สงครามเมียนมา สะเทือนไทย ตอน "สตาร์ลิงก์" วิวัฒนาการใหม่เมืองสแกมเมอร์

ภูมิภาค
24 ก.ค. 67
10:02
377
Logo Thai PBS
สงครามเมียนมา สะเทือนไทย ตอน "สตาร์ลิงก์" วิวัฒนาการใหม่เมืองสแกมเมอร์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เมือง ชเวโก๊กโก่ และ เคเคพาร์ค วันนี้ยังคงมีคนเข้าออกอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้วยความสมัครใจ และถูกหลอกให้มาทำงาน ซึ่งมีทั้งเอเชีย และยุโรป เนื่องจากเมืองเหล่านี้ สามารถใช้อินเตอร์เน็ตจากฝั่งประเทศไทยในการดำเนินการเหล่านี้ได้ เนื่องจากติดชายแดนไทย

ล่าสุด มีการล่อลวงคนจากทวีปแอฟริกามาทำงานเป็นแก็งค์คอลเซนเตอร์ รวมถึงสแกมเมอร์ต่าง ๆ ที่ทางไทยได้ให้การช่วยเหลือออกมา คือคนจากประเทศโมร็อกโก จากการประสานงานขอความช่วยเหลือจากเอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรโมร็อกโกประจำประเทศไทย

เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่ออิสรภาพ (The Exodus Road)ประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อประมาณปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้รับการประสานขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครองของหนึ่งในชาวโมร็อคโกว่า ลูกชายถูกหลอกไปทำงานเป็นสแกมเมอร์ในประเทศเมียนมา บริเวณใกล้ชายแดนไทยด้านจังหวัดตาก ตั้งแต่เดือนมีนาคม จึงมีการประสานงานสถานเอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรโมร็อกโกประจำประเทศไทย และ หน่วยงานไทย ทั้งระดับประเทศ และ ระดับท้องถิ่น

เบื้องต้นพบว่ามีชาวโมร็อกโกต้องการความช่วยเหลือ 21 คน ถูกบังคับให้ทำงาน หากไม่ตามจะถูกทำร้ายร่างกาย ช๊อตไฟฟ้า ขังในห้องมืด ให้อดอาหาร และ ใช้ไม้เบสบอลทุบตี ในจำนวนนี้ 7 คน ถูกทำร้ายจนทนไม่ไหว และ ขอให้ญาติยอมจ่ายเงินค่าไถ่ตัว เป็นเงินประมาณ 6-8 พันดอลลาร์สหรัฐต่อคน จึงได้รับการปล่อยตัว ส่วนที่เหลือ 14 คน หน่วยงานในพื้นที่ได้ประสานไปยังกองกำลังชาติพันธุ์ติดอาวุธกะเหรี่ยง DKBA ซึ่งเคลื่อนไหวในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ให้ช่วยเจรจาช่วยเหลือออกมาได้ 12 คน อีก 2 คน ยืนยันที่จะอยู่ต่อ

ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่ออิสรภาพ ยังเสนอให้หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญในการคัดกรองชาวต่างชาติกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมายังประเทศไทย ควรมีการตรวจสอบที่มาที่ไป ตรวจสอบเอกสารการจ้างงานว่าถูกต้อง หรือมีข้อพิรุธหรือไม่ นอกจากนี้ ก็ควรมีการเร่งรณรงค์ในประเทศต้นทาง เพื่อป้องกันการหลอกลวงชาวต่างชาติ

ขณะที่หนึ่งในผู้เสียหายที่ได้รับการช่วยเหลือเปิดเผยว่า ได้รับการชักชวนจากชาวโมร็อกโกด้วยกัน ให้มาทำงานในประเทศไทย อ้างว่าเป็นงาน E-Commerceและ งานด้านเทคโนโลยี มีรายได้ดี แต่เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินในประเทศไทย กลับถูกนำตัวข้ามแม่น้ำไปยังสถานที่ทำงานแห่งหนึ่ง ซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธคอยควบคุม และ ข่มขู่ให้ทำงานเป็นสแกมเมอร์ ในลักษณะหลอกให้รัก หรือ Romance Scam ผ่านแอปพลิเคชันหาคู่ เพื่อหาลูกค้ามาลงทุน Cryptocurrency โดยมีกลุ่มเป้าหมาย เป็นหญิงอเมริกันอายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ โอนเงินให้ ก็จะทำการบล๊อกแซท

นอกจากชาวโมร็อคโกแล้ว ยังพบว่ามีชาวต่างชาติอื่นๆ ที่เดินทางไปทำงานในประเทศเมียนมา บางส่วนสมัครใจไปเอง แต่จำนวนไม่น้อยถูกหลอกไปทำงาน และ คนกลุ่มนี้มักจะถูกทำร้ายร่างกาย หากไม่ยอมทำงานให้นายจ้าง

ข้อมูลจากตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก ระบุว่าปีที่ผ่านมา ไทยช่วยเหลือบุคคล อ้างว่าถูกหลอกไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ ที่เมืองใหม่ 1,832 คน เป็นชาวเมียนมา 844 คน / ชาวจีน 258 คน / ชาวอินโดนีเซีย 130 คน /ชาวไทย 103 คน และ ชาวเอธิโอเปีย 86 คน

นอกจากการช่วยเหลือเหยื่อที่หลงเข้าไปทำงานที่เมืองใหม่ของทุนจีนสีเทาแล้ว ทางการไทยก็พยายามที่จะดำเนินการตัดปัญหาการก่ออาชญากรรมออนไลน์ตามแนวชายแดนด้วยเช่นกัน ด้วยการดำเนินการตรวจสอบเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต ข้ามแเดน เพื่อตัดวงจรการใช้ระบบการสื่อสารของไทยในการก่ออาชญากรรมออนไลน์

ที่ผ่านมาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ลงพื้นที่ฝั่งอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กสทช. อย่างต่อเนื่อง โดยใช้รถโมบายวิ่งตรวจจับหาสัญญาณ และเรียกผู้ให้บริการเสาส่งสัญญาน มาชี้แจงต่อ กสทช. หากพบว่ามีการส่งสัญญานข้ามแดนไปยังรัฐกระเหรี่ยงประเทศเมียนมา ซึ่งผิดกฏหมาย ปัจจุบันพบว่าผู้ให้บริการโทรคมนาคมของไทยได้ปฏิบัติตามกฏหมายทั้งหมดแล้ว

แต่จากการเข้มงวดดังกล่าว ทำให้ฝ่ายผู้ลักลอบต้องหาทางใหม่ในการใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์ โดยพยายามที่จะมีการสั่งซื้อ STARLINK หรืออุปกรณ์รับ – ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมระยะไกลและลดข้อจำกัดโครงข่ายภาคพื้นดิน ความถี่ และสายไฟเบอร์ เพราะใช้ระบบยิงตรงมาจากดาวเทียม

จากรายงานของ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ระบุว่า ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ทำการตรวจยึดอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink 73 เครื่อง แบ่งเป็นที่ จังหวัดจันทบุรี 30 เครื่อง, กรุงเทพฯ 28 เครื่องและตาก 15 เครื่อง โดยมีปลายทางรวมกันในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเตรียมส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

จะเห็นได้ว่าการก่ออาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้ พยายามที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ ตามเทคโนโลยีที่ทันสมัยและหลบหลีกการตรวจจับของทางการไทย หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรมออนไลน์ โดยใช้ไทยเป็นทางผ่าน เพื่อไปยังประเทศเมียนมา

 

รายงาน:ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ติดตามตอนอื่น :
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341037
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341334
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341061
https://www.thaipbs.or.th/news/content/340824
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341289
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341316
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341774
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341777
https://www.thaipbs.or.th/news/content/342016
https://fb.watch/tb2HUjHqfN/
https://fb.watch/tb2x0fv5PX/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง