ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เทียนเล่มเล็กมัดรวมเป็นต้น จนก้าวสู่ "ประเพณีแห่เทียนพรรษา"

ไลฟ์สไตล์
19 ก.ค. 67
13:54
10,036
Logo Thai PBS
เทียนเล่มเล็กมัดรวมเป็นต้น จนก้าวสู่ "ประเพณีแห่เทียนพรรษา"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การแห่เทียนพรรษาเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มีความหมายทั้งในด้านศาสนาและวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความสามัคคีในชุมชน และสร้างความสุขให้แก่ผู้ที่ได้มาร่วมงานรวมถึงผู้ชมขบวนแห่

"การแห่เทียนพรรษา" เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่มีความสำคัญกับพุทธศาสนิกชนไทย จะจัดขึ้นในช่วงเข้าพรรษาเริ่มต้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี จุดมุ่งหมายของประเพณีนี้คือ การถวายเทียนให้แก่พระภิกษุสงฆ์เพื่อเป็นแสงสว่างในการปฏิบัติธรรมระหว่างการจำพรรษา 3 เดือน

ประวัติประเพณีการแห่พรรษา

ประเพณีนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในอดีตนั้นการทำเทียนพรรษามักใช้เทียนเล่มเล็ก ๆ ที่ทำจากขี้ผึ้งมาห่อด้วยผ้าหรือเชือกเรียกเป็น "ต้นเทียน" เพื่อให้มีขนาดใหญ่เอาไว้ใช้ตลอด 3 เดือนช่วงจำพรรษาของภิกษุสงฆ์ ส่วนลวดลายตกแต่งต้นเทียนนั้น แรกเริ่มใช้ขี้ผึ้งลนไฟให้อ่อนแล้วปั้นเป็นรูปต่างๆ นำไปติดต้นเทียน ต่อมาเริ่มวิวัฒนาการใช้แบบพิมพ์ กดลงบนต้นเทียน จนถึงยุคปัจจุบันมีการแยกประเภทต้นเทียนออกเป็น 2 แบบ คือ ต้นเทียนแบบติดพิมพ์ และ ต้นเทียนแบบแกะสลัก 

ความสวยงามในการตกแต่งต้นเทียนพรรษา ถือเอาความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนที่ช่วยกันหล่อเทียน ตกแต่งเทียน สร้างเป็น "ประเพณีแห่เทียนพรรษา" ขึ้นมา มีการแกะสลักลวดลายบนเทียนหรือทำรูปประติมากรรมต่าง ๆ รวมทั้งมีการจัดขบวนแห่ที่มีความวิจิตรอลังการ รวมถึงการแสดงประกอบขบวนแห่ เช่น การรำเซิ้ง ซึ่งเป็นการแสดงประจำถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 1 ในสถานที่ที่มีการจัดงานแห่เทียนพรรษาที่มีชื่อเสียงมากคือ จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่ใหญ่และยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ

"อุบลราชธานี" ยืนหนึ่งแห่เทียนพรรษา

ทำไมแห่เทียนพรรษาต้องที่ จ.อุบลราชธานี ? เพราะเป็นเมืองที่มีวัดมากที่สุดในประเทศไทย มีพระสงฆ์ชั้นสมเด็จถึง 4 องค์ และมีพระอริยสงฆ์ที่มีชื่อเสียงทั้งในสายคันถธุระ และสายวิปัสสนากรรมฐาน ในอดีตทำเลที่ตั้ง จ.อุบลราชธานี อยู่ที่ "ดงอู่ผึ้ง" ซึ่งมีแหล่งทรัพยากรสำคัญในการทำเทียนพรรษา คือ รวงผึ้งที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนชาวอุบลราชธานี เชื่อว่าการถวายเทียนพรรษาเป็นผลให้บังเกิดความเฉลียวฉลาด มีปัญญาเฉียบแหลม ทำให้ใส่ความใส่ใจและพิถีพิถันในการถวายสิ่งใด ๆ แด่พระรัตนตรัย ต้องมีความสวยงามเป็นพิเศษ ถือว่าเป็นการขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ดังผญาสุภาษิตโบราณที่ว่า

แนวได๋ถวยเจ้าหัว ต้องให้งาม เฮาสิได้งามนำเผิ่น 
หมายความว่า สิ่งใดที่ถวายให้พระสงฆ์ ต้องเป็นสิ่งที่งามที่สุด
จะได้งามทั้งกายและใจขบวนแห่เทียนพรรษาในวันงาน จะเริ่มต้นด้วยการประกอบพิธีทางศาสนาที่วัด จากนั้นขบวนแห่จะเคลื่อนที่ไปตามถนนในตัวเมือง มีการร่วมขบวนโดยชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ ในชุมชน การแห่เทียนพรรษายังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การแสดงรำพื้นเมือง การเล่นดนตรีพื้นบ้าน และการแต่งกายประจำถิ่น

ขั้นตอนการแห่เทียนพรรษา

  1. การเตรียมเทียนพรรษา เริ่มต้นจากการหล่อเทียน แกะสลักเทียน ให้มีลวดลายสวยงาม ใช้ขี้ผึ้งเป็นวัสดุหลัก และ ตกแต่งด้วยดอกไม้และเครื่องประดับต่าง ๆ เพื่อให้มีความสวยงามและอลังการ จากนั้นจัดทำฐานรองเทียนหรือพานเทียน เพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายและแห่

  2. การจัดขบวนแห่ ประกอบด้วย ขบวนพระสงฆ์ ขบวนผู้ถือเทียน ขบวนเครื่องสักการะ และ ขบวนผู้แสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยผู้เข้าร่วมขบวนแห่จะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองตามท้องถิ่นนั้น ๆ และตกแต่งรถที่ใช้แห่เทียนอย่างสวยงาม

  3. พิธีการทางศาสนา เริ่มด้วยการประกอบพิธีทำบุญตักบาตรและสวดมนต์ที่วัดในช่วงเช้า ถวายเทียนพรรษาและเครื่องสักการะต่อพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งจะมีการสวดเจริญพระพุทธมนต์และอธิษฐานเพื่อความเป็นสิริมงคล

  4. การเคลื่อนขบวนแห่ ไปตามเส้นทางที่กำหนดอย่างช้า ๆ เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชมและถ่ายภาพ และยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น การรำ การเต้น และการเล่นดนตรีพื้นบ้าน ระหว่างการแห่อีกด้วย

  5. ขบวนแห่ถึงจุดหมาย อาจเป็นวัดหรือสถานที่ที่กำหนด จากนั้นทำการถวายเทียนพรรษาและเครื่องสักการะต่อพระภิกษุสงฆ์ ประกอบพิธีทำบุญและสวดมนต์เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลและขอพรให้แก่ชาวบ้านและชุมชน

การแห่เทียนพรรษาไม่เพียงเป็นการถวายเทียนให้แก่พระภิกษุสงฆ์ แต่ยังเป็นการส่งเสริมความสามัคคีในชุมชน การรักษาวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น และการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาเข้าร่วมงานและชมความงดงามของประเพณีนี้ นอกจาก จ.อุบลราชธานี แล้ว ยังมีการจัดแห่เทียนพรรษาในอีกหลายจังหวัดด้วย เช่น นครราชสีมา สุรินทร์ และร้อยเอ็ด เป็นต้น ซึ่งแต่ละจังหวัดก็จะมีลักษณะและรูปแบบการแห่ที่แตกต่างกันไปตามเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ

ประเพณีแห่เทียนพรรษา อุบลราชธานี 2567

สำหรับการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2567 กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 17 ถึง วันที่ 23 ก.ค.2567 รวม 7 วัน ภายใต้ชื่องาน "เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เมืองเทียน เมืองธรรม งามล้ำเมือง 4 แสง" ที่บริเวณทุ่งศรีเมือง และถนนสายหลักรอบทุ่งศรีเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี

ส่วนการจัดขบวนแห่เทียนและการแสดงจากชุมชน ที่ผ่านมา กำหนดจัดขึ้นเพียงวันเดียว ทำให้นักท่องเที่ยว ที่อยู่ไกลไม่สามารถชมขวนแห่ได้ครบ ดังนั้นในปีนี้จะมีการจัดขบวนแห่เทียนพรรษาและขบวนการแสดงจากชุมชนต่างๆ ขึ้นจำนวน 2 วัน คือ วันที่ 20 และวันที่ 21 กรกฎาคม 2567 พร้อมการแสดงแสง สี เสียง ภาคกลางคืน รวม 2 คืนด้วยเช่นกัน

กำหนดการงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี

1-18 กรกฎาคม : กิจกรรม "เยือนชุมชน ชมวิถีทำเทียน" 12 คุ้มวัด

19 กรกฎาคม : พิธีอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทาน และผ้าอาบน้ำฝนพระราชทานฯ และวันรวมเทียน ณ บริเวณลานเทียนทุ่งศรีเมือง

20-21 กรกฎาคม : พิธีเปิดงานและปล่อยขบวนแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2567 ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง (2 วัน 2 คืน)

24 กรกฎาคม - 24 สิงหาคม : ชมกิจกรรมงานเทียนอุบล ยลได้ตลอดเดือน

17-19 กรกฎาคม : ร่วมชมการประกวดนางงามเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี Miss Ubonratchathani Candle Festival International 2024 ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์

ไฮไลท์พิเศษปี 2567 นี้ ชมขบวนแห่เทียนพรรษา ทั้งภาคกลางวัน และชมการแสดงแสง เสียง ประกอบขบวนแห่เทียนพรรษา  ในภาคกลางคืน  2 วัน 2 คืน ใน วันที่ 20-21 กรกฎาคม 2567

อ่านข่าวเพิ่ม :

รู้ความสำคัญ "วันอาสาฬหบูชา - วันเข้าพรรษา" ที่เรียกว่า "วันพระใหญ่"

วันอาสาฬหบูชา 2566 เตรียม "บทสวดเวียนเทียน" สวดบทไหน - ต้องใช้เครื่องบูชาอะไรบ้าง

วันเข้าพรรษา 2566 ประวัติและความสำคัญ

วันอาสาฬหบูชา 2567 ปฐมเทศนา "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง