วันนี้ (21 ก.ค.2567) พล.ต.ต.ประสงค์ อานมณี ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 9 เปิดเผยว่า การเสียชีวิตของ พ.ต.ท.กิตติ์ชนม์ จันยะรมณ์ รอง ผกก.ป้องกันและปราบปราม สน.ท่าข้าม หรือ "รองหรั่ง" เป็นกรณีที่เสียชีวิตขณะปฎิบัติหน้าที่ ซึ่งส่วนนี้ยืนยันจะดูแล อย่างเต็มที่ โดยมีสวัสดิการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบังคับการตำรวจนครบาล 9 ที่จะเข้ามาดูแล ส่วนรายละเอียดยังไม่ได้ข้อสรุปอยู่ระหว่างตรวจสอบ
ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2567 พ.ต.ท.กิตติ์ชนม์ ได้เดินทางมาระงับเหตุด้วยตัวเองพร้อมกับ ด.ต.ไชยวัฒน์ อัตโสภณวัฒนา ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม แรกเริ่มที่เดินทางมาถึงได้พบว่าผู้ก่อเหตุและลูก 2 คน อยู่ภายในบ้าน ทางญาติได้ขอร้องให้ช่วย ตำรวจได้พยายามเข้าไปภายในบ้านเพื่อเข้าประกบตัวผู้ก่อเหตุ แต่ระหว่างนั้นลูกของผู้ก่อเหตุได้วิ่งสวนออกมาทางประตูด้านหน้า ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกกระสุนปืนยิงใส่ ซึ่งไม่รู้ว่าผู้ก่อเหตุตั้งใจยิงหรือไม่
สำหรับ พ.ต.ท.กิตติ์ชนม์ มีรายงานว่าจะเกษียณอายุราชการในปี 2568 จากข้อมูลพบว่าเจ้าตัวเป็นคนขยันทำงาน และมักเข้าระงับเหตุสำคัญด้วยตัวเองมาโดยตลอด สำหรับศพของ พ.ต.ท.กิตติ์ชนม์ ในวันนี้ (21 ก.ค.2567) เจ้าหน้าที่นิติเวชจะทำการชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด ก่อนจะนำไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดยางสุทธาราม ในวันพรุ่งนี้ (22 ก.ค.2567)
ด้านผู้ก่อเหตุ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำไปแล้ว 6 ปาก ประกอบด้วยภรรยาผู้ก่อเหตุ และลูกของผู้ก่อเหตุอีก 5 คน พบว่าทั้งหมดอยู่ในอาการเครียด ส่วนสาเหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้น้ำหนักสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ก่อเหตุไปที่การจบชีวิตตัวเองนั้น เนื่องจากเมื่อเข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่าเลือดในที่เกิดเหตุแห้งแล้ว แต่ความชัดเจนต้องรอผลพิสูจน์หลักฐานจากทาง แพทย์นิติเวชโรงพยาบาลศิริราชต่อไป
พฐ.ตรวจสอบพื้นที่-กู้ภัยส่งร่างชายยิง ตร.หาสาเหตุการตาย
เมื่อเวลา 09.20 น. แพทย์นิติเวช รพ.ศิริราช ได้ร่วมเข้าชันสูตรศพชายก่อเหตุยิง ตร. เสียชีวิต เพื่อหาข้อสรุปการเสียชีวิตว่ายิงตัวเองหรือเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุ รวมถึงเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบวิถีกระสุน ทั้งหมดเกือบ 100 นัด มาประกอบผลการเสียชีวิต ใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง
จากการตรวจสอบร่างของผู้ก่อเหตุ พบว่าเสียชีวิตในลักษณะนั่งห้อยขาที่เตียงนอน บริเวณชั้นลอย ลักษณะร่างกายคือคอล้มเอียงไปทางฝั่งขวาซึ่งเป็นฝั่งเดียวกับจุดที่พบปืนไม่ทราบชนิดของผู้ก่อเหตุตกอยู่ เบื้องต้นจากการตรวจสอบร่างกายยังพบกระสุนปืนที่บริเวณขมับด้านขวาของผู้ก่อเหตุอีกด้วย
โดยก่อนลำเลียงศพออกจากบ้านย่านพระราม 2 ตำรวจได้เรียกให้ลูกของผู้ก่อเหตุที่สังเกตการณ์อยู่หน้าบ้าน เข้าไปพูดคุยที่บริเวณหน้าบ้านและดูศพพ่อเป็นครั้งสุดท้าย
ทีมข่าวไทยพีบีเอส สอบถามกับคนสนิทของภรรยาผู้ก่อเหตุ ที่ได้เดินทางมาที่เกิดเหตุ เจ้าตัวเปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ภรรยาผู้ก่อเหตุโทรมาบอกด้วยน้ำเสียงเป็นห่วงลูกสาวอยู่ในบ้านถูกปืนตบหัว ก่อนจะพบว่าตำรวจถูกยิง ซึ่งก่อนหน้านี้ตำรวจได้ช่วยลูกสาว 2 คนของผู้ก่อเหตุ ให้ปีนบันไดลงมาจากบ้านได้
ส่วนภรรยาของผู้ก่อเหตุกับลูกสาวทั้งหมดนั้น คนสนิทของภรรยาผู้ก่อเหตุ เปิดเผยว่า ได้ย้ายไปเช่าคอนโดมิเนียมอยู่กว่า 1 เดือนแล้ว มีเพียงผู้ก่อเหตุคนเดียวที่อาศัยอยู่บ้านหลังนี้ ซึ่งสาเหตุที่ต้องย้ายหนีไปอยู่ที่อื่น เพราะไม่กล้าอยู่กับผู้ก่อเหตุ เนื่องจาก ผู้ก่อเหตุมีอารมณ์ร้อน ที่ผ่านมาภรรยาเคยถูกทำร้ายร่างกาย อีกทั้งยังพบว่าผู้ก่อเหตุมีอาการป่วย ต้องกินยาตลอด และเคยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีธัญญา ช่วงหลังที่ภรรยาและลูกไม่อยู่ ผู้ตายก็มักจะชอบยิงปืนขึ้นฟ้าระบายความเครียด
เพื่อนบ้านบอกผู้ก่อเหตุ "ป่วยจิตเวช"
ข้อสังเกตของเพื่อนบ้านที่ระบุว่าผู้ก่อเหตุมีอาการป่วยทางจิต และเคยเกิดเคสคล้ายเสียงปืนในบ้านเหตุมาแล้วก่อนหน้านี้ ทาง พล.ต.ต.ประสงค์ อานมณี ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 9 ระบุว่า ในส่วนของการยึดอาวุธปืนก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำได้ เพราะเขามีใบอนุญาตครอบครองปืนถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 4 กระบอก และ เขาพกอยู่ในบ้าน ไม่ได้พกออกมานอกบ้าน
แต่จากข้อมูลที่ได้รับรายงานพบว่าเมื่อปีที่แล้ว มีการยิง มีเสียงปืนดังในบ้าน แต่เป็นการยิงในบ้าน ไม่ได้ยิงออกมา ส่วนสาเหตุที่ว่าผู้ก่อเหตุถึงขั้นเป็นจิตเวชหรือไม่ ในประเด็นนี้ตอบไม่ได้
สำหรับสภาพจิตใจลูก ๆ และครอบครัวของผู้ก่อเหตุ ทุกคนเครียดกันอยู่แล้ว เดี๋ยวคงพยายามคุยกับเด็กทุกคนหรือต้องประสานทีมเยียวยาจิตใจ หรือ MCATT ของกระทรวงสาธารณสุข มาช่วยดูแลสภาพจิตใจ แต่สถานการณ์ขณะนี้ สัมผัสได้ว่ามีความเครียดสูง ส่วนการฟื้นฟูจิตใจต้องให้หน่วยเกี่ยวข้องเข้ามาช่วยติดตามกันต่อ
สดุดี "รองหรั่ง" ตำรวจกล้า
รองหรั่ง เสียชีวิตระหว่างพยายามเข้าช่วยเหลือตัวประกัน 2 คนซึ่งเป็นลูกของผู้ก่อเหตุ
ครอบครัวผู้ก่อเหตุมีทั้งหมด 7 คน คือ ผู้ก่อเหตุ ภรรยา และลูก 5 คน ช่วงขณะเกิดเหตุ มีลูก 2 คนที่ผู้ก่อเหตุล็อกตัวไว้ในบ้านพัก ทาง พ.ต.ท.กิตติ์ชนม์ และเจ้าหน้าที่พยามเข้าไปช่วยเอาเด็กออกมา เพราะขณะนั้นมีเด็กคนหนึ่งอายุ 10 ขวบ ที่ศีรษะมีเลือดอาบจึงเป็นห่วงและพยายามเข้าชาร์ต จัวหวะที่ลูกคนหนึ่งวิ่งสวนออกมาจากตัวบ้าน ทาง "รองหรั่ง" จึงเร่งเข้าระงับเหตุจึงถูกยิง 3 นัดจนเสียชีวิต
ด้าน พ.ต.ท.มงคล สังข์เพิ่ม สารวัตรป้องกันและปราบปราม สน.ท่าข้าม ผู้ใต้บังคับบัญชาของ "รองหรั่ง" ผู้เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ เปิดเผยว่า ตนเองและรองหรั่ง ได้รับแจ้งเหตุแล้วเดินทางมาช่วย เมื่อมาถึงก็พยายามเข้าไปช่วยตัวประกัน และเมื่อเห็นจังหวะที่จะเข้าไปจับตัวผู้ก่อเหตุจึงรีบวิ่งเข้าไป แต่เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ตัวประกันวิ่งสวนออกมา ทำให้ผู้ก่อเหตุ ยิงออกมากระสุนไปโดนรองหรั่ง วินาทีนั้น ตนเองเห็นจึงรีบเอาโล่มากำบังและลากร่างของรองหรั่งออกมาจากหน้าบ้าน และรีบเรียกรถพยาบาล
ไปถามตำรวจที่โรงพักท่าข้ามทุกคนยืนยันได้ว่ารองหรั่ง เป็นคนดีมาก ๆ ใช้คำว่ามาก ๆ มาก ๆ และมาก ๆ เป็นคนที่นำลูกน้องไปลุยในแทบทุกภารกิจ รวมถึงเหตุการณ์นี้ด้วย รองหรั่งเป็นคนดีจริง ๆ
เบื้องต้น มองว่า คนร้ายตั้งใจยิงออกมาจึงทำให้ผู้บังคับบัญชาเสียชีวิต ในฐานะลูกน้อง ตนเองเสียใจมาก เพราะผู้เสียชีวิตเป็นคนดี แต่ยืนยันว่าไม่เสียขวัญ เพราะตำรวจมีหน้าที่รับใช้ประชาชน สำหรับครอบครัวของรองหรั่งนั้น ทราบว่า มีลูกชายเป็นตำรวจ ยศร้อยตำรวจโทอยู่ที่ สภ.แห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ ขณะที่มีข้อมูลว่าเมื่อประมาณเดือนที่แล้วแม่ของรองหรั่งก็เพิ่งเสียชีวิตไป
"รองหรั่ง" จะเกษียณปีหน้า นับเป็นข้าราชการตำรวจ ที่ขยันขันแข็งมาตลอดและนำหน้าลุยเข้าพื้นที่ ระงับเหตุมาโดยตลอดหลาย ๆ ครั้ง ที่ สน.ท่าข้ามได้ผลงานก็มาจากตัวของ พ.ต.ท.กิตติ์ชนม์ และชุดสายตรวจ คดีเร็ว ๆ นี้ คือการนำจับคดีลักมิเตอร์น้ำ ตัว รอง ผกก. ท่านนี้ก็ลงมาบัญชาการด้วยตัวเอง
แพทย์ย้ำ จิตเวชครอบครอง "ปืน" ไม่ได้
ข้อมูลที่น่าสนใจจาก ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา คนไข้จิตเวชอาจเข้าถึงอาวุธปืนได้น้อยมาก คนที่มีอาวุธอาจขอถูกต้อง แต่ช่วงประเมินอาการป่วยทางจิต "อาการยังไม่ออก"
นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เปิดเผยกับไทยพีบีเอส ว่าปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขผู้ป่วยจิตเวชที่ครอบครองอาวุธปืน เนื่องจากที่ผ่านมาส่วนใหญ่ผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อเหตุมักใช้อาวุธประเภทอื่น เช่น มีด พร้า แต่กรณีใช้อาวุธปืนมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่สัดส่อนน้อยกว่าอาวุธชนิดอื่น
นพ.ศรุตพันธุ์ ย้ำว่าผู้ป่วยจิตเวชไม่มีสิทธิ์ขออนุญาตครอบครองอาวุธปืนอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ ช่วงที่มาขอใบอนุญาตครอบครอง พวกเขาไม่มีอาการทางจิตเวช แต่มักแสดงอาการหลังจากได้ใบอนุญาตไปแล้ว และมีปัจจัยอื่นที่ทำให้มีอาการทางจิตเวช เช่น เสพยาเสพติด
ทำให้ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการประเมินบุคคลที่มาขอใบอนุญาตครอบครองอาวุธ ซึ่งต้องลงรายละเอียดการประเมินอาการทางจิตเวชมากขึ้น
อ่านข่าว : เร่งค้นปม "ชายหัวร้อน" ยิง ตร.ตาย ก่อนพบเป็นศพในบ้านย่านพระราม 2