การรับบริจาคยาที่เหลือใช้ เเละเวชภันฑ์ต่าง ๆ จึงเป็นทางออกในการช่วยเหลือและแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลอุ้มผาง
นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ระบุว่าที่ผ่านมาโรงพยาบาลอุ้มผางต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากโรงพยาบาลแห่งนี้ เป็นโรงพยาบาลชายแดนที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนและชาวเมียนมาข้ามประเทศมารักษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ โดยเฉพาะยาที่ต้องจ่ายให้กับคนไข้ และในช่วงที่ผ่านมา จากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมาในช่วงปี 2021 หลังจากการเกิดรัฐประหาร ส่งผลให้มีอัตราตัวเลขของผู้ที่เข้ารับการรักษาเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งด้านของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากภัยสงคราม รวมทั้งประชาชน ที่อพยพมาอยู่ในบริเวณค่ายลี้ภัย ทางโรงพยาบาลอุ้มผาง มีโครงการรับบริจาคยามากว่า 10 ปีแล้ว เเละนอกเหนือจากนั้น ยังมีกลุ่มมูลนิธิพัฒนาต่างชาติ เข้ามาร่วมพัฒนาความเป็นอยู่ รวมถึงส่งเสริมระบบสาธารณสุขในบริเวณค่ายผู้ลี้ภัย

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง
นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง
จุดเริ่มต้นโครงการรับบริจาคยา ช่วยเหลือกลุ่มผู้อพยพลี้ภัยทางการสู้รบ
โรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองแม่สอด ถึง 164 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากกว่า 4 ชั่วโมง นอกจากนั้นโรงพยาบาลอุ้มผางตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชายแดน จึงมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตกหล่นจากการสำรวจ และไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบมารักษาเป็นจำนวนมาก ทำให้โครงการนำยาเหลือมาใช้จึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยเริ่มจากเปิดรับบริจาคยาจากคนในพื้นที่ใกล้เคียง
ตลอดในช่วงกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา โรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก มีปัญหาเรื่องหนี้สินติดลบทุกปี เพราะต้องดูแลกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ จึงไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้จากรัฐ ล่าสุดปี 2566 ที่ผ่านมานี้ มีหนี้สินไปแล้วกว่า 46 ล้านบาท

สถานการณ์ปัจจุบันในค่ายผู้ลี้ภัย
นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ระบุว่า ปัจจุบันเข้าสู่งช่วงหน้าฝน ทำให้อัตราการระบาดของโรคไข้มาลาเรียเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะมาควบคู่กับกันโรคท้องร่วม ท้องเสีย จากการขาดเเคลนน้ำดื่มที่สะอาดเพื่อใช้ในการอุปโภคเเละบริโภค ที่ผ่านมามีองค์กรพัฒนาต่าง ๆ รวมไปถึงหน่วยงานรัฐ เเละผู้ใจบุญเข้ามาบริจาคสิ่งของเเละ ร่วมกับสร้างระบบสุขา เพื่อเพิ่มระบบสาธารณสุขในค่ายผู้ลี้ภัยในมีประสิทธิภาพ เเต่ช่วงนี้ นับเป็นช่วงที่การควบคุมสถานการณ์ไข้มาลาเรียนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากขาดเเคลนบุคลากรชาวเมียนมา ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจ เเละดูเเลสถานการณ์ในบริเวณค่ายผู้ลี้ภัย

สำรวจสถิติประชากร
สำหรับจำนวนประชากร ผู้ที่เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก ขณะนี้มีอยู่กว่า 84,000 คน แต่ในจำนวนนี้ เป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยถึงร้อยละ 47 หรือประมาณ 40,000 คน จึงต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแล หากดูงบประมาณย้อนหลังไป 10 ปีของโรงพยาบาลอุ้มผาง พบว่าติดลบเกือบทุกปี เฉพาะ 5 ปีหลัง ติดลบทั้งหมด 3 ปี คือปี 2563 ติดลบ 41 ล้านบาท ปี 2565 ติดลบ 17 ล้านบาท และปี 2566 ติดลบไปกว่า 46 ล้านบาท ที่ผ่านมา ผู้บริหารโรงพยาบาล พยายามแก้ปัญหาด้วยการของบประมาณเพิ่ม รวมถึง ทำโครงการรับบริจาคยาเหลือใช้ โดยเฉพาะยาที่ใกล้หมดอายุ เพื่อให้ผู้ป่วยไร้สัญชาติเข้าถึงยาได้มากขึ้น ซึ่งมีการบริจาคยา รวมถึงเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆเข้ามา จึงสามารถช่วยแบ่งเบาภาระไปได้บางส่วน

ปัจจุบันโรงพยาบาลอุ้มผางมีแพทย์ 10 คน ในจำนวนนี้มีแพทย์รักษาเฉพาะด้าน พยาบาลวิชาชีพ 80 คน และเจ้าหน้าที่อื่นๆอีก 8 คนดูแลผู้ป่วยทั้งคนไทย และชาวต่างชาติตามแนวชายแดนปฏิบัติงานทั้งเชิงรับและเชิงรุก จัดแพทย์เคลื่อนถึงหมู่บ้านในถิ่นทุรกันดารทั้งผู้ป่วยในประเทศและนอกประเทศ

รายงาน : ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ