“พาราด็อกซ์” มีเพลงฮิตติดหูที่หลายคนคุ้นเคย ตั้งแต่เพลง “นักมายากล” ตามด้วยเพลง “ฤดูร้อน” ที่เป็นเหมือนเครื่องหมายการค้าของวง ไปจนถึงเพลง “ผงาดง้ำค้ำโลก” กับเพลง “หลุมศพปลาวาฬ” ที่ล้วนเป็นการทดลอง แต่วงไม่ได้มีแค่เพลงสนุกสนานเท่านั้น ยังมีเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวในสังคมอย่าง “มิสไซล์” รวมถึงเพลง “ลา ลา ลา” และ “รถไฟขบวนแห่งความฝัน” ที่มีรางวัลการันตี
ตัวตนของพาราด็อกซ์สะท้อนผ่านแนวเพลงหลากหลาย กลั่นกรองจากจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่มีชั้นเชิง ทั้งเพลงแปลกแหกคอก แฟนตาซีหลุดโลก รักหวานปนเศร้า ปลอบประโลมให้กำลังใจ กระทั่งเสียดสีสังคม ผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความหลากหลายของบทเพลงเหล่านี้คือ อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา หรือ “ต้า พาราด็อกซ์” ชายหนุ่มบุคลิกขี้อาย แต่แฝงด้วยจินตนาการอันล้ำลึก
กว่าหนึ่งชั่วโมงทั้งหน้ากล้องและหลังไมค์ที่พูดคุยกับ “ต้า” ในฐานะนักร้องนำและเป็นคนแต่งเพลงเกือบทั้งหมดของวงพาราด็อกซ์ เรารับรู้ได้ถึงตัวตน ความคิดและมุมมองที่สะท้อนสังคม โดยใช้บทเพลงเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร
“อะไรจะมั่นขนาดนั้น” คำถามที่ฟรอนต์แมนคนนี้ถามตัวเอง
เป็นไปได้ไหมว่า..ประโยคที่ผุดขึ้นในใจเขาอาจมีที่มาจากตัวตนที่ไม่เหมือนใคร และเป็นไปได้ไหมว่า..ความมั่นนี้อาจเป็นเพราะมุมมองและจินตนาการที่ไม่มีใครเหมือน
“ต้า” เริ่มตอบคำถามแรกของเราที่อยากรู้ว่า วันนี้..จินตนาการของเขายังเหมือนเดิมหรือไม่
จินตนาการยังคล้ายเดิม แต่มีพัฒนาการมากขึ้น คิดโน่นคิดนี่กว้างกว่าเดิม
ต้า : ความแปลกประหลาดและการทดลองเหมือนเดิม แต่มุมมองเพิ่มขึ้น มุมมองของเพลงให้กำลังใจ เพลงสอน จะเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนเป็นแฟนตาซีจ๋า ยุคนี้จะตื่นเต้นกับมุมที่สอดแทรกในเพลงว่าคนฟังแล้วเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้บ้าง ปลอบใจตัวเองได้ หรือปรับมุมมองใหม่ เปลี่ยนชีวิตและความรู้สึกจากคนเศร้าให้มีกำลังใจ
จินตนาการ-คิดสร้างสรรค์ พรสวรรค์หรือแสวงหา
ต้า : ความคิดสร้างสรรค์ของผมเป็นพรสวรรค์ ไม่ต้องทำอะไรเลย แต่จะเฝ้าสังเกตและเห็นความแตกต่างระหว่างคนมีพรสวรรค์กับคนที่แสวงฝึกฝน จนทำให้เข้าใจบางเรื่อง เช่น เรื่องนี้ทำไมทำแล้วไม่ได้เหมือนเขา ทำไมทุกคนทำได้ง่าย ๆ กับบางเรื่องทำไมมันยากสำหรับทุกคน แต่จริง ๆ มันง่ายจะตาย ตอนแรกไม่เข้าใจ พอเวลาผ่านไปถึงรู้ว่าแบบนี้เองที่เขาเรียกว่าพรสวรรค์ เพราะไม่ต้องทำอะไรเลย เหมือนคนทรงที่มันจะมาเอง เราแค่เป็นคนถ่ายทอด
ทุกวันนี้มีเพลงอยู่เต็มหัว ฟังคนเดียวและมีหน้าที่ถ่ายทอดเพลงพวกนี้ออกมา ไม่รู้จะฝึกยังไง เลยมองว่าจินตนาการต่าง ๆ เป็นพรสวรรค์และเป็นสิ่งที่พัฒนาไปด้วยระยะเวลา ตัวแปรสำคัญคือการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายในวัยเด็ก ได้เจออะไรแปลก ๆ ได้ผจญภัย ทำให้มุมมองมันกว้างและผสมผสานกัน
ต้าโตมาแบบไหน
ต้า : ผมโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างเปิดกว้าง โชคดีที่บ้านเล่นดนตรีอยู่แล้ว คุณพ่อเล่นกีตาร์ น้าเล่นเบส เพื่อนพ่อตีกลอง ครอบครัวไม่ซีเรียสเรื่องดนตรี ไม่ห้าม ไม่ได้บังคับนั่นนี่
มีการเดินทางตลอดเวลาเพราะกลับบ้านที่สัตหีบทุกสัปดาห์ ระหว่างทางนั่งรถทัวร์กลับบ้านจะฟังเพลงจากซาวด์อะเบาท์ที่พกมาด้วย เห็นวิวต่าง ๆ บรรยากาศดี มองวิวไปซึมซับไป เพลงก็หลากหลาย พวกนี้จะหล่อหลอมให้มีความรู้สึกจมอยู่กับจินตนาการ ฟังเพลงไป จินตนาการล่องลอย คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ก็อาจทำให้ได้ฝึกพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
กิจกรรมที่ทำในวัยเด็กมีส่วนอย่างมากและมีช่วงเวลาให้ได้อยู่คนเดียว เป็นช่วงที่พัฒนาความคิด ได้ทำโน่นทำนี่ ได้คิดเฟ้อฝันไปเอง ตรงนี้น่าจะหล่อหลอมทำให้เป็นคนมีไอเดีย
ไอเดียทำให้เพลงของพาราด็อกซ์ต่างจากวงอื่นยังไง
ต้า : เพลงของพาราด็อกซ์มีเอกลักษณ์เรื่องความคิดสร้างสรรค์ ทดลองตลอดเวลา การทดลองบางครั้งสุดโต่งเพราะทำให้เพลงมีชีวิตชีวา
ต่อให้พวกเราจะไม่ได้เป็นวงที่เล่นดนตรีสกิลแน่น เก่ง ร้องทรงพลัง แต่ภาพรวมจะมีความสดใหม่บางอย่าง
ยิ่งนานไปเพลงจะเหมือนกุหลาบที่ค่อย ๆ คลี่ไปทีละใบ เจอโน่นเจอนี่เจอนั่น คนยุคนี้มาขุดค้นพบ เพลงเลยร่วมสมัยตลอดเวลาเพราะมีลูกเล่นให้ทดลอง ยุคนั้นอาจดูสุดโต่ง เพลงหนวกหู แต่ยุคนี้กลายเป็นเพลงนี้บ้าระห่ำดี เพลงนี้มุมมองล้ำดี ดูแปลก เพราะมีการทดลองอยู่ตลอด ข้อดีคือทำให้วัยรุ่นอยู่เรื่อย ๆ
เหมือนเพลงจะบอกอะไรกับสังคม
ต้า : ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามที่เพลงบอกมาตั้งแต่ต้น บางครั้งมีติ่งเพลงเดโมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็มาคิดต่อว่าเพลงนี้น่าจะเล่าเรื่องนี้ เรื่องนั้น เพราะการเล่าเรื่องเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของคนแต่งเพลง บางทีมีเดโมร้อยแปดเป็นทำนองกลับไม่รู้จะเล่าอะไร แต่เรื่องเล่าก็อยู่ที่จังหวะ หรืออยู่ดี ๆ เพลงก็มีมุมอะไรให้เล่นแล้วเนื้อเข้ากันกับเมโลดี้นั้นพอดี
ช่วงหนึ่งจะมีเพลงกึ่ง ๆ เป็นเพลงเพื่อสังคม หรือเพลงแนวปรัชญา มีการเล่าถึงสภาพแวดล้อม วงเคยมีเพลงเกี่ยวกับป่าไม้ ชื่อเพลง “ลา ลา ลา” เล่าถึงเด็กเล่นซ่อนหา มีพ่อเป็นคนตัดไม้ เวลาว่างเด็กจะเล่นซ่อนหาในระหว่างที่พ่อทำงาน แล้วมาบ่นกับพ่อตอนหลังว่าช่วยตัดไม้ให้น้อยลงหน่อย เพราะซ่อนตัวไม่ค่อยได้แล้ว ป่ามันโล่ง ซึ่งเป็นแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมที่พาราด็อกซ์นำมาเล่าในเพลง เพราะต้องการให้คนฟังฉุกคิดได้ว่าเราควรช่วยกันดูแลรักษาป่าไม้
หรือเพลงที่พูดถึงบรรยากาศในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งอย่างเพลง “ท่ามกลาง” จะเล่าความรู้สึกในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เพลง “ส่งรักส่งยิ้ม” เล่าในช่วงที่มีคนออกมาประท้วง หรือยุคนี้มีเพลง “มิสไซล์ (โรงงานผลิตความเกลียดชัง)” ที่พูดถึงภาพรวมการโจมตี สร้างพรรคสร้างพวก เหมือนมีจรวดมิสไซล์ล็อกเป้าแล้วพุ่งโจมตีกัน
สำหรับเพลง “มิสไซล์” จะพูดถึงเรื่องราวในสังคมที่ใกล้ที่สุดในมุมมองของผม สะท้อนให้เห็นสิ่งที่น่าสะเทือนใจในยุคนี้ โลกโซเชียลที่สามารถชี้เป้าให้คนเกลียดกันได้ หรือปลุกกระแสที่ทำให้คนคล้อยตามได้ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ถ้าไปในทางดีหรือทางที่สร้างสรรค์จะเป็นเรื่องดีมาก แต่หลายคนกลับนำมาใช้ทำร้ายทำลายกัน
ในมุมของนักแต่งเพลงจะมีความสุขที่ได้ถ่ายทอดออกมาตามที่ตัวเองต้องการ แต่ในมุมของคนฟังก็อยากให้ย้อนถามตัวเอง หรือเตือนสติตัวเองว่าตอนนี้เรากำลังคล้อยตามอะไรอยู่หรือไม่
การคล้อยตามเป็นสิ่งดี แต่สิ่งที่ไม่ดีคือถ้าเมื่อไหร่เราเริ่มโจมตีคนอื่น หรือมีกลุ่มอะไรก็ตามที่ทำให้เราไปว่าหรือไปเกลียดคนอื่น ก็อยากเตือนสติให้ย้อนถามตัวเองว่ามันถูกต้องหรือไม่
ดังนั้นสิ่งที่หลีกเลี่ยงในเพลงคือการไปว่าหรือโจมตีคนอื่น ไม่ใช้คำหยาบและต่อให้เพลงเสียดสีก็เสียดสีแบบมีชั้นเชิง ไม่ได้เจาะจง มองภาพรวมของคนในยุคสมัยที่จะมีคนแบบนี้เกิดขึ้นได้เสมอ อย่างมากก็เตือนสติหรือฉุกคิดอะไรบางอย่าง ขณะเดียวกันแก่นของดนตรีคือผ่อนคลาย ต่อให้แนวเพลงหนักหน่วงแค่ไหน สุดท้ายมันคือการได้ผ่อนคลาย ผมเลยไม่รู้สึกว่ามันเข้ากันกับการเอาดนตรีไปทำลายล้างหรือไปว่าใคร
คาดหวังไหมให้เพลงเปลี่ยนทัศนคติคน
ต้า : เราไม่สันทัดเรื่องสังคมหรือการเมืองเพราะไม่ใช่ผู้รู้จริง เลยไม่ค่อยมีเพลงแบบนี้มากเท่าไหร่ ถ้ามีก็มีกว้าง ๆ เป็นภาพรวม ไม่ได้เจาะจง เพราะกลัวว่าถ้าบรรยากาศเปลี่ยนไปมันจะเก่า ล้าสมัย หรือการเจาะจงชื่อคนในยุคสมัยนั้นก็มีโอกาสสูงที่ในอนาคตอาจกลายเป็นใครก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนี้จะพูดถึงค่อนข้างกว้างเพื่อให้เล่าได้ตลอดเวลา อีก 10 ปีก็ยังสามารถร้องได้
สำหรับเพลงพวกนี้ผมไม่ค่อยคาดหวังว่าจะเปลี่ยนทัศนคติของคนได้ เพราะเชื่อว่าเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ สมมติว่าเป็นเพลงแตกแยก เพลงคนทะเลาะกัน มุมมองความคิดต่างกัน ผมว่ายังไงคนก็อินเพราะจะมีเหตุการณ์แบบนี้อยู่เรื่อย ๆ ก็น่าเศร้าว่าเพลงพวกนี้จะอินไปตลอดกาล แต่หากไปในทางช่วยคน เพลงให้กำลังใจจะมีโอกาสมากกว่า
ศิลปินจะช่วยขับเคลื่อนหรือมีส่วนช่วยคนในสังคมได้ยังไงบ้าง
ต้า : หากเป็นเรื่องสังคมกับเพลง ผมมองว่าศิลปินทำเพลงไปอยู่ในเชลฟ์ได้เลยและทำในสิ่งที่ควรจะเป็นให้ดีที่สุด ส่วนคนฟังก็สามารถเลือกเพลงต่าง ๆ เอาไปประกอบกับสภาพแวดล้อมหรือความน่าจะเป็นของตัวเอง ซึ่งผมเชื่อเรื่องจังหวะการได้ยินของคน การตอบโจทย์หรือการถ่ายทอดอะไรบางอย่างที่มันคลิกกัน แล้วหวังว่าในอนาคตจะมีสักเพลงที่คนเปิดฟังแล้วจะช่วยเปลี่ยนมุมมองตัวเองได้
ก่อนหน้านี้ผมเคยแต่งเพลง “รถไฟขบวนแห่งความฝัน” เป็นเพลงกึ่งให้กำลังใจ ภาพในเพลงจะพูดถึงชายหนุ่มสะพายเป้ยืนรอรถไฟขบวนหนึ่งผ่านมา เมื่อกระโดดขึ้นไปบนรถไฟแล้วคนอื่น ๆ ที่อยู่บนรถก็ชักชวนไปลุยด้วยกันข้างหน้า แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าข้างหน้าจะเป็นยังไง จะประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการหรือไม่ก็ไม่รู้
ประโยคขึ้นต้นเพลงร้องว่า “เพื่อนเอย ฝันของเธออยู่แห่งใด เพื่อนเอย เธอจะไปที่แห่งใด..” มันดูล่องลอย แต่มันก็เหมือนเพื่อนที่ถามกัน เหมาะสำหรับคนที่กำลังจบการศึกษาหรืออยู่ในช่วงรอยต่อที่ไม่รู้ว่าจะเลือกไปทางไหน อาจเกิดความรู้สึกหวั่นใจ ซึ่งจริง ๆ การได้ออกมาลุยหรือกล้าออกมาทำอะไรที่แม้จะเป็นแค่การลอง แต่อย่างน้อยเราก็ได้กระโดดขึ้นไปบนรถไฟแห่งความฝันแล้ว
อาจมีคนลงผิดป้าย คนไม่เจอป้าย คนที่ยังอยู่บนรถไฟ เราไม่รู้เลยว่าจะเป็นยังไง แต่มันเป็นแรงบันดาลใจว่าอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิตก็ขึ้นรถไฟขบวนนี้ไปด้วยกัน ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
สำหรับคนที่กำลังหมดไฟหรือถึงทางแยกของชีวิต โดยเฉพาะวัยรุ่น ผมอยากให้เพลงนี้เป็นแรงบันดาลใจ กระตุ้นความรู้สึก หรืออาจจะทำให้ปิ้งไอเดียอะไรบางอย่างในชีวิตไม่ว่าจะเลือกไปทางไหน
มีอะไรเป็นจุดเชื่อมโยงกับคนฟัง
ต้า : จุดเชื่อมโยงที่ทำให้คนฟังชอบวงพาราด็อกซ์ที่ใกล้เคียงที่สุด เคยคิดเล่น ๆ ว่าคนที่จะชอบแล้วคลิกกับวงน่าจะมีสภาพแวดล้อม สังคม ชีวิต หรือสภาวะจิตใจที่ค่อนข้างมั่นคงประมาณหนึ่ง อาจไม่ได้เดือดร้อนถึงกับปากกัดตีนถีบ เพราะหากชีวิตยังเครียดอยู่ เพลงของพาราด็อกซ์จะดูไร้สาระ หนวกหู มาบ่นอะไร แต่ถ้าไม่เดือดร้อน ชีวิตค่อนข้างลงตัวและอยู่นิ่ง เขาอาจเริ่มฟังอะไรที่มันแปลก ๆ และจะสนุกกับโลกแบบนี้
ในอนาคตอยากขยับเข้าไปใกล้อีกนิดด้วยการมีเพลงให้กำลังใจมากขึ้น อาจไม่ได้สื่อสารตรง ๆ ว่าจะต้องจับมือฉันไว้ หรือเธออย่าเพิ่งสูญเสีย แต่เป็นเพลงที่มีเนื้อหาไปในทางให้กำลังใจ ผมยังเชื่อว่าเพลงให้กำลังใจช่วยคนได้จริง ๆ ทั้งคนเศร้าหรือคนกำลังจิตตก
ผ่านหลายยุคหลายเหตุการณ์มีผลกับชีวิตไหม
ต้า : เวลาผ่านวิกฤตการณ์ต่าง ๆ จะรู้สึกว่าคนส่วนใหญ่มองไปแค่ช่วงเวลานั้น แต่จริง ๆ แล้วถ้าสงบสติอารมณ์ได้จะพบว่าทุกอย่างมันเป็นภาพรวม ยิ่งยุคนี้เห็นได้ชัด สื่อโซเชียลหรืออะไรต่าง ๆ จะโหมชั่วครู่ชั่วคราว ถ้าตื่นเต้นตกใจจะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปในช่วงนั้น เขาถึงได้แซวกันว่า..คนที่ไม่เล่นโซเชียลกลายเป็นคนที่มีความสุขมาก
ผมรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ สุดท้ายมันไม่มีผลอะไรมากเพราะยึดภาพรวม รวมถึงการทำงานของวงหรือการทำเพลงด้วย ถ้าตอนนี้โลกร้อน แต่เราแต่งเพลงรัก เราก็ทำเพลงรักให้ดีที่สุด ไม่ต้องขยับเพลงรักเข้าไปเกี่ยวกับโลกร้อน ทุกอย่างให้มันเป็นไปตามทางที่มันควรจะเป็นมากกว่า
แต่ยุคนี้อาจมีผลกับการฟังเพลงหรือวิธีการฟังเพลงมีผลกับวง เพราะยุคนี้ไม่ค่อยมีอัลบัม มีแต่ซิงเกิล บางทีเราไม่ถนัด ถ้าเปรียบเป็นนักมวยก็เป็นนักมวย 12 ยกรวมคะแนน หมัดไม่ได้หนักโป้งเดียว
ซิงเกิลไม่ได้โป้งเดียวแล้วดัง ถ้าคอยยิงซิงเกิล ๆ ๆ หมัดไม่ได้หนักมาก เราก็ต้องหาวิธีว่าจะทำยังไง เลือกเพลงไหนดี มีผลกระทบพอสมควร แต่เรื่องการทำเพลงไม่มีผล
มองความเปลี่ยนแปลงของวงการเพลงยุคดิจิทัลเป็นยังไง
ต้า : ก่อนหน้านี้ผมมองวงการเพลงเป็นยุคมืดถึงจุดต่ำสุด แต่ยุคนี้ยิ่งกว่ามืด ใต้บาดาลของความมืด ดิ่งลงไปอีก ก็แล้วแต่ว่าใครจะมอง
เรื่องน่าเศร้าคือเพลงไม่ได้หาเงินมาให้ตัวมันเอง สิ่งที่หาเงินมาให้นักดนตรีคือการแสดงคอนเสิร์ต การทำโน่นนี่ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเพลง เพลงแค่โบรชัวร์ เอาง่าย ๆ เพลงคือของฟรี มันย้อนแย้งสำหรับวงดนตรีและคนทำเพลง
เพลงควรเป็นสิ่งที่ดึงรายได้เข้ามา แต่ทุกวันนี้เพลงคือของฟรี สิ่งที่ได้เป็นทางอ้อมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำคอนเทนต์ นักดนตรีไม่ต้องทำเพลงก็ได้ ไปถ่ายอะไรหวือหวา ปีนป่ายโชว์ พาเที่ยวหรือชวนกินข้าวแปลก ๆ ก็อาจมีคนจ้างไปเล่นและเขาก็ร่ำรวยได้ แต่มันข้ามคำว่าเพลงไปหมด ถือเป็นยุคที่น่าเศร้าสำหรับผม
แต่ข้อดีก็มีเยอะเพราะเป็นยุคที่มีพลัง เปลี่ยนแปลงแน่นอนโดยเฉพาะการเลือก คนชอบแบบไหนก็เลือกแบบนั้น แต่โอกาสที่วงดนตรีจะมีซิงเกิลดังนั้นน้อยมาก
สมมติผมเดินไปตลาด อาจมีคนหนึ่งกรี๊ดกร๊าดตื่นเต้นว่าเป็นคนจากวงดนตรีนี้ แต่อีกคนที่มาด้วยกันอาจหันไปถามเพื่อนว่า..ใครวะ แล้วพอพวกเขาเดินผ่านไปเจอนักดนตรีอีกคน คนที่พูดใครวะก่อนหน้านี้ก็อาจกรี๊ดกร๊าด ส่วนเพื่อนอาจจะถามกลับว่า..ใครวะ ก็ได้ เหมือนอยู่ในโลกที่สลับกัน หากมองในแง่ร้ายก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เพลงดัง แต่ข้อดีถ้ามันตรงกลุ่มเมื่อไหร่ก็แจ้งเกิดได้เลย สามารถทำเงินได้ถ้าคุณไม่ฟุ่มเฟือย และต้องกอบโกยเพราะไม่รู้ว่ากระแสจะจางหายไปเมื่อไหร่
ต้าไม่ชอบอะไรในยุคนี้
ต้า : ทุกอย่างมันไปตามที่คนสนใจ เพลงไม่สามารถผ่านหูทุกคนได้ ผมติดเสน่ห์การไปกินข้าวในร้านที่เปิดทีวีแล้วได้ยินกันทุกคน เพลงฮิตก็จะฮิตกันทั้งประเทศ แต่ยุคนี้โอกาสที่เพลงจะผ่านหูให้ได้ลองฟังนั้นยากมาก แม้มีวงเก่ง ๆ เข้าถึงช่องทางการสื่อสารได้ง่าย แต่มุมของการกระจายที่จะทำให้คนโฟกัสเป็นหนึ่งเดียวกันมีน้อย มันมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่เปลี่ยนไปตามยุค
ยอมรับว่าเมื่อก่อนหงุดหงิดใจกับโลกที่เปลี่ยนไป แต่ตอนนี้ต้องปรับตัวและมองให้เป็นเรื่องสนุกแทน อย่างการทำ “รายการเวียนไมค์” ก็มองเป็นเรื่องดีที่ได้ถ่ายทอดให้วงอื่น ๆ แม้ผมจะไม่ชอบถ่ายรูปตัวเองลงโซเชียล แต่มันบีบให้เราต้องออกหน้า ก็มองเป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวและปรับทัศนคติให้เป็นเรื่องสนุกในยุคนี้
แม้กระทั่งการดูคอนเสิร์ตที่คนยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่าย ผมมองเป็นเรื่องดีเหมือนเขาช่วยโปรโมตให้เรา ไม่ได้แอนตี้ เพราะหากคนอื่น ๆ มาเห็นรูปหรือคลิปเหล่านั้นก็จะรับรู้ได้ว่าวงนี้ยังเล่นคอนเสิร์ตอยู่และอาจตามมาดูก็ได้
28 ปียังมีอะไรที่ไม่ได้ทำ
ต้า : เพลงที่ไม่ได้ทดลองยังมีอีกเยอะ อย่างเพลงใหม่ที่ชื่อว่า “เอ็นดู” ก็ทดลอง อยากลองดูว่าทำเพลงไปเล่นในผับหรือร้านต่าง ๆ จะเป็นเพลงแนวไหนได้บ้าง เพลงนี้เป็นเพลงแนวอ้อน นึกจินตนาการไปว่าโต๊ะนี้ส่งสายตาให้โต๊ะนั้น เป็นการทดลองที่ไม่ได้สุดโต่งแต่ลองเปลี่ยนแนวคิด
แฟนคลับยุคเก่าอาจตกใจว่าทำไมทำเพลงใส แต่ในมุมผมรู้สึกเหมือนเป็นนักแสดงที่เปลี่ยนบทบาทไปเรื่อย ๆ ท้าทายดี ถ้ามีคนพูดว่านี่ไม่ใช่แนว ออกไปทางใส ๆ ขายสาวขายหนุ่ม ผมจะรู้สึกคึกในใจว่าบทบาทที่เราทดลองมันเปลี่ยน ยิ่งคนพูดว่าดูไม่เหมือนเพลงวงพาราด็อกซ์เลย จะยิ่งรู้สึกประสบความสำเร็จ
จับปฏิกิริยาคนฟัง-แฟนเพลงวัยรุ่นเพิ่มขึ้น
ต้า : ปฏิกิริยาคนฟังก็มีส่วนทำให้มีไอเดียแต่งเพลง แต่เมื่อถึงเวลาปฏิกิริยามักไม่ค่อยเป็นไปตามที่ต้องการ บางทีอยากให้คนตื่นเต้น แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจมุมที่เราอยากจะสื่อ อาจต้องใช้เวลาประมาณหนึ่ง อย่างที่บอกมันเหมือนดอกไม้ที่ค่อย ๆ คลี่ไปเจอมุมนี้มุมนั้น แล้วที่ตลกคือแต่ละยุคจะเจอมุมแตกต่างกัน อย่างเด็กยุคใหม่ก็จะเจออีกมุมหนึ่ง
จริตของวงกลับกลายเป็นเข้าได้กับวัยรุ่นยุคนี้ เวลาเขาพูดถึงเรื่องความประทับใจจะรู้สึกว่า เอ้ยใช่ ! เหมือนที่เราอยากจะสื่อเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ยุคนี้กลายเป็นเข้าใจมากกว่า
แต่พื้นฐานภาพรวม ถ้าทำเพลงออกมาให้ดีที่สุดได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว สิ่งน่ากลัวที่สุดคืออย่าทำเพลงต่ำกว่ามาตรฐาน ห้ามทำเพลงชุ่ย อย่างน้อยเอาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
ถ้ามีคนบอกว่าอายุมากแล้ว แต่ยังทำอะไรห่าม ๆ
ต้า : ผมยังสนุกกับการทำอะไรห่าม ๆ ในมุมมองแปลก ๆ ถ้าเป็นเรื่องเพลงมีความมั่นมาก ไม่สะเทือนเลยแม้แต่นิดเดียว เคยมานั่งคิด ‘อะไรเนี่ย อะไรจะมั่นขนาดนั้น’
พาราด็อกซ์อยู่ในจุดสูงสุดแล้วหรือยัง
ต้า : สำหรับผมอยู่ในจุดสูงสุดแล้ว จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการรวมตัวเพื่อน ๆ มาทำอัลบัมขายเล่น ๆ ทุกปิดเทอม แต่กลายเป็นว่ามีทั้งเพลงฮิต มีแผ่นเสียงครบทุกอัลบัม มีคอนเสิร์ตใหญ่และได้เล่นเวทีเดียวกับวงในตำนานสมัยเด็กครบทุกวง มันเกินความฝันไปมาก
ถามว่าตอนนี้เรียกตัวเองว่าประสบความสำเร็จได้หรือเปล่า ก็เรียกได้แล้ว แต่ยังพัฒนาไปได้อีก ไม่ได้หมดไฟ เพราะมีเรื่องท้าทายอีกหลายขั้นและวงก็ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุง มันจึงมีความสนุกกับการพัฒนาต่อ ความสนุกทำให้เราอยากพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อย ๆ สมมติเต็ม 10 เลเวลเราอาจอยู่ประมาณ 6 แต่ยังมีพื้นที่ให้ได้พัฒนาไปถึง 10 ก็มองเป็นความท้าทายใหม่
ความท้าทายต่อไปคือทำยังไงให้อยู่ยาวนานไปได้เรื่อย ๆ แบบวงคาราบาว หรือพี่ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ แต่อยู่ในสายของวงอินดี้ วงอัลเทอร์เนทีฟ
คำแนะนำจาก “ต้า” คนไม่หมดไฟ
ต้า : ผมชอบพัฒนาตัวเอง เวลาเรามีตัวเลือกอะไรใหม่ ๆ มันจะพาให้ชีวิตมีสีสันแล้วทำให้มีไฟอื่นเพิ่มมา บางทีมีวงน้อง ๆ เอาเพลงมาให้ดู พอดูแล้วจะเห็นไฟในตัวเขา ไฟนั้นก็สะท้อนมาโดนตัวเราทำให้รู้สึกคึกตามไปด้วย
เราอย่าคิดว่าทุกอย่างจบสิ้นแล้ว จริง ๆ มันมีช่องว่าง มีอะไรให้เล่นอีกเยอะ มองเป็นเรื่องสนุกมันก็จะสนุกครับ
(ภาพบางส่วนจาก PARADOX)
อ่านข่าว
ตัวตนเบื้องหลัง “มนุษย์หน้ากาก” บนเวทีพาราด็อกซ์
ละครไทยไม่สูญพันธุ์ “สถาพร” แนะคิดต่าง-สร้างงานพรีเมียม
“ดาราวิดีโอ” ยุค 2024 “สยาม สังวริบุตร” ปรับตัวเป็น “คอนเทนโพรวายเดอร์”