วันนี้ (25 ก.ค.2567) กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี แจ้งเตือนประชาชน เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน หลังเกิดฝนตกหนักติดต่อนานหลายวัน จนเกิดน้ำป่าไหลบ่าเข้าท่วมพื้นบ้านเรือนประชาชน พื้นที่การเกษตร และเส้นทางสัญจร
ฝนที่ตกต่อเนื่องตลอดทั้งวันใน จ.กาญจนบุรี ส่งผลให้น้ำบนเทือกเขา ไหลบ่าลงสู่ลำห้วยซองกาเรีย อ.ทองผาภูมิ ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว น้ำเอ่อล้น ไหลหลากเข้าท่วมถนน 323 ทองผาภูมิ-สังขละบุรี หน้าหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 11 ต.ชะแล บางจุดระดับน้ำสูง 30-50 ซม. ส่งผลให้รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้
ส่วนบริเวณจุดท่องเที่ยวลำห้วยซองกาเรีย ผู้ประกอบต้องรีบนำซุ้มร้านค้า ที่ตั้งบริการนักท่องเที่ยวริมน้ำขึ้นมาบนฝั่ง หลังระดับน้ำเพิ่มสูง และไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนแล้ว
เช่นเดียวกัน ที่บ่อน้ำพุร้อนหินดาด อ.ทางผาภูมิ ที่ต้องประกาศงดให้บริการชั่วคราว เนื่องจากมวลน้ำจากลำธาร ไหลเข้าท่วมบ่อน้ำพุร้อน ขณะที่ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แจ้งเตือนชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยง และเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
ชาวบ้านกังวลน้ำท่วม หลังเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ
ส่วนที่ จ.พระนครศรีอยุธยา หลังกรมชลประทานระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาตอนบน ไหลผ่านท้ายเขื่อน จ.ชัยนาท อยู่ที่ 700 - 1,200 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา สูงขึ้นประมาณ 30 ซม. แต่ยังไม่ล้นตลิ่ง แต่ต้องเฝ้าระวังจุดเสี่ยงที่ราบลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ ต.บ้านใหม่ ต.บ้านป้อม ต.สำเภาล่ม และ ต.คลองตะเคียน อ.พระนครศรีอยุธยา ที่เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง
ขณะที่ ชาวบ้านใน ต.บางชะนี อ.บางบาล ซึ่งอยู่หลังประตูระบายน้ำ มีความกังวล เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และมีน้ำท่วมทุกปี แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะเข้ามาแก้ปัญหา และสร้างประตูระบายน้ำก็ตาม
อ.แม่ระมาด อ่วม ฝนตกข้ามคืน น้ำไหลบ่าท่วม รร.
ที่ จ.ตาก ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 กองร้อยทหารพรานที่ 3501 ช่วยครูโรงเรียนบ้านห้วยนกแล ต.แม่ระมาด อ.แม่ระมาด จ.ตาก ขนย้ายโต๊ะเก้าอี้ และอุปกรณ์การเรียนการสอนขึ้นที่สูง หลังจากฝนที่ตกหนักหลายวัน ทำให้น้ำในลำห้วยนกแล และลำห้วยแม่จะเรา ไหลบ่าเข้าท่วมโรงเรียน ซึ่งต้องประกาศปิดโรงเรียนชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของครูและนักเรียน
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ยังช่วยกันนำกระสอบทรายกั้นหน้าบ้านให้กับชาวบ้านป้องกันนำไหลเข้าท่วมทรัพย์สินเสียหาย ล่าสุดจังหวัดสั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ชายแดน เพราะระดับน้ำในแม่น้ำสายต่าง ๆ โดยเฉพาะแม่น้ำเมย สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนผู้นำหมู่บ้านประกาศเสียงตามสายให้ประชาชนเฝ้าระวัง
ขณะที่ จ.พิจิตร ชาวนาและเจ้าหน้าที่เร่งติดตั้งเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ เพื่อสูบน้ำจากทุ่งวังจิก ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง ลงสู่แม่น้ำยม เพื่อป้องกันน้ำท่วมนาข้าวกว่า 10,000 ไร่ เสียหาย สำหรับน้ำที่ท่วมนาข้าว ใน ต.วังจิก เกิดจากฝนที่ตกชุกสะสม และน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำยม
ปภ.คาดการณ์-แจ้งเตือนภัย ณ.เวลา 18.00 น.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย เมื่อเวลา 18.00 น.
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในระยะสั้น
- ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน (อ.ขุนยวม) เชียงใหม่ (อ.อมก๋อย แม่แจ่ม) และตาก (อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ อุ้มผาง)
- ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี (อ.สังขละบุรี ทองผาภูมิ) จันทบุรี (อ.ขลุง มะขาม เขาคิชฌกูฏ) และตราด (อ.เมืองฯ บ่อไร่ คลองใหญ่ เขาสมิง แหลมงอบ)
สำหรับพื้นที่ เฝ้าระวังดินถล่ม
- ภาคเหนือ จ.ตาก (อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด)
- ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี (อ.สังขละบุรี ทองผาภูมิ)
ทั้งนี้ขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ พื้นที่เสี่ยงเชิงเขาระวังอันตรายจากดินถล่ม
ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังทะเลหนุนสูง บริเวณปากแม่น้ำและพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่ง
- ภาคกลาง จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร
- ภาคใต้ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ พื้นที่ปากแม่น้ำและที่ราบลุ่มชายฝั่งระวังผลกระทบจากระดับน้ำทะเลหนุนสูง
อ่านข่าว : "เสือโคร่ง" ในป่าไทย เพิ่มขึ้นเป็น 179-223 ตัว