ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ปลาหมอคางดำ" จับจากน้ำเน่าเสี่ยงสารพิษ-เชื้อโรคในตัวปลา

สิ่งแวดล้อม
25 ก.ค. 67
17:27
2,549
Logo Thai PBS
"ปลาหมอคางดำ" จับจากน้ำเน่าเสี่ยงสารพิษ-เชื้อโรคในตัวปลา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักโภชนวิทยา ชี้ปลาหมอคางดำมีโปรตีนสูงเทียบเท่าปลานิล-ปลาหมอเทศ บริโภคได้แต่ควรตรวจสอบแหล่งที่มาของปลา ต้องอยู่ในแหล่งน้ำสะอาด หากจับจากน้ำเน่าเสี่ยงมีสารพิษ-เชื้อโรคปะปนในตัวปลา

กรณีการระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ 16 จังหวัดซึ่งแม้จะมีการส่งเสริมให้จับปลามาทำเมนูอาหาร และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพ 

ผศ.ดวงใจ มาลัย อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และไม่ใช่ปลาในกลุ่มเศรษฐกิจที่นำมาบริโภค รวมทั้งไทยไม่ได้ส่งเสริมให้มีการเลี้ยง จึงทำให้ในประเทศไทยยังไม่มีผู้วิเคราะห์ข้อมูลด้านคุณค่าทางโภชนาการ

แต่ในประเทศฟิลิปปินส์ ที่นำปลาหมอคางดำมาเลี้ยงเช่นกัน และในปี 2554 พบว่าปลาชนิดนี้ เริ่มมีการรุกรานหรือบุกรุกเข้าไปในฟาร์มปลา ทำให้มีปัญหาและต้องการกำจัด จึงมีการทำวิจัยปลาหมอคางดำเพื่อมาใช้ประโยชน์ ด้วยการแปรรูป ทำเนื้อปลาบด

การบริโภคเช่นเดียวกับปลานิล เช่น ต้ม ทอด นึ่ง หรือ ถนอมอาหาร เพื่อกำจัดให้ได้จำนวนมาก เช่น ทำปลาหมัก ปลาร้า ปลาเจ่า ปลาส้ม แหนมปลา หรือนำไปถนอมอาหาร แปรรูป ทำลูกชิ้น

อ่านข่าว "ณัฐชา" เสนอญัตติด่วนตั้ง กมธ.วิสามัญแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ

เมนูปลาหมอคางดำทอด

เมนูปลาหมอคางดำทอด

เมนูปลาหมอคางดำทอด

โปรตีนสูงเทียบเท่า ปลานิล-ปลาหมอเทศ

ผศ.ดวงใจ ระบุว่า ปลาหมอคางดำ เป็นปลาในวงศ์เดียวกับ ปลานิล ปลาหมอ เทศ หากเทียบเคียงด้านคุณค่าทางโภชนาการ ก็คล้ายกับปลานิลที่มีข้อมูล พบว่า เนื้อปลามีปริมาณโปรตีนสูงอยู่ในช่วง 18-20% ไขมันประมาณ 2% ซึ่งเป็นลักษณะของปลาทั่วไปที่มีคุณภาพทางด้านโภชนาการ ส่วนพลังงานอยู่ที่ 95-100 กิโลแคลอรี่ต่อเนื้อปลา 100 กรัม

ปลาหมอคางดำอยู่ในวงศ์เดียวกันปลาหมอเทศที่นำมาบริโภค แต่คนไทยไม่ถูกใจ ส่วนปลานิลเป็นที่นิยม เพราะเนื้อนิ่มกว่า ปลาหมอเทศเนื้อแข็ง ซึ่งคล้ายกับปลาหมอคางดำ จึงไม่ได้รับความนิยมในการบริโภค

อ่านข่าว "ฝูงนาก" โผล่กิน "ปลาหมอคางดำ" ป่าชายเลนริมเจ้าพระยา 

ผศ.ดวงใจ ระบุว่า ลักษณะของปลาหมอคางดำ เจริญเติบโต และแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว รวมทั้งมีความถี่ในการบริโภคสูง จึงเกิดระบบนิเวศไม่สมดุล ทำให้ต้องกำจัด แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ปลาหมอคางดำ การเจริญเติบโตได้ดีทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำทะเล และยังเจริญเติบโตได้ดีในน้ำเน่าด้วย

อ่านข่าว "นาก" ไม่ใช่คำตอบปราบ "ปลาหมอคางดำ" ห่วงควบคุมยาก

จับปลาหมอคางดำ บึงมักกะสัน กทม.

จับปลาหมอคางดำ บึงมักกะสัน กทม.

จับปลาหมอคางดำ บึงมักกะสัน กทม.

แห่จับปลาบึงมักกะสัน เสี่ยงรับสารพิษ

ก่อนหน้านี้ที่มีประชาชนแห่จับปลาหมอคางดำที่บึงมักกะสัน กทม. กังวลว่า แหล่งน้ำนี้ มีการทิ้งน้ำเสีย โอกาสที่จะเป็นแหล่งเชื้อโรค มีสารพิษปะปนในน้ำ รวมทั้งปลาที่อยู่ในแหล่งน้ำนี้ ก็จะซึมซับสารพิษ และเชื้อโรคไว้ในตัวปลาด้วย ซึ่งการนำปลาจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดมาบริโภค ก็อาจจะเป็นอันตราย ไม่แนะนำให้บริโภค แต่สามารถนำไปทำน้ำหมัก เป็นปุ๋ยรดพืชได้

ประชาชนทั่วไปหรือผู้ประกอบการ ควรสอบถามแหล่งที่มาของปลา หากมาจากแหล่งน้ำที่สะอาด บริโภคได้เลย

ไบโอไทย จัดเวทีถกปลาหมอคางดำ

ขณะที่วันพรุ่งนี้ (26 ก.ค.) มูลนิธิชีววิถี (BioThai Foundation) ร่วมกับ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารหายนะสิ่งแวดล้อม จัดเสวนา กรณีปลาหมอคางดำ : การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศ และปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. 

โดยจะมีการรายงานผลกระทบจากในพื้นที่จริงจากชาวประมงพื้นที่สมุทรสง คราม ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งผลกระทบวิเคราะห์ผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และแนวทางการฟื้นฟูในมุมมองนักนิเวศวิทยา รวมทั้งแนวทางการเยียวยาชดเชยความเสียหาย และการฟ้องร้องตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง