ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คาราคาซังวนเป็นงูกินหาง "คุณชายอดัม" มองวงการทีวีไทย

ไลฟ์สไตล์
26 ก.ค. 67
06:00
562
Logo Thai PBS
คาราคาซังวนเป็นงูกินหาง "คุณชายอดัม" มองวงการทีวีไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง" วรรคทองของเพลงดังยุค 90 อาจใช้เป็นคำจำกัดความ ความหมายวงการละครไทยยุคปัจจุบันได้ เมื่อผู้จัดหลายคนพยายามปรับตัวจากทีวีสู่ออนไลน์ แต่ "คุณชายอดัม" มองว่าการแก้ปัญหาคาราคาซังนี้ ใช้เฉพาะคนในวงการสื่อช่วยกัน "ไม่พอ"

ในยุคที่ 5G ทะลุทะลวงเข้าถึงทุกบ้าน การเสพสื่อความบันเทิงต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์หรือที่เรียกกันติดปากว่า "สตรีมมิง" กลายเป็นคำตอบที่ง่ายขึ้นของ "ผู้ชม" 

แต่นั่นกลับเป็น "โจทย์ที่ยาก" ของผู้ผลิตละครไทย 

ไทยพีบีเอสออนไลน์พูดคุยกับ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล หรือคุณชายอดัม ถึงทิศทาง แนวโน้ม และ "ทางออก" ของผู้ผลิตอุตสาหกรรมสิ่งบันเทิงในประเทศไทย ในวันที่มีข่าว ช่อง 8 ประกาศยกเลิกผังการออกอากาศของ "ละคร" ช่อง 3 ก็เพิ่งสั่งเบรกการถ่ายละครในช่วงครึ่งปีหลัง คนดูเริ่มได้ดู "ละครรีรัน" ทางทีวีกันบ่อยขึ้น ซึ่งสวนกระแสกับ "สืบสันดาน" ซีรีย์ไทยจากค่ายกันตนา ที่สตรีมมิงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ Netflix กลับขึ้นแท่นผู้เข้าชมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

พอภาพความต่างชัดเจนแบบนี้ คำตอบที่หลายคนบอกแทบจะเป็นเสียงเดียวกันคือ "ผู้ผลิตละครก็ต้องย้ายไปออนไลน์สิ"

ไม่อยากให้ทุกคนยึดมองตัวเลขเป็นคำตอบครับ มันดูเข้าข้างตัวเอง 

คำตอบของ "คุณชายอดัม" ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน New Media บอกออกมาแบบนั้น พร้อมให้เหตุผลว่า ตัวเลขระดับโลก ไม่ได้เป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญหรือสามารถนำมาวัดคุณค่า ชี้วัดความเป็นไปของวงการละคร ซีรีย์ ภาพยนตร์ของไทยได้ 

วงการผลิตสื่อบันเทิงไทยยังติดกับกับปัญหาที่เรื้อรังมานานอยู่ เช่น อัตราคนดูเริ่มลดลงมาตั้งแต่มีการประมูลทีวีดิจิทัล ที่สังเกตปัจจุบันนี้เห็น "ช่องวัน" ช่องเดียวที่เรตติ้งยังขึ้นอยู่ แต่ก็ถือว่าเพิ่มในระดับเล็ก ๆ แต่ภาพรวมทั้งหมดก็ยังมีอัตราการดูทีวีของคนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเรื่อย ๆ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ทำให้เหล่าสปอนเซอร์ ไม่กล้าลงทุนกับช่อง เพราะมองว่าไม่คุ้มค่า

ทีวี จะอยู่ได้จากค่าโฆษณาที่เข้ามา ถ้าช่องเรตติ้งไม่ดี ก็ไม่มีสปอนเซอร์คนไหนอยากลงทุน ส่งผลมาถึงละครก็ต้องถูกสั่งหยุดถ่ายทำ หรือผู้จัดเองก็ไม่กล้าถ่ายทำ ต้องรอจนกว่าช่องจะขายโฆษณาได้

ทีวีอยู่ยาก ย้ายไปออนไลน์อาจง่ายกว่า ?

คุณชายอดัม แยกความแตกต่างการเจริญเติบโตของช่องทางการเผยแพร่ของสื่อบันเทิงไว้ว่า ทีวีจะได้รายได้จากค่าโฆษณา ส่วนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ได้รายได้จากค่าสมัครเข้าดูของคน จะเป็นรายเดือนหรือรายปี ก็แล้วแต่โปรโมชั่น 

เมื่อที่มาของแหล่งเงินไม่เหมือนกัน โมเดลการบริหารก็ย่อมแตกต่างกัน

แพลตฟอร์มออนไลน์ถือว่ามีรายได้มากกว่าทีวี เพราะในทีวีต้องใช้ละคร 20-40 เรื่อง/ปี ให้ครอบคลุมกับผังละครของช่องเพื่อให้คุ้มกับค่าใช้จ่าย แต่สำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์ใช้ปีละ 20 เรื่องก็ถือว่าพอ ถ้ามองในมุมผู้ผลิตละคร กับมุมคิดที่ว่า จะต้องข้ามจากทีวีไปออนไลน์ แต่ในเมื่อขีดจำกัดของออนไลน์อยู่ที่ 20 เรื่องต่อปี ก็กลายเป็นคำถามกลับมาว่า "แล้วจะไปยังไง ?" และต้องสร้างละครแนวไหน ? เพื่อให้สามารถป้อนสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ได้ แน่นอนว่าคือความท้าทายของกลุ่มผู้ผลิตละคร ถือเป็นโจทย์ใหญ่กับวงการทีวีในวันที่ถูกแพลตฟอร์มออนไลน์เข้าแทรก  

พล็อตเรื่องละครไทย คุณชายอดัม ยังคงยืนยันว่า "คนไทย" ยังนิยมดู "ละครน้ำเน่า" อยู่อย่างสม่ำเสมอ ต่อให้วันนี้คนดูจาก 70 ล้านคนจะเหลือเพียงแค่ 10 คน แต่ 9 ใน 10 ก็ยังเลือกที่จะดูละครน้ำเน่า และความนิยมของละครไทยแบบน้ำเน่าก็ยังสูงกว่าซีรีย์ฝรั่งหรือจีนด้วยซ้ำ แต่อยู่ที่ "คุณภาพ" การผลิตที่จะทำให้คนดูหรือไม่ดู

เราปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังชอบดูเรื่องดรามา เศร้า อกหัก รักคุด กว่าพระนางจะรักกันได้ สารพันปัญหาอุปสรรคเรื่องรัก ๆ ของคู่พระนาง

4 ปัญหาคาราคาซัง "ละครไทย" ผ่านไปไม่ได้

1.คนดูไม่เปลี่ยน ทุกครั้งที่สัมภาษณ์ คุณชายอดัมมักบอกว่าละครที่คนชอบดูมากที่สุดจริง ๆ คือ ละครทั่ว ๆ ไป ชีวิตคนทั่วไป หรือที่คนไทยชอบเรียกกันว่า "ละครน้ำเน่า" แม้วันนี้คนดูทีวีจะลดลง แต่ถ้าให้เลือกดูก็ยังจะเลือกดูพล็อตน้ำเน่าก่อนเสมอ ในยุคปัจจุบันอาจสร้างละครที่มีชั้นเชิง มีมุมมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า ก็ยังต้องแฝงความน้ำเน่าเข้าไปในบทอยู่ดี

และก็ไม่ใช่เฉพาะละครไทยเท่านั้น แต่ซีรีย์ต่างประเทศก็เป็นแบบเดียวกัน ถ้าคนดูบอกว่าชอบดูซีรีย์เกาหลี แต่ซีรีย์เกาหลีแบบน้ำเน่าก็ยังได้รับความนิยมสูงอยู่เสมอ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

ในเมื่อรสนิยมของคนดูไม่เปลี่ยน ผู้ผลิตละครก็เปลี่ยนเป็นพล็อตอื่นไม่ได้ 

2.ผู้ลงทุน คุณชายอดัมไล่เรียงชื่อผู้ลงทุนในประเทศไทยให้ฟังว่า มีอยู่ 12 บริษัทไม่เกิน ทางทีวีก็เป็นช่องตัวเลขต่าง ๆ รวมถึงไทยพีบีเอส ส่วนทางออนไลน์ก็มีระบบนี้เช่นกัน ในแต่ละปีผู้ลงทุนจะตั้งงบประมาณก้อนหนึ่งให้ผู้จัดละครนำไปบริหาร สร้างละครเพื่อป้อนกลับเข้ามาให้ช่อง และช่องนำไปขายโฆษณาต่อ 

แต่ในฐานะเจ้าของเงิน จะให้เงินไปผลิตสินค้าอะไรบางอย่าง ก็ย่อมมองว่าเทรนด์ของตลาดไปทางไหน เมื่อคนดูยังชอบพล็อตละครทั่ว ๆ ไป ผู้ลงทุนก็ต้องเลือกผู้ผลิตหรือผู้จัดที่ถ่ายละครตามใจคนดูได้

ปัญหาคาราคาซังอีกประเด็นคือ ผู้ลงทุนเองบางเจ้ายังไม่สามารถผลักดันงานของตัวเองให้เกิดขึ้นได้ ไม่รู้ว่าการขายละคร ขายซีรีย์ในต่างประเทศ หรือทางออนไลน์ยังไง

3.เม็ดเงินโปรโมต เมื่อก่อนสินค้าต่าง ๆ ต้องวิ่งเข้าหาทีวี แต่เมื่อออนไลน์เข้ามา ความนิยมของคนดูทีวีลดลง โฆษณาก็ไม่เข้าช่อง ลูกโซ่ถัดมาที่กระทบคือ ช่องต้องโปรโมตตัวเอง และนั่นคือความลำบากของช่องทีวี เพราะไม่สามารถโปรโมตช่องตัวเองได้มากเท่าที่อยากโปรโมตได้

วันนี้ ช่องทีวีสักช่อง ต้องออกมาโฆษณาตัวเอง จะผ่านช่องของตัวเอง แพลตฟอร์มออนไลน์ของตัวเอง เพื่อให้คนดูรู้สึกอยากเข้ามาดูช่องนี้ แล้วโฆษณาถึงจะยอมเข้ามาซื้อเวลา คุณจะไม่มีวันเห็นช่อง 7 โฆษณาให้ไปดูละครช่อง 3 อย่างเด็ดขาด 

กลับกันทางออนไลน์ ไม่มีความจำเป็นต้องโปรโมตตัวเองเลย เพราะเขาได้รายได้จากเงินค่าสมัครรายเดือนของคนดูอยู่แล้ว การตลาดของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ จึงมุ่งไปโปรโมตซีรีย์เรื่องหนึ่ง ๆ เท่านั้น 

ลองสังเกตดูว่า Netflix จะไม่สตรีมซีรีย์ไทยทีละหลาย ๆ เรื่อง เขาจะรับทีละเรื่อง แต่จะโปรโมตทุกช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างความสนใจของคนให้เข้ามาสมัครดู  

ทริกอีกอย่างคือ ซีรีย์ในปัจจุบันจะมีความยาวไม่เกิน 6-7 ตอน แต่จะไม่ถึง 8 ตอนแน่ ๆ เพราะต้องการให้คนอยู่ในแพลตฟอร์มของตัวเองเกินครึ่งเดือนแต่ไม่เต็มเดือน และเชื่อว่าช่วงเวลาที่อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ จะเป็นโอกาสที่ทำให้คนดูเห็นซีรีย์เรื่องอื่น ๆ เพิ่มขึ้นไปอีก สุดท้ายแล้วเขาก็จะจ่ายรายเดือนเพิ่มขึ้น และมากสุดอาจยอมจ่ายเงินเพื่อดูซีรีย์จากแพลตฟอร์นนั้น ๆ เป็นรายปี ซึ่งเป็นส่วนที่ทีวีทำไม่ได้

4.ผู้สร้างละครหรือผู้จัดละคร เราเริ่มเห็นพัฒนาการของละครไทยมากขึ้นในช่วงหลัง ๆ คุณชายอดัมยกตัวอย่าง "มาตาลดา" และ "บางกอกคณิกา" ที่ถือว่ายกระดับคุณภาพละครไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่นั่นยังไม่ถือว่าครอบคลุมคุณภาพละครไทยทั้งหมด   

แน่นอนว่าผู้จัดละครทุกคนอยากพัฒนาละครไทยให้เดินไปข้างหน้าได้ แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้กันทุกคน บางคนยังมองไม่เห็นว่าแนวทางควรไปทางไหน พล็อตเรื่องแบบไหนที่ควรทำเอาใจคนดูเพื่อแลกกับ "เรตติ้ง" 

สมมติคนไทยบอกอยากดูละคร Boy's love - Girl's love แต่ทำไมคนดูไม่ดูละครแนวนี้ทุกเรื่อง ? คำตอบอยู่ที่คุณภาพ ไม่ใช่แค่นักแสดง ภาพ เสียง องค์ประกอบต้องครบจริง ๆ ถึงจะฝ่าปัญหาคาราคาซังเหล่านี้ไปได้

ไทยเลียนแบบอเมริกาเป๊ะ ๆ  

ที่คุยกันมาเกือบ 1 ชั่วโมงเป็นการคุยกันเรื่องของผู้ลงทุน ผู้สร้าง เม็ดเงิน คนดู ที่ยังอยู่ในวงของวงการบันเทิงไทยเท่านั้น ฟังดูก็เหมือนกับว่า ละครไทยยังไงก็ต้องพึ่งตัวเองต่อไป 

แต่ในอีกหลาย ๆ มุมของโลก "รัฐบาล" กลายเป็น "หลัก" ที่เข้ามาประกบวงการบันเทิงในประเทศของเขา ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี เล่าว่าประเทศตามแถบสแกนดิเนเวีย รัฐจัดสรรสวัสดิการให้คนได้อย่างดีเยี่ยม คนไม่มีงานทำก็มีเงินช่วยเหลือ ค่าน้ำค่าไฟก็ไม่แพง คนก็เลยมีเวลาดูทีวีเพิ่มขึ้น ในฝรั่งเศส รัฐหักภาษีตั้งเป็นงบประมาณเพื่อสนับสนุนการผลิตละครโดยเฉพาะ และเขาสามารถสร้างละครที่มีความหลากหลายขึ้นมาได้ โดยที่ไม่ถูกจำกัดด้านเนื้อหา

BBC ของอังกฤษมีโครงสร้างที่คล้ายกับไทยพีบีเอส คือใช้ภาษีบริหารองค์กร แต่ต่างกันตรงที่ว่า BBC เป็นภาษีจากทั่วประเทศแล้วแบ่งไป แต่สำหรับไทยพีบีเอสได้งบในอัตราร้อยละ 1.5 ของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบ เกาหลีใต้มี KOCCA เป็นคำสั่งจากรัฐบาล "ห้ามดารามีสังกัด" ทำให้ดาราเกาหลีสามารถเล่นละครเรื่องไหน ค่ายไหนก็ได้ ขอแค่มีคิวเป็นพอ  

พอย้อนกลับมาดูการสนับสนุนวงการบันเทิงไทยจากรัฐบาลไทย พบว่า "ไม่มี" เพราะรัฐมองว่าวงการบันเทิงไทยคือ "เอกชน" ก็ต้องบริหารจัดการและผลักดันกันเอง จะโปรโมตละคร ซีรีย์ อะไร ส่งใหญ่ก็ผ่านแพลตฟอร์มยูทูบ เฟซบุ๊ก ซึ่งเจ้าของก็ไม่ใช่คนไทย เงินก็ไหลออกนอกประมาณปีหนึ่ง ๆ เป็นพัน ๆ ล้าน ซึ่งรัฐควรมองเห็นคุณค่าจากเงินก้อนนี้และหาทางจัดการเพื่อให้เงินถูกใช้ในประเทศเพื่อผลักดันวงการบันเทิงไทยให้ได้มากกว่านี้ 

บันเทิงไทยเหมือนบันเทิงอเมริกาเลย ที่รัฐไม่ให้การสนับสนุน แต่จะเทียบกันก็ไม่ได้ เพราะสหรัฐฯ เขาพัฒนาแล้ว สวัสดิการต่าง ๆ ซัปพอร์ตคนของเขา แต่สังคมไทย ยังเต็มไปด้วยคนสูงอายุ เงินเฟ้อ รายได้ไม่เท่ากัน มุมมอง การปรับตัว แล้วเราจะคาดหวังให้คนมาดูทีวีได้ยังไง

เป็นคำถามปลายเปิดที่คุณชายอดัมทิ้งไว้ ... 

อ่านข่าวเพิ่ม :

ปรับตัวเพื่อเดินต่อ "บุญธร" มองสตรีมมิงเป็นโอกาสคนทำละคร

ละครไทยไม่สูญพันธุ์ “สถาพร” แนะคิดต่าง-สร้างงานพรีเมียม

“ดาราวิดีโอ” ยุค 2024 “สยาม สังวริบุตร” ปรับตัวเป็น “คอนเทนโพรวายเดอร์”

“ปราณประมูล” เบื้องหลังคนสำคัญ “ละคร” ถูกบีบรอบตัว ต้องทำ “พรีเมียม” ให้คนคืนจอ  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง