ดิจิทัลวอลเล็ต พายุ (ไม่) หมุน?

เศรษฐกิจ
24 ก.ค. 67
19:47
633
Logo Thai PBS
ดิจิทัลวอลเล็ต พายุ (ไม่) หมุน?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วันนี้ (24 ก.ค.2567) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ

รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเมื่อเริ่มดำเนินโครงการแล้วจะก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจจำนวน 4 ลูก แต่หากดูในรายละเอียดยังพบคำถามที่ตามมาในแต่ละประเด็น ดังนี้

พายุหมุนลูกที่ 1 การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังฐานราก กระจายไปพร้อมกันทุกอำเภอทั่วประเทศ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน

หากดูจำนวน-ประชาชนที่คาดว่าจะเข้าโครงการและลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” บนสมาร์ทโฟน ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณการไว้จำนวน 45 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท โดยมีจำนวนร้านค้าที่เข้าเกณฑ์มากพอสมควร แต่คำถามคือร้านค้าเหล่านี้จะมาร่วมลงทะเบียนตามเวลานัด 1 ก.ย.นี้ หรือไม่ เพราะเงื่อนไขค่อนข้างยุ่งยาก

เปิดเงื่อนไขการใช้จ่าย "ประชาชน-ร้านค้า" ต้องรู้

  • การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ในอำเภอเดียวกันกับทะเบียนบ้านเท่านั้น และต้องซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face)
  • การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า สามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ แม้จะอยู่ต่างพื้นที่ก็ตาม

หนึ่งในผู้ที่มีสิทธิเข้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต สะท้อนว่า เงื่อนไขยังไม่ครอบคลุม และไม่ได้รับความสะดวก เพราะผู้ที่อยู่ห่างไกลมีเพียงตลาดขนาดเล็ก ซึ่งมีสินค้าไม่ครบถ้วนตามความต้องการ แตกต่างกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ตลาดขนาดใหญ่

เช่นเดียวกับหญิงอีกคนที่มีสิทธิในโครงการนี้ แสดงความเห็นต่อเงื่อนไขว่าควรจะใช้ได้ทั่วประเทศ เพราะในระหว่างการท่องเที่ยวสามารถใช้สิทธิซื้อสินค้า และอาหาร รวมทั้งใช้จ่ายระหว่างการเดินทางไปธุระต่างจังหวัดได้

เมื่อมาดูพายุหมุนลูกที่ 2 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งมีเป้าหมายร้านค้าขนาดเล็กรายย่อยเข้าร่วมกว่า 1.6 ล้านราย, ร้านค้าที่มีข้อมูลในส่วนกระทรวงพาณิชย์ 9.1 แสนราย, ร้านธงฟ้า 1.4 แสนแห่ง, ร้านอาหารธงฟ้า 5 หมื่นราย, ร้านค้าโชห่วย ร้านอาหาร หาบเร่แผงลอย ตลาดนัด ของกระทรวงมหาดไทย 4 แสนราย, กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 หมื่นราย

แต่ผู้ประกอบการหลายราย ต่างมีความกังวลประเด็นความห่างไกลทุรกันดาร และการจ่ายภาษี ส่งผลให้ตัวเลขร้านค้าขนาดเล็กน้อยลง และตัวเลือกสินค้าของผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย นำไปสู่การซื้อสินค้าจากร้านขนาดใหญ่ลดลงเช่นกัน

จำนวนร้านค้าขาดเล็กก็จะมีน้อยลง และผู้บริโภคก็มจะมีสินค้าให้เลือกน้อยลง และนำไปสู่การซื้อของจากร้านค้าขนาดใหญ่ได้ลดลงเช่นกัน

นายนนทกร พงศ์สุขเวชกุล ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อย อ.ดอยสะเก็ด สะท้อนว่ากำไรที่ได้รับอาจไม่คุ้มกับภาษีที่ต้องจ่าย เช่นเดียวกับผู้ประกอบการร้านกาแฟ ใน จ.ราชบุรี ที่กังวลกับการจ่ายภาษีเช่นเดียวกัน เพราะโครงการนี้มีกติกาค่อนข้างมาก และมีรายละเอียดยิบย่อยที่ประชาชนต้องวางแผนการใช้จ่ายซื้อสินค้า จึงเห็นว่าเป็นเรื่องยากลำบากเกินไป

พายุหมุนลูกที่ 3 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อยอดกำลังซื้อ การบริโภค หรือสร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ จุดนี้ยังต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการ ไม่เช่นนั้นพายุหมุนลูกนี้จะกลายเป็นไม่มีพลัง

พายุหมุนลูกสุดท้าย ลูกที่ 4 พลังการใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคนจะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ ช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม แน่นอนว่าภาครัฐต้องการให้เกิดตัวทวีคูณในระบบเศรษฐกิจ

พรรคเพื่อไทย เคยประมาณการในเอกสารหาเสียงว่า โครงการนี้จะสร้างผลคูณทางเศรษฐกิจมีค่าตัวทวีคูณกว่า 2-2.5 เท่า และมีผลต่อจีดีพีให้โตขึ้น 1.2-1.8% แต่หลายคนมองว่าอาจจะเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป

บางสำนักวิจัยและศูนย์วิจัยจะใช้ตัวเลขตัวทวีคูณอยู่ที่ 0.3 เท่า ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีความอนุรักษ์นิยมมากกว่า เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งได้ทบทวนงานวิจัยต่าง ๆ ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว พบว่า ตัวคูณทวีทางการคลังมีค่าประมาณ 0.3-1.2

ในกรณีประเทศไทย KKP Research คาดการณ์ตัวคูณทวีทางการคลังไว้เพียง 0.4 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพียง 0.3 โดยประเมินว่าส่วนหนึ่งประชาชนไม่ได้ใช้เงินทั้งหมด บางคนเลือกไม่ใช้หรือใช้ไม่ทันระยะเวลาที่กำหนด ประชาชนบางส่วนอาจไม่ใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าใหม่ แต่ใช้เพื่อแทนการใช้จ่ายที่จำเป็นเดิม และสินค้าบางส่วนที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นสินค้านำเข้า นโยบายดังกล่าวคาดว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ไม่มาก

ส่วนซีไอเอ็มบี คาดการณ์ว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีผลต่อจีดีพีเพียง 0.2 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ kkp research คาดว่ามีผลเพียง 0.3 % ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า 0.5 % และสภาพัฒน์ มองไว้ที่ 0.25 %

วิเคราะห์ : ปรัชญ์อร ประหยัดทรัพย์ บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : ดีเดย์ 1 ส.ค.-15 ก.ย.67 ประชาชนลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ต

เช็ก! เงื่อนไข "ดิจิทัลวอลเล็ต" ขั้นตอนลงทะเบียน "ทางรัฐ" 

นายกฯ ส่ง 3 รมต.คลัง แถลงเงินดิจิทัลวอลเล็ต 24 ก.ค. 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง