ทั้งนี้บทความนี้ขออนุญาตใช้ภาษาไม่เป็นทางการ เพื่อความเข้าใจอย่างง่ายต่อผู้อ่าน บนข้อมูลอย่างเป็นทางการของ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 และ สำเนาคำสั่ง ตร. ที่ 182-2566 ลง 17 มี.ค.2566 (รับแจ้งคดีออนไลน์) ทั้งหมด
ก่อนอื่นทุกคนต้องรู้ก่อนว่าความผิดประเภทใดบ้างที่เรียกว่า "อาชญากรรมทางเทคโนโลยี" ตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 กำหนดไว้ทั้งหมด 14 ประเภท ซึ่งจะทำให้เจ้าทุกข์หรือผู้เสียหายสามารถแจ้งความทั้งที่ สน.-สภ. โทรสายด่วน หรือเข้าเว็บไซต์ ได้อย่างถูกต้อง ไม่สับสน
- ผิด พรบ.คอมฯ เพื่อ ฉ้อโกง กรรโชก รีดเอาทรัพย์ หรือ เสียหายทางทรัพย์สินอื่น
- ผิด ฉ้อโกง กรรโชก หรือ รีดเอาทรัพย์ โดยใช้ ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ
จากข้อกฎหมายดังกล่าว จึงทำให้คดีข่าวลวง, คุกคามทางเพศ หรือ หมิ่นประมาท ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียกรับเงินหรือทรัพย์สิน และคดีกู้เงินเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา (รวมถึงโทรคุกคามตามทวงหนี้) จะไม่อยู่ในความหมายของ พ.ร.ก.การสอบสวนต้องทำในท้องที่เกิดเหตุ และต้องปรับในระบบเป็นคดี "อาญาทั่วไป"
เมื่อทุกคนรู้แล้วว่าความเสียหายที่เกิดนั้นเข้าข่าย พ.ร.ก. แล้วก็สามารถ "เลือกทางใดทางหนึ่ง" แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนได้
แจ้งความคดีออนไลน์กรณี Walk in ไปยังสถานีตำรวจด้วยตัวเอง
- เจ้าทุกข์เดินทางไปแจ้งความคดีออนไลน์ทุกประเภทที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน
- พนักงานสอบสวนรับดำเนินการ
- รับคำร้องทุกข์
- สอบถามเจ้าทุกข์ว่าได้แจ้งธนาคารให้อายัดบัญชีแล้วหรือไม่
- กรณีเจ้าทุกข์แจ้งธนาคารแล้วและเดินทางมาสถานีตำรวจภายใน 72 ชม. พนักงานสอบสวนจะรับคำร้องทุกข์และแจ้งธนาคาร (ผ่านระบบระหว่างตำรวจ-ธนาคาร) และดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีดังกล่าวภายใน 7 วัน
- กรณีเจ้าทุกข์แจ้งธนาคารแล้ว แต่เดินทางมาสถานีตำรวจเกิน 72 ชม. พนักงานสอบสวนแจ้งว่าธนาคารอาจยกเลิกการอายัดบัญชีนั้น
- กรณียังไม่ได้แจ้งธนาคาร ให้เจ้าทุกข์รีบโทรแจ้งธนาคารก่อน จากนั้นพนักงานสอบสวนจึงดำเนินการต่อได้ภายใน 7 วัน
- พนักงานสอบสวนบันทึกปากคำเจ้าทุกข์
- พนักงานสอบสวนลงข้อมูลในระบบรับแจ้งความเพื่อออกเลข Case ID (ไม่ใช่เอกสารแจ้งความ หรือ บันทึกประจำวันอิเล็กทรอนิกส์)
- พนักงานสอบสวนออกเอกสาร ลงลายมือชื่อผู้รับแจ้งความ มอบให้เจ้าทุกข์เป็นหลักฐานการรับคำร้อง
- พนักงานสอบสวนแจ้งธนาคารเพื่ออายัดบัญชีที่รับแจ้งไว้ผ่านระบบของตำรวจ-ธนาคาร
- พิจารณาดำเนินการอายัดบัญชี
- พิจารณาลักษณะคดี*
คำสั่ง ตร. ที่ 182-2566 ลง 17 มี.ค.66
แจ้งความคดีออนไลน์กรณีออนไลน์และเลือกสถานีตำรวจ
- เจ้าทุกข์ โทรสายด่วน 1441 หรือเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือ www.thaipoliceonline.com (2 เว็บไซต์นี้ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว) แจ้งความคดีออนไลน์ และเลือกหน่วยงานที่ต้องการไปพบพนักงานสอบสวนซึ่งมี 3 แห่ง ได้แก่
- สถานีตำรวจ (สน. หรือ สภ.)
- กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)
- กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บก.ปอท.)
แต่การจะเลือกได้นั้น ต้องรู้ก่อนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นลักษณะคดีออนไลน์ประเภทใด*
- เจ้าทุกข์โทรแจ้งธนาคารเพื่ออายัดบัญชี และ "รอ" การนัดหมายจากพนักงานสอบสวน
- "แอดมินตำรวจ" (มีตำแหน่งนี้อยู่จริง) ตรวจสอบข้อมูลในระบบตลอด 24 ชม. เมื่อมีคดีในระบบต้องพิจารณาว่าเป็นคดี 1 ใน 14 คดีออนไลน์ตาม พ.ร.ก. หรือไม่ (ขั้นตอนของเจ้าพนักงาน)
- ผู้บริหารคดีที่สถานีตำรวจ แยกประเภทคดีเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยที่รับผิดชอบ (ขั้นตอนของเจ้าพนักงาน)
- พนักงานสอบสวนดำเนินการทันที (ผ่านทางโทรศัพท์) ดังนี้
- กรณีเจ้าทุกข์ แจ้งอายัดบัญชีธนาคารเรียบร้อยแล้ว และข้อมูลในระบบที่แจ้ง 1441 หรือเว็บไซต์ ครบถ้วน พนักงานสอบสวนจะแจ้งไปยังธนาคารผ่านระบบของตำรวจ-ธนาคาร ถึงการร้องทุกข์ (ว่าเป็นความจริง ไม่ได้แจ้งความเท็จ)
- กรณีเจ้าทุกข์ แจ้งอายัดบัญชีธนาคารเรียบร้อยแล้ว และข้อมูลในระบบที่แจ้ง 1441 หรือเว็บไซต์ ไม่ครบถ้วน พนักงานสอบสวนจะแจ้งเจ้าทุกข์ให้เพิ่มเอกสารที่ขาดไปก่อน แล้วจึงแจ้งธนาคารให้อีกครั้ง
- กรณีเจ้าทุกข์ ไม่ได้แจ้งอายัดบัญชีธนาคาร พนักงานสอบสวนจะบอกให้เจ้าทุกข์รีบแจ้งไปยังธนาคารก่อน จากนั้นพนักงานสอบสวนจึงดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
- นัดหมายเจ้าทุกข์มาบันทึกปากคำภายใน 7 วัน
- พนักงานสอบสวนลงข้อมูลในระบบรับแจ้งความเพื่อออกเลข Case ID (ไม่ใช่เอกสารแจ้งความ หรือ บันทึกประจำวันอิเล็กทรอนิกส์)
- พนักงานสอบสวนออกเอกสาร ลงลายมือชื่อผู้รับแจ้งความ มอบให้เจ้าทุกข์เป็นหลักฐานการรับคำร้อง
- พนักงานสอบสวนแจ้งธนาคารเพื่ออายัดบัญชีที่รับแจ้งไว้ผ่านระบบของตำรวจ-ธนาคาร
- พิจารณาดำเนินการอายัดบัญชี
- พิจารณาลักษณะคดี*
คำสั่ง ตร. ที่ 182-2566 ลง 17 มี.ค.66
*พิจารณาคดีเพื่อส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง
"อาชญากรรมทางเทคโนโลยี" นั้นมีหลากหลายประเภท แต่ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 กำหนดไว้ทั้งหมด 14 ประเภทเท่านั้น และมีการแบ่งแยกหน่วยงานที่รับผิดชอบตามจุดประสงค์การก่อตั้งหน่วยต่าง ๆ ขึ้นมา
สำหรับสิ่งที่ประชาชนควรรู้ไว้คือ เมื่อความเสียหายเกี่ยวกับภัยออนไลน์เกิดขึ้นแล้วนั้น ต้องรู้ว่าคดีของตนเองอยู่ในประเภทใด เพื่อที่จะตามคดี หรือ ไปตามนัดสืบสวน-สอบสวน ได้ทันท่วงทียิ่งขึ้น
7 คดีของหน่วยพื้นที่ สถานีตำรวจ สน.-สภ.
- หลอกซื้อขายสินค้า/บริการที่ไม่เป็นขบวนการ
- หลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน
- หลอกให้รักแล้วโอนเงิน
คดีที่ 1-3 สอบสวนและสืบสวนที่ สน.-สภ. ระดับรองสารวัตรขึ้นไปรับผิดชอบ - หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล
- หลอกให้กู้เงิน
คดีที่ 4-5 สอบสวนที่ สน.-สภ. สืบสวนที่กองบังคับการ หรือ ตำรวจภูธรประจำจังหวัด ระดับสารวัตรขึ้นไปรับผิดชอบ - หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ
- ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน
คดีที่ 6-7 สอบสวนที่ สน.-สภ. สืบสวนที่กองบัญชาการ หรือ ตำรวจภูธรภาค ระดับสารวัตรขึ้นไปรับผิดชอบ
6 คดีของ บช.สอท.
- Hack ระบบคอมพิวเตอร์
- Ramsomware
- หลอกให้ติดตั้งโปรแกรมเพื่อควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์
- หลอกเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
- หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์
- หลอกซื้อขายสินค้า/บริการที่เป้นขบวนการ
คดีที่ 1-6 ให้ส่งให้ สอท. รับผิดชอบสอบสวน หรือ สน.-สภ.จะรับผิดชอบเองก็ได้
1 คดีของ บก.ปอท. หรือ สอบสวนกลาง
- หลอกให้ลงทุนที่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ
ให้ส่งให้ ปอท. รับผิดชอบสอบสวน หรือ สน.-สภ.จะรับผิดชอบเองก็ได้
คำสั่ง ตร. ที่ 182-2566 ลง 17 มี.ค.66
สรุปให้อีกครั้ง ถ้าเกิดความเสียหายจากคดีออนไลน์แล้ว ให้เจ้าทุกข์หรือผู้เสียหายโทรแจ้งธนาคารอายัดบัญชีก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นเก็บหลักฐานความเสียหายทั้งหมด ไปแจ้งความ โดยเลือกเพียงแค่ช่องทางเดียว จะเดินทางไปด้วยตัวเองที่สถานีตำรวจ, จะแจ้งทางสายด่วน 1441 หรือ เว็บไซต์ ก็ได้ แต่อย่าแจ้งซ้ำซ้อนหลายช่องทาง จะทำให้เกิดความสับสนของคดีและล่าช้าเข้าไปอีก
เมื่อได้ใบ Case ID แล้ว เจ้าทุกข์ไม่จำเป็นต้องนำใบ Case ID เดินทางไปยังธนาคารอีก ย้ำอีกครั้ง "ไม่จำเป็น" เพราะตามข้อมูล พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ระบุไว้ชัดเจนว่า เจ้าพนักงานจะดำเนินการแจ้งอายัดครั้งที่ 2 เพื่อเป็นการยืนยันการแจ้งความของเจ้าทุกข์ ผ่านระบบของตำรวจ-ธนาคารเอง (ครั้งแรกเจ้าทุกข์โทรเองตอนแรกก่อนไปแจ้งความไง)
สุดท้ายแล้ว การไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรไซเบอร์หรือแก๊งคอลเซนเตอร์ คือการตัดตอนขั้นตอน-กระบวนการที่แสนจะยุ่งยากเหล่านี้ หน่วยงานราชการไม่ว่าจะเป็น ทหาร ตำรวจ การไฟฟ้า การประปา กรมที่ดิน กรมสรรพากร ฯลฯ จะไม่มีการโทรศัพท์หรือส่งข้อความ แจ้งข่าวใด ๆ ทั้งสิ้น จะใช้เพียงเอกสารตราครุฑ และส่งไปยังที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้าน เท่านั้น แต่หากมีมิจฉาชีพส่งเอกสารตราครุฑปลอมไปให้ ให้โทรกลับไปยังหน่วยงานนั้น ๆ หรือเดินทางไปด้วยตนเอง อย่าสแกนคิวอาร์โค้ด หรือกดลิงก์ใด ๆ ทั้งสิ้น
รวมถึงการหาแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และแสดงแหล่งที่มาของข้อมูลได้ชัดเจน
หากสงสัยให้โทรสอบถาม 1441 หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจใกล้บ้าน จะดีและครบถ้วนที่สุด เพื่อลดความเสียหายซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อได้ข้อมูลไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน
อ่านข่าวอื่น :
"กองสรรพาวุธ" ยืนยันไม่เคยจัดซื้อ "เกราะไม้อัดกันกระสุน"
พี่สาวรับศพ “รองหรั่ง” เปิดใจน้องชายทำเต็มที่ ไม่โกรธทุกฝ่ายสูญเสีย