วันนี้ (30 ก.ค.2567) สถานการณ์ฝนตกหนักน้ำท่วม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่าน และลมมรสุมตะวันเฉียงใต้กำลังแรงในทะเลอันดามันและอ่าวไทย กรมชลประทาน รายงานว่ามี 12 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ พิษณุโลก ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี จันทบุรี ตราด พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์
สถานการณ์น้ำท่วมในจ.จันทบุรี ทำให้มีบ้านเรือนประชาชนจมน้ำ
ฝนถล่มตราด-จันทบุรีมาราธอนนับสัปดาห์
นายสมควร ต้นจาน ผอ.กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ปริมาณฝนเฉลี่ยปี 2567 ภาพรวมทั้งประเทศในช่วงเวลาเดี่ยวกันของเดือนก.ค.ยังต่ำกว่าค่าปกติ 9% โดยมีปริมาณฝนสะสม 654 มม.หากเทียบกับค่าปกติ 808 มม.ส่วนปี 2566 ปริมาณ 601 มม
นายสมควร กล่าวว่า แต่พบว่าในภาคตะวันออกที่มีปริมาณฝนตกสะสมมากกว่าค่าเฉลี่ย 2 เท่า เช่น สถานีคลองใหญ่ จ.ตราด ข้อมูลฝนสะสมถึงวันที่ 28 ก.ค.สูงถึง 3,086 มม.มากกว่าปี 2566 ปริมาณฝนสะสมเพียง 1,401 มม.และมากกว่าปี 2554 ปริมาณฝนสะสม 2,596 มม.เรียกว่าฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ย 15% ทำให้หลายพื้นที่น้ำท่วมมาตลอดช่วงสัปดาห์
อ่านข่าว น้ำท่วมตราดอ่วม 3 อำเภอ น้ำป่าทะลักฟาร์มหมู-เล้าไก่ตายอื้อ
เทียบปริมาณฝนตกสะสมในอ.คลองใหญ่ จ.ตราด ปริมาณสะสม 3,086 มม. (กรมอุตุนิยมวิทยา)
สถิติฝนตกที่ตกสะสมในตราด เพียงจังหวัดเดียวของปีนี้มากกว่าค่าเฉี่ย 15% ฝนตกสะสม 3,086 มม.จากค่าปกคิ 2,600 มม.โดยพบฝนตกหนักต่อเนื่องช่วงวันที่ 17-18 ก.ค.นี้ปริมาณกว่า 300 มม.จากนั้นยังตกหนักกว่า 100 มม.เป็นสัปดาห์
ผอ.กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวอีกว่า ส่วนที่จันทบุรี ปริมาณฝนตกสะสม 1,778 มม.จากค่าปกติ 1,508 มม.สูงกว่าปี 2566 ฝนตกสะสม 1,687 มม.หรือสูงกว่า 7%
เทียบปริมาณฝนตกสะสมใน จ.จันทบุรี ปริมาณสะสม 1,778 มม. (กรมอุตุนิยมวิทยา)
ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องนานนับสัปดาห์ ในตราด-จันทบุรีมาจากร่องมรสุม และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ยังไม่ใช่อิทธิพลฝนจากพายุ ซึ่งพบว่าตกหนักต่อเนื่อง สลับเบา และคาดว่าภายใน 1-2 วันฝนจะเบาลง
ขณะที่ในช่วงสัปดาห์นี้ ร่องฝนที่ขยับและขอบมวลอากาศเย็น จะทำให้ฝนจะกระจุกตัวแถวภาคเหนือ ภาคกลาง เพราะมีตัวแนวร่องฝน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนภาคอีสานด้านตะวันตกฝนยังไม่มาก ยังรับน้ำฝนได้อีก
ทั้งนี้ฤดูฝนของไทยในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.ซึ่งเป็นช่วงพีคของฤดูฝน แม้ภาพรวมฝนยังน้อยกว่าค่าปกติ แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ เพราะปัจจัยจากสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้น และสภาวะกลางของลานิญา
อุทยานฯ ระดมจนท.เข้าช่วยผู้ประสบภัย
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สั่งการด่วนระดมกำลังเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม
โดยเมื่อวานนี้ (29 ก.ค.) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว จัดกำลังลงพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ในท้องที่ ต.ตะสอ อ.เขาสมิง จ.ตราด ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐจากทุกภาคส่วน
ส่วนพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี นายสาคร สืบสาย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค จัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมเช่นกัน
เจ้าหน้าที่อุทยานฯเข้าให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม
ทั้งนี้ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งช มอบหมายให้สำนักพื้นที่อนุรักษ์ทุกสำนักทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ในสังกัด เข้าให้การช่วยเหลือประชาชน หากเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม ต้นไม้ล้มทับบ้านเรือน สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านข่าว เช็ก 6 เส้นทางเลี่ยงน้ำท่วมตาก-ตราดระดับน้ำสูง
มวลน้ำไหลผ่านเขตเศรษฐกิจจันทบุรี
วันเดียวกันเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี นำธงแดง มาติดไว้ที่สะพานแม่น้ำจันทบุรี บริเวณวัดจันทนาราม ต.จันทนิมิตร อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนระวังสูงสุด เพราะระดับน้ำในแม่น้ำจันทบุรีใกล้ถึงจุดวิกฤตแล้ว กับพร้อมแจ้งเตือนประชาชนชุมชนริมน้ำจันทบูร นำสิ่งของขึ้นที่สูงและเคลื่อนย้ายรถยนต์
บ้านไม้ชุมชนริมน้ำจันทบุรีหลายหลัง ทยอยนำสิ่งของขึ้นที่สูง เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วม แต่ชาวบ้านมองว่า ปีนี้น้ำไม่น่าจะไหลท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ เพราะเริ่มทรงตัวแล้ว
ชุมชนริมน้ำจันทบูร ต้องยกของขึ้นที่สูงหลังระดับน้ำยังเพิ่มสูง
นอกจากนี้มวลน้ำจาก อ.มะขาม จ.จันทบุรี คาดว่าจะผ่านตัวเมืองจันทบุรี ไปแล้วเมื่อคืน แต่ไม่ล้นตลิ่ง
นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผอ.ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประเมินว่า น้ำจากตอนบนของลุ่มน้ำมาถึงตัวเมืองจันทบุรี แต่ระดับน้ำลดลง เพราะไม่มีน้ำทะเลหนุน ทำให้การระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยเป็นไปได้ดี เห็นได้จากกระแสน้ำในแม่น้ำจันทบุรีที่ไหลเร็วและแรง
อ่านข่าว
2 ชม.ฝนถล่มกทม.เช็กพิกัดน้ำท่วมขังถนนหลายจุด
สภาพอากาศวันนี้ "เหนือ - อีสาน - ตะวันออก" ฝนตกหนักบางแห่ง