จับกระแสการเมือง: วันที่ 17 ก.ค.2567 "ภูมิใจไทย" ไม่หงอ โชว์จุดยืนกัญชา ปชป.ไม่ตกเทรนด์ ทวงไร่ละพันแทนปุ๋ยคนละครึ่ง

การเมือง
18 ก.ค. 67
17:44
827
Logo Thai PBS
จับกระแสการเมือง: วันที่ 17 ก.ค.2567 "ภูมิใจไทย" ไม่หงอ โชว์จุดยืนกัญชา ปชป.ไม่ตกเทรนด์ ทวงไร่ละพันแทนปุ๋ยคนละครึ่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

อีก 2 เดือนงวด ก.ย.-ธ.ค. ทุกครัวเรือนต้องเตรียมตัว หาเงินจ่ายค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้น ค่า Ft จาก 4.18 บาท/หน่วย เป็น 5.65-6.01 บาท/หน่วย ปรับขึ้นถึง 11-14 % หลังแนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนตัวลง และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแม่เมาะต้นทุนถูกมีความพร้อมในการผลิตลดลง ในยามเศรษฐกิจฝืดเคือง เงินในกระเป๋าเท่าเดิม แต่ซื้อของได้น้อยลงทุกอย่าง

งัดข้อ ไม่ยอมหงอ ไม่แตกหัก "มท.หนู" อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ย้ำจุดยืนชัด พรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วย นำกัญชา กลับเป็นยาเสพติด ได้แจ้งให้ "นายกฯนิด" เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ รับรู้ความไม่สบายใจ ในฐานะ รมว.มหาดไทยที่ต้องเข้าไปลงมติในบอร์ด ป.ป.ส.คงต้องสงวนท่าที และโหวตไม่เห็นด้วย

"ผมไม่ให้ความเห็นชอบให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เพราะกรรมการที่เคยเอากัญชาออกจากยาเสพติด เป็นชุดเดียวกับกรรมการที่ตั้งเรื่องเพื่อที่จะดึงกัญชากลับไปยาเสพติด... แต่ถ้าข้อมูลใหม่เข้ามา สังคมถูกทำลาย โดยกัญชาเต็มบ้านเต็มเมือง หรือกัญชาไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลย ไม่มีสรรพ คุณทางยา รักษาใครไม่ได้ ถ้าข้อมูลเป็นแบบนี้ ก็ต้องยอมให้นำกลับไปเป็นยาเสพติด" มท.หนู ระบุ

ยังเจียมตัว เมื่อถูกถามความสัมพันธ์ระหว่างตระกูล "อยู่บำรุง" และ "ชาญวีรกูล" หลังมีข่าว "วัน อยู่บำรุง" อาจจะเซมาซบ ภูมิใจไทย "มท. หนู" อนุทิน แจงว่า ได้ข่าววันก่อนว่า ไปอยู่กับอีกพรรคแล้ว ...ไม่ว่าจะเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หรือ วัน เปรียบเหมือนญาติ เจอกันเมื่อไร ก็อ้าแขนกอด เป็นสุดที่รักกันทั้งนั้น เพราะ ร.ต.อ.เฉลิม เคยเป็นเลขานุการของ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล บิดาของตน

"ภูมิใจไทยใน กทม. เราไม่แข็งแรง ขออยู่ตามบ้านนอก และพยายามที่จะแจ้งเกิดในกรุงเทพฯ ให้ได้ แต่คนกรุงเทพฯ ก็ยังไม่ได้ให้โอกาสสู้กันมา 2-3 ครั้งแล้ว ก็ต้องรู้ตัวเอง หากจะส่งใครลงต้องมั่นใจว่าได้ ไม่ใช่จะส่งใครลงก็ได้ กรุงเทพฯกระแส เราไม่ค่อยมี ตามโพลต่าง ๆ ก็เห็นอยู่ อนุทิน ก็โหล่บ๊วยตลอด ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว"

ขณะที่ "วัน อยู่บำรุง" เพลย์เซฟ ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนติดต่อเข้ามา แต่ไม่หยุดเล่นการเมือง มีครอบครัวใจถึงพึ่งได้ กลับมาทำงานให้ความช่วยเหลือประชาชนเหมือนเดิมแล้ว และตอนนี้ตัวเองเปรียบเสมือนนักการเมืองฟรีเอเย่นต์ ยังไม่รีบร้อน เพราะการเมืองกว่า จะมีการเลือกตั้งอีกนาน ก็คอยดูไปก่อน

วางมือ พปชร. "จั้ม" สกลธี ภัททิยกุล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และตำแหน่งต่าง ๆ ในพรรคตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อที่จะได้ออกมาทบทวนและศึกษาเพิ่มเติมถึงแนวทางใหม่ ๆ ในการทำงานการเมือง และหวังว่าจะได้มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่รักต่อไป

หลังจากเลือกตั้งปี 2566 ต่อเนื่องจนมีรัฐบาลใหม่บริหารประเทศ บริบทของการเมืองทั้งประเทศ ได้เปลี่ยนไปเยอะมาก ๆ คงถึงเวลาที่เหมาะสม ที่ต้องทบทวนและทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงบริบททางการเมืองนี้ รวมถึงแนวทางไปสู่การเมืองไทยแบบที่อยากเห็นในอนาคต "จั้ม" สกลธี ระบุตอนหนึ่ง

ยังมีความหวัง แม้ศาลแพ่งจะมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ให้เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประ เทศ (คปท.) และ กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยุติการชุมนุม บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ภายใน 7 วัน ล่าสุดเจ้าหน้าที่บังคับคดี และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เดินทางมายังพื้นที่ชุมนุมเพื่อติดคำสั่งศาล

แต่ "ตั้ม" พิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. บอกว่า วันนี้(18 ก.ค.) ทีมกฎหมายจะไปคัดคำร้องฉบับเต็ม เพื่อขออุทธรณ์คำสั่งศาล เพราะมองว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง

"เรื่องเสียงรบกวนการเรียนการสอน เราไม่เคยเปิดเวทีกลางวันจะเปิดเวทีเฉพาะช่วงเย็น และจะขอให้ศาลมีคำสั่ง คุ้มครองการชุมนุมชั่วคราว รวมถึงขอให้ศาลแพ่ง ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ คำว่า ชุมนุมนานเกินสมควร ซึ่งไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้มีการชุมนุมของกลุ่มอื่นที่ยืดเยื้อกว่ากลุ่มของตน โดยการยื่นอุทธรณ์คำสั่งโดยเร็วที่สุดอาจเป็นวันที่ 19 ก.ค."

หากศาลไม่รับอุทธรณ์ ก็อาจย้ายสถานที่ชุมนุม และจะชุมนุมต่อ เพื่อให้มีการตรวจสอบกรณีศาลสั่งจำคุก "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว

ไม่ตกเทรนด์ ปุ๋ยคนละครึ่ง "ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง" สส.จังหวัดสงขลา รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ หวั่นโครงการปุ๋ยคนละครึ่งจะซ้ำรอยโครงการจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยเหตุดำเนินการผ่านคนกลาง ที่เป็นผู้ผลิตปุ๋ย ผู้ค้าปุ๋ย จึงเป็นไปได้สูงที่จะเกิดโอกาสทุจริต บกพร่อง ผิดพลาดในการใช้งบประมาณ

"เกษตรกรส่วนใหญ่ เห็นว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกร ของรัฐบาลชุดที่แล้ว และโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ไร่ละ 1,000 บาท นั้น เป็นการโอนเงินสดเข้าบัญชีโดยตรง ทำให้ไม่มีการทุจริตในโครงการ หากได้รับเงินผ่านบัญชี ทำให้เลือกปุ๋ยตามสูตรที่ต้องการได้"

สส.สงขลา  แจงว่า เกษตรกร มีองค์ความรู้ว่า พืชที่ตัวเองปลูก ใช้ปุ๋ยสูตรไหน มีแอปพลิเคชันที่สามารถคำนวนพื้นที่ปลูก บอกชนิดและอัตราส่วนของปุ๋ยที่จำเป็นต้องใช้ อยากให้รัฐบาลทบทวนศึกษาโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง อย่างรอบด้าน เพราะเกษตรกรชอบโครงการไร่ละ 1,000 บาท มากกว่า

อ่านข่าว : "สุริยะ" เร่งเปิดรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก "ศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี" ต้นปี 71 

KKP เผยผลวิจัย "วัยแรงงานลด -สูงวัยทะลัก" ฉุด GDP ไทยโตต่ำ

ลูกหนี้เฮ ! กยศ.ปรับคำนวณยอดหนี้ใหม่ ให้ผู้กู้ยืมกว่า 2.98 ล้านคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง