ความคืบหน้าการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาด 16 จังหวัดทั่วประเทศ โดยนำงบประมาณการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รับซื้อปลากิโลกรัมละ 15 บาท เพื่อนำไปผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ
วันนี้ (25 ก.ค.2567) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มาตรการสำคัญในขณะนี้ คือ การรับซื้อปลาหมอคางดำที่ชาวประมงล่ามาไปทำปุ๋ยชีวภาพ รวมทั้งประสานโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งสนใจนำไปแปรรูปเป็นปลาร้า
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เมื่อเคลียร์พื้นที่ปลาหมอคางดำได้แล้ว จะปล่อยปลานักล่าควบคุมประชากรปลาดังกล่าวที่เหลืออยู่ รวมทั้งปล่อยพันธุ์ปู ปลา กุ้ง เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งน้ำ ส่วนปฏิบัติการรับซื้อปลาหมอคางดำจากการล่า ในราคากิโลกรัมละ 15 บาทนั้น จะประเมินผลทุกเดือนว่าการแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ กรมประมงจะคุมเข้มไม่ให้มีการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ โดยมีอัตราโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท
ส่วนการสืบสวนหาที่มาของการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนไต่สวนข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยจะครบกำหนดวันที่ 30 ก.ค.นี้ และจะแถลงข่าวผลการสอบสวนว่าต้นตอมาจากที่ใด ส่วนจะเอาผิดบุคคล หรือเอกชนที่เป็นต้นตอได้หรือไม่ ฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างดูรายละเอียดทั้งหมด
ในกรณีข้อสงสัยว่าปลาอาจหลุดสู่แหล่งน้ำธรรมชาติระหว่างการทำลองเลี้ยง แม้จะขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้องนั้น รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ต้องสืบสวนสอบสวน และหาสาเหตุที่ปลาดังกล่าวแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำสำคัญ รวมถึงการส่งออกปลาหมอคางดำไปต่างประเทศ เพื่อตอบข้อสงสัยของสังคม
การเอาผิดทางอาญา หรือทางแพ่ง ต้องดูว่ามีข้อกฎหมายรองรับหรือไม่
อย่างไรก็ตาม กรมประมงอยู่ระหว่างของบกลางเพื่อแก้ปัญหานี้ เบื้องต้นมีภาคเอกชนสนใจรับซื้อปลาไปแปรรูปด้วยเช่นกัน
อ่านข่าว : จ่อฟ้องแพ่งค่าเสียหายคดี สวล."ปลาหมอคางดำ"
อนุกมธ.เปิดเอกสารซีพีเอฟ ระบุชื่อ 2 ขรก.รับซาก "ปลาหมอคางดำ" ปี 2551
"ปลาหมอคางดำ" จับจากน้ำเน่าเสี่ยงสารพิษ-เชื้อโรคในตัวปลา