วันนี้ (30 ก.ค.2567) เว็บไซต์ "ฮั่วเซ่งเฮง" วิเคราะห์ภาพรวมเคลื่อนไหวที่ผ่านมา พบว่า ราคาทองคำสัปดาห์ก่อนผันผวน ซึ่งราคาทองคำมีแรงเทขายทำกำไรออกมาต่อเนื่องทำให้ราคาทองคำปรับตัวลงต่ำสุดที่ 2,353 ดอลลาร์ นอกจากนี้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นกดดันราคาทองคำ ขณะที่ในสัปดาห์นี้นักลงทุนรอติดตามการประชุมเฟด การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น และการประชุมธนาคารอังกฤษ ส่วนกองทุน SPDR ถือครองทองคำเท่าเดิม
ตัวเลขเศรษฐกิจที่ต้องติดตามสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค. โดย Conference Board ตลาดคาดว่าจะลดลงสู่ 99.7 จาก 100.4 ในเดือนมิ.ย. และจำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร ตลาดคาดว่าจะลดลงสู่ 8.02 ล้านตำแหน่ง จาก 8.14 ล้านตำแหน่งในเดือนพ.ค.
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มหลักของราคาทองคำยังคงมีสัญญาณทิศทางการปรับตัวลง และสัญญาณจาก Modified Stochastic ยังไม่เข้าสู่ Oversold อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาทองคำเริ่มชะลอการเคลื่อนไหวลง ซึ่งคาดว่าราคาทองคำอาจยังเคลื่อนไหว Sideways ในกรอบแคบก่อนผลการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้
อ่านข่าว:
“ราคาทอง” ร่วงแรง 550 บาท “รูปพรรณ” ขายออก 39,916 บาท
สำหรับ ราคาทองตลาดโลกแนวรับ : 2,370 และ 2,360 ดอลลาร์ แนวต้าน : 2,390 และ 2,400 ดอลลาร์คาดว่าราคาทองคำเคลื่อนไหว Sideways ทั้งนี้อาจชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนในผลการประชุมเฟด หรือซื้อขายตามกรอบแนวรับแนวต้านในช่วงสั้น ๆ โดยเข้าซื้อบริเวณ 2,360 ดอลลาร์ โดยมีจุดตัดขาดทุนที่ 2,350 ดอลลาร์
ราคาทองคำแท่ง 96.5%แนวรับ : 40,500 และ 40,400 บาทแนวต้าน : 40,700 และ 40,800 บาทคาดว่าราคาทองคำแท่งทรงตัว หรือเคลื่อนไหว Sideways ในกรอบไม่ไกลมากนัก
นักลงทุนรอความชัดเจนของผลการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ แนะนำให้ชะลอการลงทุนทองคำแท่งไปก่อน
ทั้งนี้ภาพรวมความเคลื่อนไหวราคาทองคำปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ ได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์ จากความหวังว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. ทั้งนี้จะมีการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้
มีความเป็นไปได้ว่าการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ จะเห็นการส่งสัญญาณของเฟดในการปรับลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย. และความต้องการทองคำในอินเดียเพิ่มขึ้น หลังอินเดียลดภาษีนำเข้าทองคำ โดยค่าพรีเมี่ยมทองคำในอินเดียพุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี
สำหรับราคาทองวันนี้ ลบ 100 บาท ส่งผลให้ราคาทองคำแท่งขายออกบาทละ 40,600 บาท และราคาทองคำแท่งรับซื้อบาทละ 40,500 บาท ราคาทองรูปพรรณขายออกบาทละ 41,100 บาท และราคาทองรูปพรรณรับซื้อบาทละ 39,764.68 บาท ราคาทองคำตลาดโลก (Gold Spot) อยู่ที่ 2,379.50ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 36.03บาทต่อดอลลาร์
โดยราคาทองรูปพรรณรวมค่ากำเหน็จ 500 บาท มีราคาดังนี้ ทองครึ่งสลึง ราคาขาย 5,575 บาท ทอง 1 สลึง ราคาขาย 10,650 บาท ทอง 2 สลึง/50 สตางค์ ราคาขาย 20,800 บาท และทอง 1 บาท ราคาขาย 41,100 บาท ภาพรวมเดือนก.ค. ราคาทอง บวก 100 บาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประเมินเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.80-36.35 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทปิดแข็งค่าที่ 36.06 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเงินเยนและฟรังก์สวิส โดยเงินเยนแข็งค่าอย่างรวดเร็วสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งท่ามกลางภาวะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง
ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดิ่งลง อีกทั้งนักลงทุนรอดูผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ทางด้านสหรัฐฯรายงานจีดีพีไตรมาส 2 เติบโต 2.8% ซึ่งสูงกว่าไตรมาสแรกและการคาดการณ์ของตลาด
ขณะที่ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล(PCE) พื้นฐานเพิ่มขึ้น 2.9% ในไตรมาส 2 ชะลอลงจาก 3.7% ในไตรมาสแรก นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 86 ล้านบาท และ 20,442 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ว่า นักลงทุนจะติดตามการประชุมบีโอเจวันที่ 30-31 ก.ค. ซึ่งเราคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 15bp จากระดับ 0-0.10% ต่างจากการมุมมองทั่วไปของตลาด
นอกจากนี้ ประเมินว่าบีโอเจจะประกาศลดการเข้าซื้อพันธบัตร แต่หากท่าทีของบีโอเจแข็งกร้าวน้อยกว่าคาด เงินเยนจะเผชิญแรงขายทำกำไรรอบใหม่ ขณะที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)วันที่ 31 ก.ค.- 1 ส.ค. มีแนวโน้มที่จะปรับจุดยืนเพื่อปูทางไปสู่การลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย.
แม้จีดีพีไตรมาส 2 ของสหรัฐฯแข็งแกร่งเกินคาดแต่มองว่าทิศทางหลักยังบ่งชี้ว่าแรงส่งเชิงบวกของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกำลังแผ่วลง อย่างไรก็ดี คาดว่าการซื้อขายอาจเป็นไปอย่างผันผวนขณะตลาดปรับสถานะตามโทนการสื่อสารของเฟดและตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค.ของสหรัฐฯท้ายสัปดาห์
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพี ไทยปี 67 เป็นขยายตัว 2.7% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 2.4% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภคภายใน โดยประมาณการนี้ยังไม่รวมผลที่คาดว่าจะได้รับจาก Digital Wallet
ซึ่งกระทรวงคลังประมาณในเบื้องต้นว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.2-1.8% ตลอดทั้งโครงการ ทางด้านก.พาณิชย์รายงานยอดส่งออกเดือนมิ.ย.ลดลง 0.3% y-o-y เนื่องจากสินค้าผลไม้เข้าสู่ช่วงท้ายฤดูกาล ขณะที่บรรยากาศการค้าโลกเริ่มสะท้อนความกังวลต่อแนวโน้มมาตรการกีดกันทางการค้า
อ่านข่าว:
"คลัง"ชี้เศรษฐกิจฟื้น ปรับ GDP ปี 67 จาก 2.4% ขยับเป็น 2.7%
กฟภ.ยกเลิกติดมิเตอร์เครื่องที่ 2 สำหรับชาร์จรถ EV เริ่ม 1 ก.ย.67
"นอมินี" รุกกวาดเศรษฐกิจไทย เอเลียนสปีชีส์ ยึดพื้นที่ท่องเที่ยว