วันนี้ (30 ก.ค.2567) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษก กทม. นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ น.ส.เต็มสิริ เนตรทัศน์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ แถลงผลการสอบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย 7 โครงการ
รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การสอบสวนเบื้องต้นพบว่ามีประเด็นข้อบกพร่องที่มีมูลส่อต่อการทุจริต ที่อาจผิดกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาหน่วยงานภาครัฐ ซึ่ง สตท.กทม.ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นส่งให้ ป.ป.ช.ไปดำเนินการทางกฎหมาย
ส่วน กทม.ได้รายงานผลการสอบสวนเบื้องต้นส่งให้ปลัด กทม.ดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง และครบกำหนดวันที่ 19 ก.ค.2567
ณัฐพงศ์ ดิษยบุตร
สำหรับผลการสืบสวนข้อเท็จจริงในการตรวจสอบ 7 โครงการ พบว่า การจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายแพงเกินจริง โดยจัดซื้อแพงกว่าราคาท้องตลาด และสูงกว่าราคาจัดซื้อปีก่อน ๆ หากเปรียบราคาต้นทุน รวมค่าดำเนินการ ก็ยังสูงกว่าเป็นอย่างมาก
TOR พบว่า มีการปรับสเป็กให้สูงขึ้นกว่าที่เคยจัดซื้อมา เช่น เพิ่มกำลังแรงม้า เพิ่มโปรแกรมออกกำลังกาย เพิ่มการรองรับน้ำหนัก เพิ่มจอแสดงผลแบบสัมผัส โดยใช้วิธีสืบราคาจากผู้ประกอบการ 3 ราย และใช้ราคาต่ำสุดเป็นราคากลาง ไม่ได้คำนึงถึงความจำเป็นและความเหมาะสมต่อการใช้งานจริง ซึ่งสเป็กสูงเกินความจำเป็น ส่งผลให้ราคาสูงเกินควร
การกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอตาม TOR พบว่า ข้อกำหนดไม่เปิดกว้างให้เสนอราคาได้อย่างเท่าเทียม เช่น แนบให้หนังสือสัญญาที่ทำกับภาครัฐไม่น้อยกว่า 4 สัญญา ย้อนหลังไม่เกิน 2 ปี ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเกินแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด
นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า การสืบสวนพบว่า มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการจัดทำโครงการฯ และขั้นตอนการพิจารณางบประมาณ จำนวน 25 คน ลาออกจากราชการแล้ว 1 คน โดยไม่ได้ดำเนินการตามหลักความคุ้มค่าที่ต้องมีสเป็กตอบสนองการใช้งาน และราคาที่เหมาะสม รวมถึงไม่มีการทักท้วงเรื่องราคาในขั้นตอนกลั่นกรองงบประมาณ
25 คนเป็นคนที่เกี่ยวข้องในบทบาทหน้าที่ ไม่ได้อยู่หน่วยเดียวกันทั้งหมด การสืบสวนข้อเท็จจริงพิจารณาจากเอกสาร พยานบุคคล ข้อกฎหมาย
ทั้งนี้ ภายหลังแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และความรับผิดทางละเมิดแล้ว จะสอบสวนเชิงลึกหาตัวผู้กระทำผิด และความรับผิดชอบทางละเมิด
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ปลัดกรุงเทพมหานคร สั่งย้ายผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อทั้ง 7 โครงการไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับหลักฐานการดำเนินการทางวินัย และเกิดความโปร่งใสในการตรวจสอบ
เต็มสิริ เนตรทัศน์
ขณะที่ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ กล่าวว่า ป.ป.ช.จะตรวจสอบเรื่องการฮั้วประมูล ส่วนการดำเนินการทางวินัย พบมูลว่าราคาแพงเกินจริง ขั้นตอนต่อไปคือการตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายชื่อ โดยมีกรอบระยะเวลา 120 วัน และขยายได้ไม่เกิน 60 วัน ทั้งการแจ้งข้อกล่าวหาความผิด และการให้โอกาสชี้แจง ก่อนสรุปผลความผิดและการลงโทษเพื่อพิจารณาต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกรอบเวลา
ส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยจะดูว่าใครต้องผิดและคืนเงินให้ กทม.เท่าใด
7 โครงการ จัดซื้อแพงเกินจริง
1.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย สำหรับศูนย์นันทนาการ สังกัดสำนักงานนันทนาการและส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งบประมาณ 17,900,000 บาท
2.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 16 รายการ สำหรับศูนย์นันทนาการสังกัดสำนักงานนันทนาการ และส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งบประมาณ 11,013,600 บาท
3.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 21 รายการ ศูนย์กีฬาอ่อนนุช ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งบประมาณ 15,696,600 บาท
4.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 21 รายการ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งบประมาณ 12,112,600 บาท
5.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 10 รายการ ศูนย์กีฬามิตรไมตรี ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งบประมาณ 11,013,000 บาท
6.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 11 รายการ ศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งบประมาณ 4,999,500 บาท
7.โครงการประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์ เสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย 11 รายการ ศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งบประมาณ 4,999,990 บาท