมวยไทยคนหนึ่ง ที่ต้องการส่งไปให้ถึงผู้มีอำนาจในวงการมวย ทั้งในประเทศไทยและในเวทีโลก

“วิธีการตัดสินแบบนี้ มันทำให้กรรมการมีอำนาจมาก และพอมวยต่อยสูสี ชนะกันไม่ขาด มันก็ต้องไปวัดกันที่กำลังภายในแทน ... และในเมื่อคนในวงการมวยบ้านเราต่างก็รู้กันดีว่า ประเทศไทย ... มีกำลังภายในมากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยจะไปช่วยผลักดันให้นักมวยเราไม่ถูกเอาเปรียบได้มั้ย อย่างน้อยถ้าควรชนะแล้วต้องชนะแน่ๆทำได้มั้ย ใช้ฝีมืออย่างเดียวจะไปรอดแน่ๆใช่มั้ย”

“มวย เป็นกีฬาที่ใช้ร่างกายเยอะ มีอายุงานไม่นานนัก เมื่อไปแข่งแล้ว มีโอกาสได้ผลตอบแทนไม่มากนัก มันก็ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักมวยในการเลือกเวทีที่เขาจะขึ้นชก” เจ้าของค่าย TBM ยิม กล่าวทิ้งท้าย

 รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง