วันนี้ (25 ก.ค.2567) ชาวบ้านย่าน ใน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ถ่ายคลิป "ตัวนาค" ขณะกำลังจับ "ฝูงปลาหมอคางดำ" กินเป็นอาหารอย่างเอร็ดอร่อย ซึ่งจะพบเห็นได้ตามลำคลองและริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่ ใน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ป่าชายเลนข้างเคียง ในภาพเป็นฝูงตัวนากที่โตเต็มวัยกำลังแหวกว่ายดำผุดดำวาย กว่า 10 ตัว ในการจับปลากินเป็นอาหาร โดยเฉพาะปลาหมดคางดำที่กำลังแพร่ระบายอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง
ฝูงตัวนากในพื้นที่ อ.พระสมุทรเจดีย์ จะพบเห็นได้ช่วงเวลาหัวน้ำขึ้นหรือเวลาช่วงเย็น ซึ่งเป็นเวลาของการหารอาหาร โดยในพื้นที่ อ.พระสมุทรเจดีย์ ยังพบเห็นฝูงตัวนากได้ทั่วเกือบทุกพื้นที่ โดยในพื้นที่ ต.บ้านคลองสวน จะพบมากที่สุด
นายชัยพร กลิ่นกล้า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ต.บ้านคลองสวน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ กล่าวถึงกรณีที่ชาวบ้านมีการบอกว่า ต.บ้านคลองสวน จะมีฝูงนาก หรือตัวนากมาอาศัยอยู่จำนวนมากนั้น ว่า เป็นความจริง และปัจจุบันเริ่มจะขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น เพราะพื้นที่อื่นเป็นชุมชนเมืองเกือบจะทั้งหมด และจะเห็นฝูงนากหรือตัวนากน้อยลงเพราะมีการลุกล้ำเข้าไปในถิ่นที่อาศัยของสัตว์จำพวกนี้ ทั้งก่อสร้างอาคารบ้านเรือน โรงงาน ทำให้ฝูงนากต้องย้ายถิ่นฐานหรือที่อยู่อาศัยใหม่
อ่านข่าว : "นาก" ไม่ใช่คำตอบปราบ "ปลาหมอคางดำ" ห่วงควบคุมยาก
นายชัยพร กลิ่นกล้า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ต.บ้านคลองสวน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ
นายชัยพร กล่าวว่า ในพื้นที่ ต.บ้านคลองสวน ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ป่า ชาวบ้านยังมีการทำเกษตรประมงเลี้ยง กุ้ง เลี้ยงปลา อีกทั้งยังติดกับป่าชายเลนของพื้นที่เขตบางขุนเทียน กทม.และยังไม่มีการก่อสร้างหมู่บ้านหรือโรงงานมากนัก ทำให้ฝูงนากได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ต.บ้านคลองสวน และพื้นที่ใกล้เคียงและจะเห็นได้เกือบทุกวัน โดยเฉพาะช่วงหัวน้ำขึ้นหรือยามเย็นตามริมคลองริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ปกติตัวนากพวกนี้จะอยู่รวมกันเป็นฝูงกระจายไปตามที่ต่าง ๆ ทั่วตำบลและพื้นที่ใกล้เคียง โดยบริเวณบ้านตนซึ่งทำเกษตรเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาจะพบเห็นตัวนากบ่อยครั้งละ 15-20 ตัว ซึ่งนากพวกนี้จะอยู่กันเป็นแบบฝูงย่อยไม่ค่อยรวมตัวเป็นฝูงใหญ่ ส่วนอาหารโปรดอย่างของพวกนาก คือ ปลา แต่ในการกินปลานั้นจะแตกต่างออกไปจากสัตว์จำพวกอื่นคือจะกินเฉพาะหัวปลามากกว่า เพราะตัวปลาจะมีก้างที่แข็งและย่อยยาก
ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ต.บ้านคลองสวน กล่าวอีกว่า ที่ตนพบเห็นบ่อยคือจะกินพวกปลานิล ปลาหมอ ปลาหมอคางดำ และปลาที่มีกระดูกแข็งจะเลือกกินแต่หัวและทิ้งตัวไว้ แต่ปลาชนิดจะเลือกกินเฉพาะตัวปลาเนื่องจากหัวปลาแข็ง กางปลาแข็งจะเลือกกินแต่เนื้อบริเวณลำตัวเท่านั้นและยังกุ้งอีกด้วย
ส่วนพฤติกรรมการหากินปลาของพวกตัวนากนั้นจะดำผุดดำว่ายจับปลาตัวใหญ่ที่มีไซด์ขนาด 3-4 นิ้ว กินเป็นอาหาร ส่วนปลาที่เล็กกว่านี้จะไม่ค่อยจับมากินเพราะปลาที่เล็กจะจับยากและกินยาก
ในช่วงนี้มีการระบาดและแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำ การที่เห็นฝูงตัวนากมาว่ายน้ำไล่จับกินเป็นอาหารมองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะเข้ามาช่วยในการกำจัด ถึงจะทำได้ไม่มากนัก แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่กำจัดกันเอง
อย่างไรก็ตาม หากจะคาดหวังว่าให้ปลาหมอคางดำนั้นหมดไปนั้นเป็นไม่ได้ คงต้องพึ่งด้วยตัวเอง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวเข้ามาช่วยเหลือจึงจะสามารถกำจัดได้ แต่มองว่าจะกำจัดได้ยาก เพราะเกือบทุกพื้นที่ในขณะนี้ปลาหมอคางดำระบาดอย่างหนักทั้งในคลอง บ่อ วัง แม้กระทั่งในทะเล ยังมีคนพบเจอปลาหมอคางดำอยู่เลย
อ่านข่าว : “ซีพีเอฟ” ไม่มาชี้แจง ! อนุ กมธ.ฯ "ปลาหมอคางดำ" ผู้บริหารระบุติดภารกิจ