วันนี้ (25 ก.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 3.0 ลึก 1 กม. ที่ต.โคกล่าม อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เมื่อเวลา 18.01 น.ของวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย หรือการรับรู้แรงสั่นสะเทือน
แต่ข้อมูลจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว รายงานว่าก่อนหน้านี้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็ก และถือเป็นครั้งแรกของการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ที่ประชาชนรับรู้ถึงแรงสั้นสะเทือน
- เวลา 14.54 น. (22 ก.ค.) เกิดเหตุแผ่นดินไหว บริเวณ ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ขนาด 2.9 ความลึกกว่า 1 กิโลเมตร
เวลา 14.54 น. (22 ก.ค.) เกิดเหตุแผ่นดินไหว บริเวณ ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ขนาด 2.9 ความลึกกว่า 1 กม.
เร่งหาคำตอบแผ่นดินไหวลำปลายมาศ
นายสมศักดิ์ วัฒนปฤดา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า แผ่นดินไหวในพื้นที่ อ.ลำปลายมาศ เมื่อปี 2566 เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ล่าสุดแผ่นดินไหว 2 ครั้งในรอบ 3 วันคือขนาด 2.9 และ 3.0 ประชาชนรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากการดูข้อมูลเก่า ที่เพื่อขุดเจาะสำรวจน้ำมันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เคยเห็นมีรอยเลื่อนกำลังตรวจสอบ แต่ในช่วง 10-20 ปีไม่เคยมีปรากฎว่ามีรอยเลื่อนมีพลังในพื้นที่ และนักวิชาการุชคุยกันและอาจเกิดแผ่นดินไหวที่ไม่เกิดจากรอยเลื่อนหรือที่เรียกว่า Background Earthquake
พื้นที่ อ.ลำปลายมาศในช่วง 2 ปีเคยเกิดแผ่นไหว 5 ครั้ง ดังนั้นเพื่อหาคำตอบใน 2-3 วันนี้ จะนำเครื่องวัดแผ่นดินไหวแบบโมบาย ไปติดตั้งเพื่อศึกษาการเกิด และส่งเจ้าหน้าที่ลงไปศึกษาในพื้นที่ว่ามีรอยเลื่อน หรือมีการขยับของหินบะซอลล์ในพื้นที่หรือไม่ เพราะหากหินบะซอลล์ที่อยู่ใต้ดินลึกขยับ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว ที่เรียกว่า Background Earthquake ได้ แต่ยังสรุปคำตอบชัด ๆไม่ได้ขอเวลาช่วง 3 วันนี้หลังจากลงพื้นที่และจะแถลงข่าวในพื้นที่
ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ ของกรมทรัพยากรธรณี เนื่องจากก่อนหน้านี้ เคยประเมินว่าพื้นที่ภาคอีสานทั้งภาค ไม่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว และหากขยับก็ไม่น่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ มากสุดขนาด 3.0
ส่วนกรณีที่ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ มีปล่องภูเขาไฟเก่า ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรณี ระบุว่า ที่เขากระโดง เขาพนมรุ้ง เป็นภูเขาไฟที่ไม่มีปฎิกิริยาใด ๆ มาหลายปีแล้ว ถือเป็นปล่องที่ดับแล้ว และไม่น่าจะมีความเชื่อมโยงกัน
ชาวบ้านผวาแผ่นดินไหว
ขณะที่ไทยพีบีเอส ลงพื้นที่หมู่บ้านลุงม่วง ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ พบว่าทั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลโคกล่าม อาจารย์มหาวิทยาลัย และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านลุงม่วง จับกลุ่มพูดคุยกัน และยอมรับว่าเริ่มวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยกับชีวิตและทรัพย์สิน แม้ตอนนี้จะยังไม่มีความเสียหายหรือผลกระทบอะไรให้เห็น แต่ชาวบ้านในพื้นที่ก็เริ่มสัมผัสถึงความผิดปกติ และครั้งนี้เป็นการเกิดแผ่นดินไหวครั้งที่ 2 ในรอบเพียง 3 วัน
โดยครั้งก่อนเกิดวันที่ (22 ก.ค.) ช่วงเวลา 14.54 น. ที่บริเวณบ้านโนนงิ้ว ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ขนาด 2.9 ความลึก 1 กิโลเมตร ซึ่งตามรายงานจุดศูนย์กลางของการเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรก และครั้งที่สองมีระยะห่างกันแค่ประมาณ 2 กม.เท่านั้น
เบื้องต้นทางอำเภอลำปลายมาศ ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบยังไม่พบความเสียหายแต่อย่างใด แต่ก็กำชับให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ชาวบ้านระมัดระวังและหลีกเลี่ยงเข้าใกล้จุดศูนย์กลางของการเกิดแผ่นดินไหวเพื่อความปลอดภัยด้วย
แผ่นดินไหวขนาด 3.0 ลึก 1 กม.พื้นที่ ต.โคกล่าม อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เมื่อเวลา 18.01 น.วันที่ 24 ก.ค.
ดร.นิพล อินนอก อาจารย์สอนมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย นครราชสีมา ซึ่งมีบ้านอยู่ในหมู่บ้านลุงม่วง กล่าวว่า ช่วงเย็นที่ผ่านมาขณะนั่งทำงานอยู่ก็เกิดอาการคลื่นไส้เหมือนจะอาเจียน ตอนนั้นยังไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น กระทั่งรู้ว่าเกิดแผ่นดินไหวห่างจากบ้านเพียง 1 กม.
เกิดแผ่นดินไหว 2 ครั้งในระยะใกล้เคียงกัน รู้สึกกังวลว่าอาจเกิดอาฟเตอร์ช็อก หรืออันตรายขึ้น ที่ผ่านมาเคยประสบเหตุแผ่นดินไหวที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย มาแล้ว
นายอนุพงศ์ จำปาศรี ส.อบต.บ้านลุงม่วง ม.1 บอกว่า อยากให้หน่วยงานภาครัฐมาตรวจสอบถึงความชัดเจนของการเกิดแผ่นดินไหว ว่าจะมีผลกระทบมากน้อยขนาดไหน เพื่อคลายความกังวลให้กับชาวบ้าน